“ดร.วัฒนา” ยันฝนเม็ดใหญ่ขึ้นเป็นเรื่องปกติ ไม่สามารถชี้ได้ว่าเพราะภูมิอากาศแย่ลง ลั่นไม่โทษ “ปลอดประสพ” เพราะคงพูดตามคำแนะนำของที่ปรึกษาซึ่งอาจไม่ได้เรียนวิชาอุตุฯ มา เตือนอย่าประมาท “แกมี” อาจก่อตัวแรงได้ทุกเมื่อ ด้าน “ผศ.ดร.คมสัน” วอนรัฐบาล-กทม.ลดทิฐิ ร่วมมือกันแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างจริงจัง
วานนี้ (4 ต.ค.) ดร.วัฒนา กันบัว ผอ.ศูนย์อุตุนิยมวิทยาทะเล สำนักตรวจและเฝ้าระวังสภาวะอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา ผศ.ดร.คมสัน มาลีสี รองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง และ รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองคณบดีฝ่ายวิชาการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้ร่วมสนทนาในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV
ดร.วัฒนากล่าวถึงพายุแกมีว่า จากข่าวบอกว่าจะมาถึงแค่อุบลฯ อาจไม่ถึง กทม. ซึ่งยังไว้วางใจไม่ได้ เพราะถ้ามีพลังงานเข้ามาเสริมก็สามารถกลายเป็นพายุที่รุนแรงได้ตลอดเวลา ซึ่งต้องจับตาดูเส้นทางของพายุถึงวันที่ 6 ต.ค.
ดร.วัฒนากล่าวด้วยว่า กรณีที่นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี บอกว่าฝนทุกวันนี้มีเม็ดใหญ่ขึ้นแสดงถึงความผิดปกติของภาวะอากาศ อันนั้นมันเป็นเรื่องปกติที่ประเทศในเขตร้อนมักมีฝนเม็ดใหญ่อยู่แล้ว แล้วช่วงที่มีพายุเข้าฝนก็จะเม็ดใหญ่ขึ้นด้วย เรื่องฝนบ้านเรายังปกติไม่ได้โตหรือเล็ก นอกจากนี้ก็ขึ้นอยู่กับชั้นเมฆด้วย หากเป็นฝนจากเมฆชั้นบนเม็ดก็จะโต ส่วนเมฆชั้นกลางเม็ดจะเล็ก เราไม่สามารถเปรียบเทียบได้ว่าเป็นสิ่งไม่ปกติ แต่ตนไม่โทษที่นายปลอดประสพพูด เพราะคงเป็นไปตามคำแนะนำของที่ปรึกษา ซึ่งอาจไม่ใช่คนที่เรียนวิชาอุตุฯ มา
ดร.วัฒนากล่าวอีกว่า ปัญหาน้ำท่วมที่แท้จริงทุกวันนี้มันเกิดจากคือโลคัลเชนจ์ และเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ควรจัดการ แต่กลับมองไปไกลถึงไคลเมตเชนจ์ ถ้ารัฐบาลจะทำงานในเชิงวางแผนต้องรับฟังทุกคน ไม่ใช่ฟังแค่ 2-3 คน ต่อให้ได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่งก็ทำอะไรไม่ได้ แม้แต่หนึ่งความเห็นของตาสีตาสาก็ต้องฟังด้วย แต่นี่เผด็จการน้อยๆ ถ้าลดทิฐิได้งานจะเกิดประสิทธิภาพได้
นอกจากนั้น ตอนนี้กรมอุตุฯ กำลังมีภัยคุกคามโดนแย่งงาน งานที่เกี่ยวกับการเตือนภัยถูกศูนย์เตือนภัยขอไปทำ ทั้งๆ ที่ยังไม่มีองค์ความรู้
ต่อข้อถามที่ว่าสถานการณ์น้ำท่วมในกรุงเทพฯ ปีนี้น่าเป็นห่วงมากแค่ไหน ผศ.ดร.คมสันกล่าวว่า เชื่อว่าระบบสูบน้ำ กทม.มีประสิทธิภาพพอ แต่ที่น่าห่วงคือ กทม.ตะวันออกที่อยู่นอกระบบระบายน้ำ แต่ปัญหาน้ำท่วมขังเวลาฝนตกหนักในตอนนี้เพราะมันไม่ไหลลงระบบท่อ ไม่อย่างนั้นสูบได้สบาย นั่นก็เพราะผลกระทบจากปีที่แล้วมีทรายจำนวนมากไปอุดตัน แม้จะมีการลอกท่อแต่จะให้หมดเป็นไปได้ยาก
ผศ.ดร.คมสันกล่าวถึงเรือผลักดันน้ำว่า เหมาะต่อการใช้ในพื้นที่คลองที่มีคอคอด ไม่ใช่เอาไปผลักในแม่น้ำเจ้าพระยาแบบปีที่แล้ว แล้วที่บอกว่า กทม.ตะวันออก หรือพื้นที่ปลายน้ำจะมีฟลัดเวย์แล้วจะใช้เครื่องดันน้ำดันลงไป จะดันได้อย่างไรในเมื่อความต่างระดับน้ำไม่มี ถ้าจะทำก็ดันแค่จุดเดียวไม่ได้ ต้องทำเป็นช่วงๆ เลย ซึ่งต้องใช้พลังงานมหาศาล โจทย์ต่างๆ ยังไม่เรียบร้อยเลย แต่งบ 3.5 แสนล้านบาทลงไปแล้ว สุดท้ายจะแก้ปัญหาของประเทศได้หรือเปล่าก็ยังไม่รู้
ที่น่าห่วงคือตอนนี้การเมืองนำวิชาการไปแล้ว แม้รัฐบาลบอกว่าดึงนักวิชาการบางคนมาช่วย มันไม่ใช่ เพราะต้องมองว่านักวิชาการต้องเป็นศูนย์รวมของนักวิชการ เอามาช่วยกันสังเคราะห์แก้ปัญหาให้ประเทศอย่างจริงๆ จังๆ การปรึกษาหรือเลือกใช้คนก็ต้องเอาที่เชี่ยวชาญจริงมา ไม่ใช่เอาแต่คนสนิท ส่วน กทม.ก็ต้องกลับมาดูเหมือนกัน ปีที่แล้วรู้กันอยู่ว่ามันมีทรายตามท่อ ต้องแก้ปัญหาและวางแผน ผู้บริหารระดับสูงไม่ควรใช้ข้ออ้างว่าเป็นเหตุสุดวิสัย
ผศ.ดร.คมสันยังได้กล่าวแนะนำด้วยว่า ถ้าตอนนี้มีฝนตกต่อเนื่องน้ำจะยังไม่สามารถระบายจากบริเวณทางเหนือไปใต้ได้ แต่มีทางแก้ไม่ให้ กทม.ตะวันออกจม นั่นคือรัฐบาลต้องร่วมมือกับกทม.ตรงคลองประเวศและคลองแสนแสบ คือแสนแสบต้องให้น้ำจากฝั่งตะวันออกระบายผ่านกทม.เข้าไปสู่ตรงจุดที่เป็นอุโมงค์ กทม.ต้องพร้อมเปิดเครื่องสูบที่คลองพระโขนงเต็มที่ จริงๆ แล้วเรื่องนี้เกิดขึ้นทุกปี ถ้า กทม.จะช่วยรับน้ำจากคลองแสนแสบที่อยู่ทางตะวันออก แล้วเปิดประตูน้ำเอามาพร่อง สูบออกตรงปลายจะสามารถช่วยประชาชนได้ ส่วนคลองประเวศก็เช่นกัน ลาดกระบังน้ำท่วมเพราะประตูน้ำคลองประเวศเปิดน้อยมาก ทำให้น้ำเอ่อเต็มเพราะลงไปตอนใต้ช้ามาก จังหวะที่ฝนหยุด กทม.ไม่ท่วมแล้วต้องเปิดประตูน้ำช่วย แต่ส่วนใหญ่ กทม.ไม่ได้ตั้งโจทย์ตรงนี้