ผ่าประเด็นร้อน
ข่าวที่ว่ามี 4 บริษัทยักษ์ใหญ่ ได้ถอนโฆษณากับช่อง 3 และรายการเรื่องเล่าเช้านี้ ที่ดำเนินรายการโดย “สรยุทธ สุทัศนะจินดา” พิธีกรนักเล่าข่าวชื่อดัง โดยมีผลตั้งแต่ต้นเดือนมกราคมปีหน้าเป็นต้นไป ข่าวดังกล่าวถ้าเป็นเรื่องจริงก็ถือว่าน่าจะเรื่องที่ต้องติดตาม เป็นการสะท้อนให้เห็นว่ากระแสต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันที่ริเริ่มโดยภาคเอกชน ภาคประชาชนกลุ่มหนึ่งที่ก่อตัวขึ้นมาก่อนหน้านี้เริ่มเดินหน้าและเอาจริง
เป็นปรากฏการณ์ที่น่าตื่นตะลึง และแทบไม่น่าเชื่อว่าจะเริ่มมีพลังมากขึ้นเรื่อยๆ
เพราะก่อนหน้านี้หลังจากที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ปปช.) ได้ชี้มูลความผิด สรยุทธ สุทัศนะจินดา และบริษัทไร่ส้มของตัวเอง ร่วมกับพนักงานอสมท.จำนวนหนึ่งทุจริตเงินค่าโฆษณาทำให้ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เสียหายกว่า 138 ล้านบาท แต่ที่ผ่านมา ทั้งตัวสรยุทธ และต้นสังกัดในปัจจุบันคือ ช่อง 3 กลับเพิกเฉย ทำเป็นทองไม่รู้ร้อนกับความผิดที่เกิดขึ้น
ไม่เคยแสดงท่าทีความรับผิดชอบ หรือสปิริตใดๆ ออกมาให้เห็น โดยตัวเขายังทำหน้าที่เป็นพิธีกรเล่าข่าวรายวันตามปกติเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ขณะเดียวกัน ทางช่อง 3 ที่อีกนัยหนึ่งก็ถือว่าเป็นองค์กรสื่อ อีกด้านหนึ่งก็ทำหน้าที่ตรวจสอบการทุจริตของคนอื่น และองค์กรอื่น แต่เมื่อเกิดกรณีการทุจริต เกิดความเสียหายทางด้านวิชาชีพสื่อ ทางช่อง 3 ซึ่งก็เป็นบริษัทในเครือของ บริษัท บีอีซีเวิลด์ จำกัด (มหาชน) ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ได้ชื่อว่าต้องมี “ธรรมาภิบาล”
เฉพาะกรณีของ สรยุทธ และบริษัท ไร่ส้ม จำกัด หลังจากถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิด ก็ได้ถูกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยเรียกร้องให้แสดงความรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นทันที เพื่อสร้างบรรทัดฐานทางสังคมและในทางวิชาชีพของสื่อมวลชน แต่กลายเป็นว่าได้กลับการตอบโต้กลับคืนมาทันควันด้วยการส่งหนังสือลาออกจากสมาชิกจากสมาคมนักข่าวฯ
แสดงให้เห็นว่าพวกเขาไม่แยแส นัยหนึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่า “ไม่ได้อยู่ในสายตา” เชื่อว่าคงไม่อาจทำอะไรได้ เพราะจนบัดนี้ สรยุทธ ก็ยังทำหน้าที่เป็นพิธีกรเล่าข่าวตามปกติ และไม่มีปฏิกิริยาใดๆ ออกมาจากทาง ช่อง 3 ที่บริหารโดย “ตระกูลมาลีนนท์”
แต่ฉับพลันที่ได้เห็นการเคลื่อนไหวของ ภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่นและสมาชิก 40 องค์กรเอกชน เตรียมกดดันให้ทางช่อง 3 แสดงจุดยืนต่อกรณีดังกล่าวให้ชัดเจนโดยเร็ว พร้อมทั้งระบุว่าหากยังเพิกเฉยก็จะมีถอนโฆษณาออกไปตั้งแต่ต้นปีหน้าเป็นต้นไป และตามข่าวบอกว่ามีบริษัทขนาดใหญ่อย่างน้อย 4 รายได้แจ้งถอนการโฆษณาออกจากรายการ “เรื่องเล่าเช้านี้” ที่ดำเนินรายการโดย สรยุทธ สุทัศนะจินดา ทางช่อง 3 โดยให้มีผลตั้งแต่ต้นเดือนมกราคมปีหน้าเป็นต้นไป
แม้ว่ายังไม่ชัดเจนว่า 4 บริษัทดังกล่าวเป็นบริษัทใดบ้าง แต่ก็มีรายงานว่าเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ที่เน้นในเรื่องธรรมาภิบาล ซึ่งเชื่อว่าจะต้องมีการแถลงข่าวตามมาในเร็ววันนี้ เพราะต้องแสดงเจตนารมณ์ให้สาธารณะได้รับรู้
อย่างไรก็ดี นี่เป็นนิมิตหมายที่ดี เป็นความหวังของสังคมไทย เชื่อว่าหลายคนอยากให้กำลังใจ และอยากให้ภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่นเติบโตขยายเครือข่ายให้ขวางขวางกว่าที่เป็นอยู่
เพราะอย่างที่ระบุเอาไว้ตั้งแต่ต้นในช่วงก่อตั้งมาใหม่ๆ ที่นำโดย ดุสิต นนทนาคร อดีตประธานหอการค้า หลายคนยังรู้สึกปรามาทลึกๆว่า “คงไม่ได้เรื่อง” ไม่จริงจัง และคงไม่มีความหมายอะไร เหลวตามเคย แต่หลังจากได้ติดตามมาอย่างต่อเนื่อง ก็ได้เห็นความเคลื่อนไหวเอาจริงเอาจัง จนกระทั่งเมื่อ ดุสิต เสียชีวิต ก็มีการสานต่อเจตนารมณ์โดย ประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานภาคีฯคนปัจจุบัน และมีทีท่าว่าเข้มแข็งกว่าเดิม
ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวโดยการส่งหนังสือไปถึงประธานคณะกรรมการผู้จัดการบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเมนต์ จำกัด (ช่อง 3) ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มบีอีซีเวิลด์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ต้องมีธรรมาภิบาล และในฐานะเป็นสื่อมวลชนต้องเป็นตัวอย่างให้กับสังคม และที่สำคัญ ช่อง 3 ยังเพิ่งได้รับรางวัล “ช่อสะอาด” ประจำปี 2555 จาก ป.ป.ช.มาหมาดๆ ยิ่งต้องแสดงความรับผิดชอบ มีสปิริตเหนือคนอื่น จะเพิกเฉยทำเป็นทองไม่รู้ร้อน หรือหวังว่ากระแสดกดดันคงลดเลือนหายไปแบบคลื่นกระทบฝั่ง ไม่ได้เป็นอันขาด
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นย่อมแสดงให้เห็นว่าสังคมไทยเริ่มมีความหวังอยู่บ้างกับความพยายามในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน จากการรวมตัวกันของภาคเครือข่ายประชาสังคม เพราะประเทศที่เจริญแล้วที่มีการป้องกันและลงโทษการทุจริตอย่างได้ผลล้วนแล้วแต่มาจากการตื่นตัวรวมพลังกันอย่างเข้มแข็งของภาคประชาชนนี่แหละ เพราะจะไปหวังพึ่งพาหน่วยงานราชการคงไม่ได้ เนื่องจากปัจจุบันข้าราชการไม่น้อยได้กลายเป็นเครื่องมือกลายเป็นเครือข่ายอย่างชัดเจนและน่ากลัว
ดังนั้น การเคลื่อนไหวของภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น ที่ร่วมกับองค์กรเอกชน 40 องค์กรกำลังจะใช้มาตรการ “กดดันทางสังคม” กับ คนในวงการสื่อ อย่าง สรยุทธ สุทัศนะจินดา และต้นสังกัดอย่างช่อง 3 ให้แสดงความรับผิดชอบ และแสดงสปิริตจากกรณีถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดจากการทุจริตดังกล่าว เพราะถือว่าต้องทำให้เป็นตัวอย่างอย่าง ขณะเดียวกันต้องให้กำลังใจและชื่นชมภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่นที่มีความกล้าหาญเอาจริงเอาจัง และหวังว่าสังคมจะต้องร่วมเคลื่อนไหวอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งไม่ใช่แค่กรณีนี้เท่านั้น แต่ต้องผนึกกำลังกันในทุกกรณี และทุกทาง!!