xs
xsm
sm
md
lg

ปรับครม.หนีซักฟอก

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวการเมือง

งลักษณ์ ชินวัตร ประชุมครม.
ต้องดูว่าพรรคประชาธิปัตย์ จะเลื่อนกำหนดเดิมที่วางไว้ว่าจะยื่นญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จากเดิมที่บอกไม่เกินปลายเดือนตุลาคม ออกไปหรือไม่ ?

หลังจากที่นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรตัดสินใจปรับคณะรัฐมนตรีเมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา จากเดิมก่อนหน้านี้ตัวยิ่งลักษณ์และทักษิณ ชินวัตร ก็แสดงท่าทีว่าต้องการปรับครม.หลังการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจของประชาธิปัตย์ ที่จะตรงกับช่วงปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญคือปลายเดือนพฤศจิกายนพอดี

แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจปรับครม.อย่างฉับพลัน

ส่วนจะมีผลต่อการตัดสินใจของพรรคประชาธิปัตย์ในการยื่นญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือไม่ แน่นอนว่า คงมีผลระดับหนึ่งเพราะเมื่อรัฐมนตรีบางคนที่เคยตกเป็นเป้าหมายใหญ่ของประชาธิปัตย์โดนปรับออกไป ก็ย่อมทำให้มีผลต่อการปรับกระบวนทัพของปชป.แน่นอน แม้จะรู้กันดีว่า เป้าใหญ่สุดของประชาธิปัตย์คือ

“ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร”ก็ตาม

อย่างไรก็ตาม วิเคราะห์แล้ว แม้จะมีผลบ้างคงไม่มาก ซึ่งประชาธิปัตย์ก็ประเมินไว้อยู่แล้วว่าต้องมีการปรับครม.ก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพื่อหวังผลบางอย่างในการลดน้ำหนักการอภิปรายของฝ่ายค้านในสภาฯให้ลดโทนลง

เช่นการปรับเปลี่ยนรัฐมนตรีในกระทรวงที่รับผิดชอบการดำเนินการหลายอย่างมีปัญหา อย่างเช่น “โครงการรับจำนำข้าว”ที่จะเป็นเป้าหมายหลักของประชาธิปัตย์ในการอภิปรายครั้งนี้

และการที่ชิงปรับครม.ก่อนที่ประชาธิปัตย์จะยื่นปลายเดือนตุลาคมก็หมายความว่าต้องยื่นภายในช่วง 3 วันทำการ คือ 29-31 ตุลาคม เพราะหากประชาธิปัตย์ยื่นญัตติอภิปรายฯไปก่อน เช่นอภิปรายเป็นรายบุคคล ตัวยิ่งลักษณ์ก็จะปรับเปลี่ยนรัฐมนตรีคนที่ถูกฝ่ายค้านยื่นซักฟอกไม่ได้

การชิงปรับครม.ก่อนในช่วงปลายสัปดาห์นี้ จึงเป็นเรื่องที่ยิ่งลักษณ์จะต้องถูกมองว่า

“ชิงปรับก่อนซักฟอก”

อย่างไรก็ตาม ใครจะว่าอย่างไรคิดหรือว่า ทักษิณกับยิ่งลักษณ์จะแคร์ ก็ต้องหาเหตุผลข้ออ้างต่างๆมากลบเกลื่อน แถไปได้เรื่อยๆตามสไตล์ถนัด รัฐบาลอาจจะอ้างเข้าสู่ช่วงเหมาะสมพอดีก็เลยต้องปรับเปลี่ยนเพื่อทำให้การทำงานคล่องตัวขึ้น

แม้การปรับเปลี่ยนรัฐมนตรีหลายตำแหน่งที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมายจากที่ประชาธิปัตย์คาดไว้ แต่ก็เสียเส้นไม่ใช่น้อย

ตรงนี้จับอาการเห็นได้ชัด ดูได้จากอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ที่ให้สัมภาษณ์ช่วงเช้าวันที่ 24 ตุลาคม 2555 ที่ตอนนั้นกระแสข่าวปรับครม.ยังไม่นิ่ง คือมีกระแสมาแล้วแต่ยังไม่พบความเคลื่อนไหวที่ชัดเจน อภิสิทธิ์ก็ให้สัมภาษณ์ดักทางไว้ว่านายกฯยังไม่ควรปรับครม.ก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

“การปรับคณะรัฐมนตรีเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี รัฐบาลรอการอภิปรายไม่ไว้วางใจก่อนค่อยตัดสินใจก็ได้ ส่วนหากมีการปรับครม.ก่อนการอภิปรายจะส่งผลกระทบหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่ว่าปรับใคร เป็นรัฐมนตรีที่ถูกยื่นหรือไม่ แต่หากมีการยื่นญัตติแล้วก็ไม่น่าที่จะปรับ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลซึ่งหากปรับออกก็ทำอะไรไม่ได้”

ก็ทำอะไรไม่ได้จริง ๆสำหรับประชาธิปัตย์ เวลานี้แกนนำพรรคและพวกขุนพลของประชาธิปัตย์ที่อยู่ระหว่างการตระเตรียมข้อมูลสำหรับการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็คงไปหารือกันภายในว่าแล้วยุทธวิธีการซักฟอกหลังจากนี้จะทำอย่างไร เมื่อยิ่งลักษณ์ชิงปรับครม.ก่อนหน้าการยื่นญัตติไม่ถึง 7 วัน

คาดกันไว้ว่า ช่วงต้นสัปดาห์หน้าคือ 29-30 ตุลาคม แกนนำพรรคและพวกวอร์รูมเตรียมอภิปรายไม่ไว้วางใจของประชาธิปัตย์ที่มีหัวหน้าทีมคือจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ประธานวิปฝ่ายค้านซึ่งคอยกำกับทิศทางการอภิปรายจะเรียกประชุมใหญ่ขุนพลปชป.ที่จะขึ้นทำศึกซักฟอกเพื่อกำหนดว่าจะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบไหน

จะยื่นทั้งคณะหรือจะยื่นอภิปรายรายบุคคล และหากเป็นรายบุคคลมีรมต.คนไหนบ้างที่ต้องโดนเชือด

อย่างไรก็ตาม หากมีการอภิปรายยิ่งลักษณ์ ก็ต้องทำตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158 คือฝ่ายค้านต้องเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีด้วยซึ่งก็คงไม่ใช่ใครที่ไหน ก็อภิสิทธิ์ หัวหน้าพรรคปชป. และถ้าญัตติอภิปรายระบุว่านายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ มีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ทางราชการ นอกจากยื่นญัตติอภิปรายแล้วก็ต้องยื่นเรื่องและหลักฐานที่กล่าวหาว่านายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีทุจริตไปให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือป.ป.ช.พิจารณาด้วยอีกขั้นตอนหนึ่ง

แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นแค่การทำตามรัฐธรรมนูญเท่านั้นเพราะการส่งเรื่องไปให้ป.ป.ช.มักไม่ค่อยมีผลอะไร เนื่องจากใช้เวลาการสอบสวนในชั้นป.ป.ช.หลายปีและหลายรายอภิปรายในสภาฯเสร็จเอาหลักฐานไปมอบให้ป.ป.ช.ทางป.ป.ช.ใช้เวลาสอบสวนนานหลายปี จนแม้แต่ประชาธิปัตย์เองก็ยังลืม สุดท้ายป.ป.ช. ก็ยกคำร้อง เห็นได้จากสมัยประชาธิปัตย์อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีหลายคนในรัฐบาลทักษิณ 1 และทักษิณ 2 แล้วส่งเรื่องไปให้ป.ป.ช. ก็มักยกคำร้อง คือหลักฐานไม่พอมัดได้ว่ารัฐมนตรีคนนั้นๆ ทุจริต

ส่วนว่ารัฐมนตรีคนไหนจะโดนอภิปรายไม่ไว้วางใจบ้าง พบว่าแม้จะมีการปรับครม.หลายตำแหน่งแต่รัฐมนตรีบางคนที่เคยติดโผซักฟอกก็ยังเป็นรมต.อยู่เช่นเดิม

อาทิ สุรพงษ์ โตวิจักษ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ ที่หลายคนคาดไว้ว่าประชาธิปัตย์คงไม่ปล่อยให้รอดไปได้ กับประเด็นเรื่องใช้ตำแหน่งและอำนาจหน้าที่ความเป็นรมต.ไปช่วยเหลือทักษิณเช่นกรณีที่ญี่ปุ่นออกวีซ่าให้ทักษิณสามารถเดินทางเข้าประเทศได้ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่อนุญาต

หรือการที่กระทรวงการต่างประเทศคืนพาสปอร์ตแดงให้กับทักษิณ ที่หนีคดีตามหมายจับของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหลายต่อหลายคดี จนถูก ผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีคำวินิจฉัยการสอบสวนกรณีการออกพาสปอร์ตแดงให้กับทักษิณ ว่าเป็นการทำที่ไม่ถูกต้องตามระเบียบหนังสือเดินทางของกระทรวงการต่างประเทศ พ.ศ.2548 พร้อมกับขอให้กระทรวงการต่างประเทศไปทบทวนการออกหนังสือเดินทางของทักษิณ โดยให้ปฏิบัติตามระเบียบหนังสือเดินทางของกระทรวงการต่างประเทศ พ.ศ.2548 อย่างเคร่งครัด

หลายคนประเมินว่าหากสุรพงษ์ไม่รอด ส.ส.ประชาธิปัตย์ที่จะอภิปรายไม่ไว้วางใจน่าจะคุมทีมโดย กษิต ภิรมย์ อดีตรมว.ต่างประเทศ

นอกจากนี้ “โต้งไวท์ไล”กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ก็ยังไม่โดนปรับเปลี่ยน ก็น่าจะติดโผลำดับต้นๆ ไม่รอดแน่นอน กับการอภิปรายของประชาธิปัตย์ที่จะพุ่งเป้าไปที่นโยบายประชานิยมของรัฐบาลเพื่อไทยสร้างปัญหาให้กับประเทศอย่างไร โดยเฉพาะนโยบายรับจำนำข้าวที่กิตติรัตน์ ก็มีส่วนสำคัญมาตั้งแต่ต้น ตั้งแต่สมัยเป็นรมว.พาณิชย์

ผสมกับอีกหลายกรณีทั้งเรื่องปัญหาหนี้สาธารณะ-การออกพรก.กู้เงินหลายแสนล้านบาทโดยอ้างว่าเพื่อนำไปทำโครงการป้องกันน้ำท่วมแต่จนถึงขณะนี้กลับพบว่ามีการเบิกจ่ายไปแค่หลักพันล้านบาท-การออกนโยบายประชานิยมหลายโครงการที่ฝ่ายค้านต้องบอกว่าทำเพื่อหาเสียงโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมาโดยเฉพาะวินัยการเงินการคลังเช่น รถยนต์คันแรก

และช็อตเด็ดกับการย้ำปมเรื่องโกหกสีขาวของกิตติรัตน์ ที่คาดว่าจะโดนซัดหนักกับปมเรื่องจริยธรรม-คุณธรรมของการเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลแต่กลับมองว่าการโกหกเรื่องตัวเลขเศรษฐกิจของชาติสามารถทำได้

ขณะที่อีกหลายประเด็นที่ก่อนหน้านี้อยู่ในลิสต์การอภิปรายไม่ไว้วางใจของประชาธิปัตย์ ก็คาดว่าปชป.คงต้องไปหารือกันอีกครั้งว่าจะมีการปรับเปลี่ยนกันอย่างไร หรือจะยกเลิกไม่เอาแล้วหลังการปรับครม.

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบริหารเงินงบประมาณในโครงการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศตามกรอบพรก.เงินกู้ มูลค่า 3.5 แสนล้านบาท เพราะเมื่อน้ำไม่ท่วมและการประมูลโครงการต่างๆ ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป ยังไม่มีข่าวปรากฏชัดว่ามีการเอื้อประโยชน์อะไรให้กับบริษัทเอกชน หากประชาธิปัตย์ไม่มีข้อมูลอะไรมากกว่าที่เป็นข่าวก่อนหน้านี้ หากอภิปรายไปน้ำหนักการอภิปรายก็คงเบาหวิวจะเสียชื่อประชาธิปัตย์เอาได้

นอกจากนี้ก็ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องดูว่าประชาธิปัตย์จะนำไปเป็นประเด็นอภิปรายไม่ไว้วางใจได้อย่างไรหากยืนยันจะอภิปรายประเด็นพวกนี้ให้ได้ และถ้าอภิปรายแล้วจะโยงไปถึงรัฐมนตรีคนไหนได้ เช่นเรื่อง ชายชุดดำ-การแก้ปัญหาสินค้าทางการเกษตรโดยเฉพาะราคายางตกต่ำ หลังมีการปรับครม.เกิดขึ้น

สำหรับ ยิ่งลักษณ์ วันนี้ ด้วยประสบการณ์การเมืองที่มีมากขึ้น หลายคนเชื่อว่า ถึงวันซักฟอก เธอคงเตรียมตัวมาดีกว่าที่หลายคนปรามาสเอาไว้ เพราะยิ่งลักษณ์คงเตรียมใจมาตลอดหลายเดือนแล้วว่า ต้องเตรียมรับศึกใหญ่ในสภาฯ ที่เป็นไฟท์บังคับหนีไม่ได้ จะโดนอภิปรายโดยการโยงทุกเรื่องรอบตัวทั้งการเป็นผู้นำประเทศ การเป็นหัวหน้ารัฐบาล ที่ต้องรับผิดชอบทุกเรื่องเพื่ออภิปรายโยงมาถึงตัวยิ่งลักษณ์ให้ได้ และพ่วงไปถึงคนใกล้ชิดอย่างทักษิณ ชินวัตร-นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ด้วย

แม้ยิ่งลักษณ์จะมีตัวช่วยคอยทำหน้าที่เป็นองครักษ์ปกป้องในสภาฯ ได้ แต่ต้องไม่เยอะ ไม่งั้นจะกลายเป็น นายกฯคุณหนู-ผู้นำปูนิ่ม ในสายตาประชาชนทั่วประเทศที่ติดตามการอภิปรายฯ

นับถอยหลังต่อจากนี้ก็คาดว่าไม่เกิน 3 อาทิตย์ ก็เตรียมระเบิดความมันส์การเมืองได้แล้วกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ในช่วงกลางเดือนพ.ย.
กำลังโหลดความคิดเห็น