ปธ.คณะทำงานพรรคร่วมแก้ รธน. เผยเตรียมเชิญ 5 นักวิชาการหารือแนวทางแก้ รธน.ครั้งหน้า โวเตรียมเปิดตู้ ปณ.ใช้ชื่อ “รัฐธรรมนูญของประชาชน” หน้าตาเฉย อีกด้าน “วราเทพ” เตรียมร่างเนื้อหากล่อมประชาชน ยัดข้อหาฉบับปี 50 “ไม่เป็นธรรม-ไม่เป็น ปชต.” หลังพบส่วนใหญ่ไม่รู้เรื่อง และไม่รู้จะได้ประโยชน์อะไร
วันนี้ (10 ก.ย.) ที่พรรคชาติไทยพัฒนา นายโภคิน พลกุล ในฐานะประธานคณะทำงานพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อศึกษาการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 แถลงภายหลังการประชุมคณะทำงานว่า คณะทำงานพิจารณาได้ข้อสรุปแล้วว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีให้มีการทำประชามติก่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น คณะทำงานได้ดูทั้งคำวินิจฉัยกลางและส่วนตนของศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่าเป็นแค่การแนะนำ ไม่ใช่คำวินิจฉัยที่มีผลผูกพันกับองค์กรใดๆ ตามรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นคำแนะนำแต่เมื่อมีความสำคัญ ดังนั้นจึงต้องไปพิจารณาซึ่งคณะทำงานเห็นว่ามีการดำเนินต่อไปก็อยากฟังความเห็นต่างๆ ให้รอบคอบในประเด็น 1. กระบวนการในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ร่างโดยประชาชนจะเป็นอย่างไร 2. เมื่อศาลมีคำวินิจฉัยที่เป็นประเด็นคำแนะนำ ต้องดำเนินการอย่างไร 3. ข้อที่เป็นปัญหาของรัฐธรรมนูญปี 2550 อาทิ มาตราที่ไม่เห็นประชาธิปไตย หรือไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม มีอะไรบ้าง ประเด็นอะไรที่ควรมีการปรับปรุงแก้ไข
นายโภคินกล่าวว่า คณะทำงานจึงตกลงกันว่าให้เชิญนักวิชาการมาแสดงความคิดเห็น โดยเบื้องต้นมีจำนวน 5 คน ประกอบไปด้วยการประชุมวันที่ 17 ก.ย.นี้ ที่พรรคเพื่อไทยจะเชิญนายโคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธีมหาวิทยาลัยมหิดล และนายวุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า วันที่ 24 ก.ย. ที่พรรคชาติไทยพัฒนาจะเชิญนายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี และนายสมชาย ปรีชาศิลปะกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วันที่ 1 ต.ค. ที่พรรคเพื่อไทยจะเชิญนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ (นิด้า) มาร่วมหารือ นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้มีประชาชนและสื่อมวลชนสนใจ จึงเห็นร่วมกันว่าสมควรมีการเปิดเว็ปไซต์และตู้ ป.ณ.ชื่อว่า “รัฐธรรมนูญของประชาชน” ที่จะเป็นศูนย์รวมรวมความเห็นข้อเสนอแนะ โดยคาดหมายว่าจะเปิดใช้ได้ประมาณวันที่ 17 ก.ย.นี้ ทั้งนี้เพื่อรับฟังความเห็นได้รอบด้าน คณะทำงานจะมีเวลาได้จัดทำข้อสรุปอย่างรอบด้านในที่สุด
เมื่อถามว่า หากคำแนะนำจากนักวิชาการมีความเห็นที่แตกต่างจากคณะทำงาน จะดำเนินการอย่างไร นายโภคินกล่าวว่า ยังตอบไม่ได้ เพราะต้องรับฟังจากบุคคลหลากหลาย หากเห็นว่าเป็นคำวินิจฉัยที่ผูกพันก็ต้องทราบเหตุผลว่าเป็นอย่างไร เพราะคำวินิจฉัยของศาลไม่ได้เขียนว่าต้องทำประชามติ แค่บอกว่าควรทำทั้งนี้คำวินิจฉัยของศาลถ้าจะบังคับกับคู่กรณีต้องเป็นคำว่า “ต้อง” เท่านั้น อย่างไรก็ตามก็ต้องรับฟังความเห็นดูก่อน ยังไม่สามารถบอกได้ เมื่อถามว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 จะยังคงค้างอยู่ในการพิจารณาต่อไปใช่หรือไม่ นายโภคินกล่าวว่า ที่เรามาดูตรงนี้ ก็อยากให้รอบคอบมากที่สุดและอยากให้ประชาชนเข้าใจว่าเป็นอย่างไร มีอะไรที่เป็นประโยชน์ ต่อการเมืองการปกครอง หากรีบทำโดยที่ประชาชนไม่เข้าใจ มันคงไม่เป็นผลดีต่อประเทศชาติโดยรวม ส่วนจะทันสมัยการประชุมรัฐสภาครั้งนี้หรือไม่นั้น ในส่วนของคณะทำงานฯได้มีการตั้งกรอบว่าจะพยายามทำให้เสร็จภายในสมัยประชุมนี้ คงต้องขึ้นอยู่กับข้อมูล ถ้ารีบผลักดัน จะเกิดความไม่เข้าใจ และจะเกิดความขัดแย้งโดยไม่จำเป็น ซึ่งตนคิดว่าควรหลีกเลี่ยงดีกว่า
นายโภคินกล่าวด้วยว่า ขณะนี้นายวราเทพ รัตนากร กำลังร่างเนื้อหาที่จะไปรณรงค์ให้ประชาชนเข้าใจเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 50 โดยจะพยายามรณรงค์เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายในสมัยประชุมนี้ เบื้องต้นจากที่ได้ลงไปสำรวจให้ความรู้ประชาชนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ไม่รู้เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญและไม่รู้จะได้ประโยชน์อะไรจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนั้นจึงต้องไปรณรงค์ทำความเข้าใจว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะได้ประโยชน์อะไร เพราะรัฐธรรมนูญ 50 ไม่เป็นธรรมและไม่เป็นประชาธิปไตย ทั้งนี้ ส่วนตัวหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญอยากให้ระบุลงไปเลยว่า ห้ามมีการนิรโทษกรรมให้กับคนที่ยึดอำนาจ เพราะให้ถือว่าเป็นประเพณีการปกครอง ไม่ใช่ตัวกฎหมายที่จะมาล้มล้างได้