ก๊วนแก้รัฐธรรมนูญเดินสายถกที่ชาติพัฒนา เชิญ ส.ว.นนท์ ม.เที่ยงคืนร่วม “สมชาย” คอนเฟิร์มผุดฉบับใหม่เป็นอำนาจของสภา แนะเลือก ส.ส.ร.เปิดร่างฯ ให้วิพากษ์ ก่อนลงประชามติ ด้าน “อุดมเดช” ปัดถ่วงเวลา ยันเข้าสภาหลังซักฟอก
วันนี้ (24 ก.ย.) ที่พรรคชาติพัฒนา เวลา 13.30 น. คณะทำงานของพรรคร่วมรัฐบาลศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงสมาชิกพรรคเพื่อไทยและพรรคชาติไทยพัฒนาเดินทางเข้าร่วมประชุมคับคั่ง เช่น นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายโภคิน พลกุล นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา นายวราเทพ รัตนากร นายภูมิธรรม เวชชยชัย นายอุดมเดช รัตนเสถียร นายสามารถ แก้วมีชัย นายพีรพันธุ์ พาลุสุข นายชูศักดิ์ ศิรินิล นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล โดยมีนายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา และร.ต.ประพาส ลิมปพันธุ์ ผอ.พรรคชาติพัฒนาให้การต้อนรับ อย่างไรก็ตาม การประชุมวันนี้มีการเชิญนายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี และนายสมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะนักวิชาการ ม.เที่ยงคืนเข้าให้คำแนะนำ
ทั้งนี้ นายสมชายเปิดเผยว่า การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นอำนาจของรัฐสภาที่สามารถกระทำได้ทั้งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและจารีตประเพณีที่ปฏิบัติกันสืบเนื่องมา แต่ควรเพิ่มหลักการมีส่วนร่วมและอำนาจตัดสินใจของปวงชนเข้าไปในกระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ โดยให้ประชาชนเลือกบุคคลเข้ามาทำหน้าที่ขั้นตอนในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) และการรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย โดยหลักอำนาจอธิปไตยของปวงชน ในขั้นตอนของการจะประกาศใช้รัฐธรรมนูญต้องมีการลงประชามติจากประชาชน โดยในขั้นตอนนี้ต้องเปิดโอกาสให้มีการเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญ การโต้แย้ง การวิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างกว้างขวางก่อนที่จะมีการลงประชามติเกิดขึ้น เพื่อให้เป็นประชามติที่ประชาชนได้ใช้ศักยภาพของตนเองได้อย่างเต็มที่
ขณะที่ ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 13.30 น. นายอุดมเดช รัตนเสถียร ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วม (วิป) รัฐบาล ในฐานะคณะกรรมการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญพรรคร่วมรัฐบาล กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า คณะทำงานได้เชิญนักวิชาการมาหารือเพิ่มขึ้นอีก 2 คน คือ นายดิเรก ถึงฝั่ง สมาชิกวุฒิสภา และนายสมชาย ปรีชาศิลปะกุล อธิการบดีจากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน โดยมีพรรคชาติไทยพัฒนาเป็นเจ้าภาพในการประชุม ส่วนความคืบหน้านั้น จากการประชุมในสัปดาห์ที่แล้ว นายโคทม อารียา ผอ.ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และนายวุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ได้ให้ความเห็นไว้อย่างน่าสนใจที่ส่วนใหญ่จะดูกันที่คำวินิจฉัยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งคำวินิจฉัยส่วนตน และคำวินิจฉัยกลางที่น่าจะเป็นประเด็นที่น่าจาสามารถนำไปคิดต่อยอดได้ โดยขณะนี้กำลังรวบรวมข้อมูลอยู่
“ยืนยันว่าไม่ได้ถ่วงเวลา ซึ่งในตารางงานของรัฐสภาก็มีตารางงานของมันอยู่ ทั้งการแถลงผลงานของรัฐบาล และหลังจากนั้นก็เป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจของรัฐบาล เมื่อเสร็จสองเรื่องนี้คงจะนำเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญมาพิจารณาต่อไปได้ว่าจะทำอย่างไร ถึงแม้ตอนนี้ว่าจะมีความเห็นอย่างไรก็ยังไม่ควรดำเนินการในตอนนี้ ไม่ควรจะเอาหลาย ๆ เรื่องมาปนกัน ซึ่งในส่วนนี้ นายโภคิน พลกุล ประธานคณะทำงานก็ได้ยืนยันแล้วว่าการวินิจฉัยจะสิ้นสุดในสมัยประชุมสภานี้” นายอุดมเดชกล่าว
นายอุดมเดชกล่าวต่อว่า ความเห็นของนักวิชาการส่วนใหญ่ที่ได้ร่วมหารือเป็นผู้ที่เคยให้ความเห็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ เราก็ขอความเห็นต่างๆ ที่อาจจะไม่ตรงหรือไม่ตรงกันบ้าง แต่เราก็ต้องเก็บไว้เป็นข้อมูล โดยส่วนใหญ่ที่เห็นสอดคล้องกัน จะเป็นมาตรา 237 ที่ไม่ว่าใครก็จะพูดถึงประเด็นนี้ อย่างไรก็ตามก็ยังเป็นเพียงความเห็น ส่วนจะดำเนินการอย่างไร ก็เป็นเรื่องของพรรคร่วมรัฐบาล ที่จะต้องหารือกันต่อไป