xs
xsm
sm
md
lg

กสทช. องค์กรภายใต้การสั่งการของทุนสื่อสาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หนังสือ “ด่วนที่สุด” ของ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ กรมบัญชีกลาง ถึงพลอากาศเอก ธเรศ ปุณศรี ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่มีใจความสำคัญว่า การประมูลใบอนุญาต (ไลเซนส์) 3 จี เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม อาจไม่เหมาะสม หรืออาจมีลักษณะสมยอมตามราคา ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 (พ.ร.บ.ฮั้วประมูล) แม้จะไม่มีผลต่อการประมูล เพราะ กสทช. เป็นองค์กรอิสระ การประมูล 3 จี ไม่ได้อยู่ภายใต้ระเบียบการประมูลแบบอี ออคชั่ นหรือระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี

แต่หนังสือของ น.ส. สุภา มีผลอย่างยิ่งในทางสังคม และในทางกฎหมาย เพราะในฐานะ ประธานคณะกรรมการ อี อ๊อคชั่น ความเห็นของ น.ส.สุภา ที่เห็นว่า การประมูลใบอนุญาต 3 จี เข้าข่ายการฮั้วราคา คือ ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ ที่มีน้ำหนักอย่างยิ่ง ทำให้ผู้ที่ยังสงสัยอยู่ว่า กสทช. จัดฉากให้เอไอเอส ดีแทค และทรู แบ่งใบอนุญาต 3 จีไปในราคาถูกๆ หรือไม่ แน่ใจได้แล้วว่า มันคือการฮั้วจริงๆ และหาก ปปช. หรือ คณะกรรมาธิการตรวจสอบเรื่องการทุจริตของวุฒิสภา จะเอาจริงเอาจัง สอบสวนหาคนโกงในเรื่องนี้ น.ส.สุภา จะเป็นพยานปากสำคัญที่ต้องรับฟัง

หนังสือด่วนที่สุดของ น.ส.สุภา จึงทำให้ กสทช. โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ เพราะเหมือนถูกเหยียบหาง ต้อง สั่งการให้นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ทำหนังสือสวนกลับไปทันทีถึง นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง ให้พิจารณาการกระทำของ น.ส.สุภา แต่ถูกปลัดกระทรวงตอกกลับมาแบบเป็นมวย ผ่านสื่อว่า เป็นการแสดงความเห็นส่วนตัว ของ น.ส. สุภา ซึ่งมีสิทธิทำได้

ความเห็นของ น.ส. สุภา ถูกตีความว่า เป็นสัญญาณจากฝ่ายการเมือง ที่อาจจะให้ล้มประมูล แต่ความจริงแล้ว น่าจะเป็นการทำหน้าทีของข้าราชการ และพลเมืองดีคนหนึ่ง ที่ทนไม่ได้กับการปล้นทรัพย์สินของชาติในราคาถูกๆ แบบดูถูกประชาชนว่า จะจับไม่ได้ไล่ไม่ทัน เช่นนี้

แม้แต่ นายณกฤช เศวตนันนท์ ที่ปรึกษาด้านกฎหมายของ ประธาน คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม ( กทค) พันเอก เศรษฐพงศ์ มะลิสุวรรณ เอง ยังทนไม่ได้ ต้องทำหนังสือถึงพันเอกเศรษฐพงศ์ ให้ล้มการประมูลเสียเพราะ เข้าข่ายการฮั้วราคาชัดเจน ซึ่งจะทำให้ กรรมการ กสทช. ที่รับรองผลการประมูล มีความผิดในทางอาญาตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐฯ เป็นเรื่องที่ควรระมัดระวังให้มาก เนื่องจากในขณะนี้มีผู้ยื่นเรื่องร้องทุกข์ต่อ ป.ป.ช.จำนวนประมาณ 2 รายแล้ว

กรรมการ กสทช. หลายคน ที่อยู่ในซีก คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง ฯลฯ ( กสช.) โล่งใจ ที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม( กทค) ไม่เสนอเรื่องนี้ให้ คณะกรรมการ กสทช. พิจารณา ( โครงสร้าง กสทช. มีโครงสร้างย่อย ประกอบด้วย กสช. มีพันเอก นที ศกุลรัตน์ เป็นประธาน และ กทค. มีพันเอกเศรษฐพงศ์ เป็นประธาน) เพราะหลายคนเห็นว่า การประมูลในวันที่ 16 ตุลาคม เป็นเรื่องผิดกฎหมาย ที่ผู้รับรองมีสิทธิติดคุก หาก มีการนำเรื่องนี้ ให้ กสทช. รับรองผลการประทูล กรรมการซีก กสช. หลายคน จำเป็นต้องลงมติไม่รับรอง

ในซีกของ กทค. ซึ่งมีกรรมการ 5 คน มีนายแพทย์ ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา เพียงคนเดียวที่ลงมติไม่รับรอง ซึ่งนายแพทย์ประวิทย์ กสทช.ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ได้แสดงความไม่เห็นด้วยกับ รูปแบบการประมูล และการตั้งราคาเริ่มต้นมาตั้งแต่แรกแล้ว ส่วนคนอื่นๆอีก 4 คน คือ พันเอกเศรษฐพงศ์ นายสุทธิพล ทวีชัยการ รศ. ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ และ ผศ. ธวัชชัย จิตรภาษนันท์ ลงมติรับรอง แม้ว่า บางคนอาจจะตะขิดตะขวงใจ แต่การตัดสินใจในที่ประชุม กทค. ที่ผ่านมานั้น หากเศรษฐพงศ์ หรือ สุทธิพล ว่า อย่างไร คนอื่นๆ ยกเว้นนายแพทย์ ประวิทย์ก็จะว่าตามนั้น

ทำไมในขณะที่คนอื่นๆ ทั่วบ้านทั่วเมือง ต่างเห็นว่า การประมูล 3 จี ครั้งนี้ คือ การฮั้วราคากัน ทำให้เอไอเอส ดีแทค และทรู ได้คลื่นความถี่อันเป็นสมบัติของชาติไปใช้ในราคาถูกๆ แค่ 41,625 ล้านบาท เป็นเวลา 15 ปี เฉลี่ยแล้วตกปีละ 2700 ล้านบาท หรือ รายละ 900 ล้านบาทต่อปี เท่านั้นเอง นับเป็นใบอนุญาต 3 จีที่ถูกที่สุดในโลกก็ว่าได้ แต่ ด๊อกเตอร์ด้านวิศกรรมโทรคมนาคม ที่มีผลการศึกษาดีเยี่ยมจาก มหาวิทยาลัยฟลอริดา สหรัฐอเมริกา และบัณฑิตเกียรตินิยม เหรียญทอง สาขาวิศวกรรมไฟฟ้าสื่อสาร จากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า อย่างพันเอก เศรษฐพงศ์ กับ นิติศาสตร์บัณฑิต เกียรตินิยมจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งได้รับทุนมูลนิธิอานันทมหิดล ไปศึกษาระดับปริญญาโทที่ฮาร์วาร์ด และจบดอกเตอร์ด้านกฎหมายจาก มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย จึงเห็นต่างไปว่า การประมูล 3 จีครั้งนี้ โปร่งใส เป็นธรรมกับประเทศชาติแล้ว ใครที่คิดต่างจะถูกปรามาสว่า ไมได้จบกฎหมายมาไม่รุ้เรื่อง ไม่มีสิทธิตั้งคำถาม

จะเข้าใจเรื่องนี้ได้ ต้องเข้าใจและยอมรับในข้อเท็จจริงว่า กสทช. เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ แต่เพียงชื่อเท่านั้น แต่โดยเนื้อแท้แล้ว กสทช. คือ กลไกของกลุ่มทุนสื่อสารโทรคมนาคม ที่ทำหน้าที่คุ้มครองดูแลผลประโยชน์ของกลุ่มทุนเป็นหลัก ก็เหมือนกับ องค์กรอิสระอื่นๆ เช่น กกต. ศาลรัฐธรรมนูญ ฯลฯ หรือแม้แต่อัยการสูงสุด ที่เป็นอิสระแต่ชื อเท่านั้น แต่ถูกฝ่ายการเมืองพยายามแทรกฉวง ครอบงำ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ

คณะกรรมการ กทค. 5 คนยกเว้น นายแพทย์ประวิทย์แล้ว อีก 4 คนเป็นคนของกลุ่มทุนหมด คนหนึ่งเป็นตัวแทน เอไอเอส อีก 3 คน เป็นตัวแทนของทรู ดีแทคไม่มีคนใน กทค. เพราะเล่นแบบยุโรป ไม่ทำตามกติกาแบบไทยๆ

เมื่อสองปีก่อน ซึ่งยังไม่มี กสทช. มีแต่ กทช. หรือ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กทช. พยายามจะจัดสรรคลื่นความถี่ 3 จี โดยมี พันเอกนที ศกุลรัตน์ เป็นโต้โผใหญ่ คิดสูตรประมูล N-1 คือ จำนวนใบอนุญาต( N) น้อยกว่าจำนวนผู้เข้าประมูล 1 ใบ มีผู้มีสิทธิเข้าประมูล 3 รายคือ เอไอเอส ทรู และดีแทค มีใบอนุญาต 3 ใบๆละ 15 MHz เท่ากัน การประมูลครั้งแรกซึ่งกำหนดไว้ในวันที่ 20 กันยายน 2553 จะนำใบอนุญาตออกประมูล 2 ใบ เท่านั้น เพื่อให้มีการแข่งขันกันเสนอราคา รายที่พลาดจากการประมูลรอบนี้ ต้องรอการประมูลครั้งที่ 2 อีก 6 เดือนข้างหน้า รายใดที่ไม่ต้องการเสียโอกาสทางธุรกิจ อยากเข้าตลาด 3 จี เป็นรายแรก ก็ต้องสู้ราคากัน

ในครั้งนั้น ผู้บริหาร เอไอเอส ประกาศว่า พร้อมจะทุ่มเงินถึง แปดหมื่นล้านบาท เพื่อชิงใบอนุญาตมาให้ได้ในการประมูลรอบแรก แต่แล้ว การประมูลก็ล้มไป เพราะ บริษัท กสท โทรคมนาคม และทีโอที ไปฟ้องศาลปกครองว่า กทช. ไม่มีอำนาจในการจัดสรรคลื่นความถี่ ศาลปกครองรับฟ้อง และมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ระงับการประมูล ก่อนที่การประมูลจะมีขึ้นเพียง 4 วันเท่านั้น

กสทช. ชุดใหม่ 11 คน เข้ารับตำแหน่ง เมื่อต้นเดือนตุลาคม ปีที่แล้ว มีพลอากาศเอก ธเรศ ปุณศรี เป็นประธาน กสทช. มีรอง ประธานสองคนคือ พันเอกนที ทำหน้าที่เป็นประธาน คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ หรือ กสช . พันเอกเศรษฐพงศ์ เป็นประธานกิจการโทรคมนาคม หรือ กทค.

โจทย์ใหญ่ของ กทค.คือ จัดสรรใบอนุญาต 3 จีให้ผู้ประกอบการสามราย ในราคาที่ไม่สูงมากเกินไป วิธีการคือ ทำให้ไม่มีการแข่งขัน สูตร N-1 ของพันเอกนที ต้องล้มไป เพราะทำให้เกิดการแข่งขัน หน้าที่ของ กทค. คือ กำจัดการแข่งขัน ทำให้ราคาถูก และ ไม่น่าเกลียด

ต้นเดือนกุมภาพันธ์ ปีนี้ มีงานนิทรรศการ และการประชุมมือถือโลก ซึ่งจัดเป็นประจำ ที่เมืองบาร์เซโลน่า ประเทศสเปน ผู้ประกอบการทั่วโลก รวททั้งจากไทย และกทค . ไปร่วมงานกันพร้อมหน้าพร้อมตา กทค. กลับมาพร้อมไอเดียใหม่คือ จะซอยคลื่นความถี่ ย่าน 2.1 GHz หรือ คลื่น 3 จี ซึ่งมีอยู่ 45 เมกะเฮิร์ตซ์ ออกเป็นสล็อต มีขนาดเล็กที่สุด 5 เม็ก โดยอ้างว่า เทคโนโลยี่สมัยใหม่ แค่ 5 เม็กก็ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว

ในตอนแรก จะจัดสล็อตคลื่นความถี่ ซึ่งมีอยู่ 9 สล็อต ๆละ 5 เม็ก ออกเป็น 3 ชุดคือ 4 สล็อต ( 20 เม็ก) 3 สล็อต ( 15 เม็ก) และ 2 สล็อต ( 10 เม็ก) เพื่อให้เกิดการแข่งขัน ใครอยากได้คลื่นความถี่มากที่สุดก็ต้องเสนอราคาสูงๆ เพื่อเอาชุดใหญ่ที่สุดไป ใครอยากได้ของถูกที่สุด ก็เอาไปแค่ 10 เม็ก แต่วิธีนี้จะทำให้ราคาประมูลสูงขึ้น ผู้ประกอบการต้องจ่ายแพง และได้คลื่นไม่เท่ากัน สูตร 4-3-2 จึงถูกล้มเลิกไป เพราะผู้เข้าประมูลบางรายเกรงว่า หากใช้สูตรนี้ อาจจะเกิดการฟ้องร้องต่อศาลปกครองอีก และทำให้การประมูลต้องล้มลงไปเหมือนเมื่อ สองปีก่อน

แต่ครั้นจะแบ่งคลื่นให้เท่าๆกัน เป็น 15-15-15 ไปเลย กทค. ก็เกรงว่า จะเป็นการโจ่งแจ้งเกินไป ว่า มีการฮั้วกัน ในที่สุด จึงคิดสูตร ใบอนุญาต 9 ใบ ๆละ 5 เม็ก ผู้เข้าประมูลแต่ละราย มีสิทธิได้รับใบอนุญาตสูงสุด 3 ใบ ซึ่งก็คือสูตร 15-15-15 แต่ทำให้สลับซับซ้อนขึ้นมานิดหนึ่ง ให้ดูเหมือนว่า มีใบอนุญาตเยอะๆ จะต้องมีการแย่งขิงแข่งขันกัน แต่ความจริงเหมือนเดิมคือ เอไอเอส ดีแทค และทรูจะได้คลื่นความถี่เท่ากันรายละ 15 เม็ก ไม่ต้องแย่งชิงกัน ให้เสียเงินเสียทองโดยไม่จำเป็น

เมื่อเขียนกติกา ขจัดการแข่งขันออกไปได้แล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ การทำราคาให้ต่ำ กทค.ว่าจ้างคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ให้ศึกษาเรื่อง การประมูลคลื่นความถี่ และมูลค่าขั้นต่ำของราคาประมูลการคลื่นความถี่ ย่าน 2.1 GHz ซึ่งใช้เวลาศึกษา 2 เดือน โดยใช้วิธีเศรษฐมิติ ศึกษาเปรียบเทียบวิธีการประมูลคลื่นของประเทศต่างๆทั่วโลก และใช้แบบจำลอง ต่างๆ หามูลค่าคลื่นความถี่ และราคาขั้นต่ำที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย โดยมี รศ. ดร.ไพฑูรย์ วิบูลชุติกุล เป็นหัวหน้าทีมศึกษา

ผลศึกษาฉบับนี้ เป็นคัมภีร์ ที่นายสิทธิพล ชอบยกขี้นมาอ้างว่า การตั้งราคาขั้นต่ำ 4,500 ล้านบาท ต่อ ใบอนุญาต 1 ใบ ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ต่ำเกินไปนั้น เป็นไปตามผลการศึกษาของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ คือ ประเมินมูลค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ประมาณ 6,440 ล้านบาท และกำหนดสัดส่วนราคาขั้นต่ำ ไว้ที่ 67% ของมูลค่าใบอนุญาต ราคาขั้นต่ำ 4,500 ล้านบาท ที่ กทค.กำหนดนั้น สูงกว่าข้อเสนอของ คณะเศรษฐศาสตร์เสียอีก คือ มีสัดส่วน 70 % ของใบอนุญาต

แต่ไม่เคยมีใครได้เห็นผลการศึกษาฉบับนี้ ยกเว้น กรรมการ กสทช. ถึงแม้ว่า การศึกษาจะเสร็จสมบูรณ์ และมีการส่งมอบให้ กสท. แล้ว อีกทั้ง กทค. ยังอ้างอิงผลการศึกษาในการตั้งราคา คณะผู้ทำการศึกษาของ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ก็ปิดปาก ไม่ยอมให้สัมภาษณ์ ต่อสื่อมวลชนทุกรายที่ติดต่อขอสัมภาษณ์ไป ราวกับว่า มีความลับดำมืดบางอย่างซ่อนอยู่ในผลการศึกษานี้

ข้อพิรุธที่ปรากฎอยู่ในผลการศึกษา ที่ถูกปกปิดไว้ก็คือ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ส่งร่างผลการศึกษาฉบับสมบูรณ์ ให้ กสทช. เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2555 ในหน้าที่ 100 ย่อหน้าสุดท้าย ระบุว่า

“ ดังนั้น ภายหลังการเปรียบเทียบการประมาณการมูลค่าคลื่นความถี่จากแบบจำลองทั้ง 5 แบบจำลองพบว่า แบบจำลองที่ 2 มีความเหมาะสมที่จะใช้เพื่อประเมินมูลค่าคลื่นความถี่สำหรับประเทศไทยมากที่สุด และมูลค่าคลื่นความถี่ ประมาณการได้เท่ากับ 0.32 เหรียญสหรัฐฯ ส่วนมูลค่าต่อใบอนุญาตคลื่นความถี่สูงประมาณ 6,676 ล้านบาท”

การตั้งราคาขั้นต่ำ 70 % ของมูลค่าคลื่น อย่างที่นายสุทธิพลอ้าง จะต้องมีราคาเท่ากับ 4,673.2 ล้านบาท มิใช่ 4,500 ล้านบาท แม้จะเป็นมูลค่าที่ต่างกันเพียง 173 ล้านบาท แต่ก็เป็นข้อพิรุธที่แสดงให้เห็นว่า การตั้งราคาขั้นต่ำนั้น มิได้เป็นไปตามผลการศึกษา แต่มีการกำหนดราคา ที่เป็นไปตามความต้องการของ ผู้เข้าประมูลบางราย มากกว่า

วันรุ่งขึ้นหลังจาก จุฬาฯส่งร่างรายงานฉบับสมบูรณ์ให้ กสทช. มีการปะชุมคณะกรรมการกสทชฬ ที่ประชุม มีมติด้วยเสียงส่วนใหญ่ เห็นชอบ ร่างหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ ย่าน 2.1 GHz หรือ ทีโออาร์ ตามข้อเสนอของ พันเอก เศรษฐพงศ์ และกสทช. นำร่างประกาศนี้ไปเผยแพร่ในเว็บไซต์ของ กสทช. ในวันที่ 28 สิงหาคม 2555 โดยระบุมูลค่าราคาขั้นต่ำคือ 4,500 ล้านบาท

คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ส่งรายงานฉบับสมบูรณ์ ให้ กสทช. เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2555 คราวนี้ มูลค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ ที่เคยเท่ากับ 6,676 ล้านบาท ในฉบับร่าง ถูกแก้ใหม่ ลดลงเหลือ 6,440 ล้านบาท ( หน้า 94 ของรายงาน) ซึ่งทำให้ ราคาขั้นต่ำ คือ 4,500 ล้านบาท มีสัด่สวนเท่ากับ 70% ของมูลค่าใบอนุญาตตามที่ นายสุทธิพล อ้างไว้ เป็นการแก้ไขย้อนหลัง หลังจาก กสทช. ประกาศทีโออาร์ ไปแล้ว หนึ่งเดือนกว่าๆ

ข้อมูลอีกจุดหนึ่ง ซึ่งไม่มีการแก้ไข แต่น่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ผลการศึกษาฉบับนี้ ถูกปกปิดคือ ตาราง ความสัมพันธ์ระหว่างสัดส่วนราคาขั้นต่ำที่เหมาะสม กับรายรับจากการประมูล ( ตารางที่ 8.2 หน้า 174 ในร่างรายงานฯ และในหน้า 167 ในรายงานฉบับสมบูรณ์ ) ที่แสดงว่า สัดส่วนราคาขั้นต่ำที่เหมาะสมในกรณีที่มีผู้ประมูล 3 รายคือ 82 % ของมูลค่าใบอนุญาต ซึ่งต้องเท่ากับ 5,280 ล้านบาท ไม่ใช่67 หรือ 70 % ซึ่งเท่ากับ 4,500 ล้านบาท ตามที่ พันเอกเศรษฐพงศ์ และนายสุทธิพลอ้างเสมอๆ สัดส่วน 67 -70 % จะใช้ได้เมื่อ มีผู้เข้าประมูล 6-7 ราย
ตารางความสัมพันธ์ระหว่างสัดส่วนราคาขั้นต่ำที่เหมาะสมกับรายรับจากการประมูล
หากกสทช. ตั้งราคาขั้นต่ำตามผลการศึกษา ของคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ จริง คือ 5,280 ล้านบาทต่อ 1 ใบอนุญาต รายได้ที่ประเทศชาติจะได้รับจากการประมูลคลื่น 3 จี อันเป็นสมบัติของชาติ อย่างน้อยที่สุดจะต้องได้ คิอ 47,520 ล้านบาท ไม่ใช่ 41,625 ล้านบาท

และหาก ยึดเอาราคาประเมินมูลค่าใบอนุญาต 1 ใบ 6,440 ล้านบาท ตามการศึกษาของจุฬาฯ การประมูลทรัพย์สินของชาติในครั้งนี้ น่าจะได้เงิน 57,960 ล้านบาท เป็นอย่างต่ำ หาก กทค. ออกแบบการประมูลให้มีการแข่งขันจริง ไม่ใช่เพื่อรักษาผลประโยชน์ของกลุ่มทุนสื่อสาร แต่นี่ได้มาเพียง 41,625 ล้านบาท หายไปถึง 16,335 ล้านบาท

กสทช. ชุดนี้ เพิ่งทำงานได้เพียงปีเดียว แต่ได้สร้างผลงานที่นักการเมืองที่ยังหากินแบบโลกคลื่นลูกที่สอง ต้องเรียกพี่ ในเดือนมิถุนายน 2555 กทค. ได้อนุมัติใ ห้ บริษัทไทยคม ยิงดาวเทียมขึ้นไปที่วงโคจร 120 องศาตะวันออก และให้สิทธิการให้บริการสัญญาณดาวเทียม 20 ปี โดยสามารถต่ออายุได้ ไม่จำกัดครั้ง ทั้งๆที่ กสทช. ยังร่างหลักเกณฑ์การประกอบกิจการดาวเทียมไม่เสร็จ และไทยคมได้รับใบอนุญาตไปโดยไม่มีการประมูล

อีกหนีงผลงานคือ ความพยายามของ กทค. ที่จะมอบหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เป็นเบอร์สวย ให้ ผู้ให้บริการไปจัดสรรเอง หมายเลขเบอร์สวยเหล่านี้ มีอยุ่ 1.7 ล้านหมายเลข กสทช. เคยมีความคิดที่จะนำ เบอร์สวยเหล่านี้ออกประมูล ซึ่งคาดว่าจะมีรายได้เป็นหลักหมื่นล้านบาท แต่ถูกขัดขวางจาก กรรมการ กทค.บางคน

สิ่งเหล่านี้ คือ ผลงานของคนหนุ่มสองคน ที่มีการศึกษาที่ดีมาก มีภูมิหลังหน้าที่การงานที่น่าทึ่ง มีภาพลักษณ์ที่ดี ภายในชั่วเวลาหนึ่งปี สามารถทำงานใหญ่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์หลายหมื่นล้านบาทของกลุ่มทุนสื่อสารโทรคมนาคม ได้ลุล่วงไปด้วยดี สมกับที่อยู่ในโลกดิจิตอล ที่ไวกว่าแสง กดปุ๊ปแสดงผลปั๊บ ป้อนคำ สั่งครั้งเดียว ทำงานได้ดั่ง ใจ
กำลังโหลดความคิดเห็น