xs
xsm
sm
md
lg

ถกแผนแก้ รธน. เล็งย้อนคำ ปชป.ปิดปาก กรุยทางแก้ ม.237 ยาแรงยุบพรรค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โภคิน พลกุล (แฟ้มภาพ)
“คณะทำงานพรรคร่วม” สุมหัวร่างแผนแก้ รธน. เห็นพ้อง ม.237 ควรแก้ด่วน อ้างรบ.มาร์คเคยเห็นพ้องยุบพรรคไม่ชอบธรรม เตรียมดึงนักวิชาการ 5 สถาบันร่วมการันตีความชอบธรรม 24 ก.ย.นี้ ก่อนร่วมกันเดินหน้ารณรงค์

วันนี้ (17 ก.ย.) ที่พรรคเพื่อไทย มีการประชุมคณะทำงานของพรรคร่วมรัฐบาลศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเชิญนักวิชาการ เช่น นายโคทม อารียา ผอ.ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี ม.มหิดล พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผอ.สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า นายวุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า และนายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักวิชาการอิสระ เข้าร่วมหารือถึงการรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญตามมติที่ประชุมก่อนหน้านี้

นายโภคิน พลกุล ประธานคณะทำงานแถลงหลังการประชุมว่า ที่ประชุมเห็นว่าควรจะมีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยส่วนหนึ่งเห็นว่าควรมาจากตัวแทนประชาชน และส่วนหนึ่งเห็นว่า ส.ว.และส.ส.ก็สามารถยกร่างได้ ในขณะที่การรับเรื่องวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้นที่ประชุมเห็นว่าเป็นการขยายอำนาจตัวเองให้รับเรื่องได้โดยตรงซึ่งอาจนำไปสู่ความขัดแย้งได้ อย่างไรก็ตาม หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรานั้นเห็นพ้องต้องกันว่ามาตรา 237 มีจุดบกพร่องควรได้รับการแก้ไขเป็นอันดับแรก เพราะรัฐบาลสมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ก็เคยระบุเช่นเดียวกันว่าการยุบพรรคและตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคทั้งหมดไม่ถูกต้องตามหลักนิติธรรม

นายโภคินกล่าวต่อว่า ส่วนการลงมติในวาระ 3 นักวิชาการส่วนใหญ่ มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ทั้งนี้ได้ตั้งข้อสังเกตว่าก่อนที่จะมีการดำเนินการลงมติ ส่วนสำคัญ คือ ควรมีการรณรงค์ชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจ ซึ่งคาดว่าน่าจะใช้เวลา 2-3 เดือน

สำหรับการลงประชามตินั้นมองว่าหากรัฐบาลฝืนทำต่อไปอาจจะมีทั้งผลดีและเสีย เพราะมาตรา 165 จะจำกัดกรอบให้เป็นเรื่องของรัฐบาลเท่านั้น จำเป็นต้องดูให้รอบคอบและต้องทำประชามติเสียก่อนที่จะเป็นกฎหมาย โดยที่ประชุมเห็นพ้องตรงกันว่าจะต้องทำให้ประชาชน เข้าใจว่าเป็นวาระของทุกคนโดยไม่ใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม การประชุมคณะทำงานจะเชิญนายสมชาย ปรีชาศิลปกุล นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน และนายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี มาหารือที่พรรคชาติไทยพัฒนาในวันที่ 24 ก.ย. และครั้งถัดไปจะเป็นคิวของนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เมื่อหารือทั้ง 5 สถาบันแล้วจะมีการประชุมใหญ่ทั้งหมดอีกครั้งเพื่อความรอบคอบและเพื่อหาข้อสรุปที่ชัดเจน และหลังจากนั้นจะเดินหน้ารณรงค์ร่วมกันเพื่อความยุติธรรมของบ้านเมือง
กำลังโหลดความคิดเห็น