xs
xsm
sm
md
lg

โค้งสุดท้ายชิงประธานวุฒิสภา “นิคม”ยังไม่ชัวร์ชนส.ว.สรรหา

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวการเมือง

นิคม ไวยรัชพานิช
ขับเคี่ยวกันอย่างเข้มข้นในศึกชิงเก้าอี้ประธานวุฒิสภาคนใหม่ ทั้งฝ่ายสมาชิกวุฒิสภาระบบสรรหาและระบบเลือกตั้งจัดทัพปักหลักสู้กันเต็มที่

เบื้องต้นมีคู่ชิงที่สมน้ำสมเนื้อกันอยู่ 2 คนจากสองฝั่ง คือสายเลือกตั้งดัน นิคม ไวยรัชพานิช ส.ว.ฉะเชิงเทรา และรองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง ลงชิงเก้าอี้ ด้านฟากส.ว.สรรหา ก็ส่ง พิเชต สุนทรพิพิธ ลงสู้

ถือว่า เป็นคู่ชิงที่สูสีกัน เพราะแรงดันของสองคนนี้จากฝั่งสว.เลือกตั้งและสว.สรรหา ก็ขับดันกันสุดฤทธิ์

ทำให้การประชุมวุฒิสภาเพื่อลงมติเลือกประธานวุฒิสภาคนใหม่ในวันอังคารที่ 14 สิงหาคมนี้เวลา 09.30 น. ผลที่ออกมาน่าจะลุ้นกันสนุกสูสีพอสมควร

โดยเฉพาะเห็นได้ชัดว่ารอบนี้ ส.ว.เลือกตั้ง ตั้งมั่นจะเอาเก้าอี้ประธานสภาสูงกลับมาอยู่ฝั่งส.ว.เลือกตั้งให้ได้ หลังพลาดมาแล้ว 2 รอบให้กับประสพสุข บุญเดช และพลเอก ธีรเดช มีเพียร

ซึ่งเหตุที่พ่ายแพ้ก็เพราะส.ว.เลือกตั้งแตกคอกันเอง ไม่มีการเกาะกลุ่มกันชัดเจน ส่วนที่มีการจัดกลุ่มก็บ้างก็เป็นเพราะมีผลประโยชน์การเมืองเป็นตัวยึดโยง ความเหนียวแน่นในการจัดตั้งฐานเสียงเพื่อสู้กับส.ว.สรรหาจึงไม่มี

แต่ครั้งนี้ ส.ว.เลือกตั้งโดยเฉพาะตัวนายนิคม วางแผนปิดจุดอ่อนมาเป็นอย่างดี เห็นได้จากพยายามเจรจาล็อบบี้ในกลุ่มส.ว.เลือกตั้งให้อย่าส่งคนลงชิงชัยกันเอง เพื่อป้องกันไม่ให้เสียงส.ว.เลือกตั้งแตกออกเป็นเสี่ยง ๆ

ดูได้จากคำให้สัมภาษณ์ของ ดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรีซึ่งเป็นหนึ่งในส.ว.เลือกตั้งที่ถือว่าได้รับการยอมรับจากกลุ่มส.ว.เลือกตั้งและส.ว.สรรหามากกว่าตัวนิคมเสียอีก ก็ยอมรับเองว่านิคมมาหาและบอกกับดิเรกว่า ต้องการเป็นประธานวุฒิสภา

จากนั้นไม่รู้ว่า มีข้อตกลงการเจรจาเป็นอย่างไร ดิเรก จึงประกาศถอนตัวไม่ลงสมัครทั้งประธานวุฒิสภาและรองประธานวุฒิสภาโดยอ้างว่าเพื่อทำงานเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญและการสร้างความปรองดองต่อไป อันเป็นเหตุผลที่ดูจะลอยๆ พอสมควร

บรรดาเพื่อนส.ว.ด้วยกันเอง เลยเชื่อว่าน่าจะมีอะไรมากกว่านั้น ส่วนใหญ่เชื่อว่าอาจเป็นเพราะดิเรก ต้องการหลีกทางให้นิคม เพื่อไม่ให้คะแนนส.ว.เลือกตั้งแตกกันเอง

ส่วนฝ่ายส.ว.สรรหา ก็เดินเกมสู้เช่นกัน แม้จะรู้ดีว่ารอบนี้ไม่ง่ายเหมือนสองรอบที่ผ่านมา เนื่องจากปัจจัยหลายอย่าง

เช่นจำนวนเสียงส.ว.สรรหาครั้งนี้หายไปแล้วอย่างน้อยก็ 3 คน จากที่มีอยู่ 74 คน เพราะสองอดีตส.ว.สรรหาอย่าง สัก กอแสงเรืองและศรีสุข รุ่งวิสัย ก็โดนศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งเพิกถอนสมาชิกภาพไปแล้ว

ขณะที่ประจิตต์ โรจนพฤกษ์ ส.ว.สรรหา ที่ถูกกกต.ร้องต่อศาลฎีกาฯว่าขาดคุณสมบัติเพราะไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ที่ปทุมธานี ปรากฏว่าศาลฎีกาฯ นัดฟังคำพิพากษาวันอังคารที่ 14 ส.ค.55 ที่ตรงกับวันเลือกประธานวุฒิสภาพอดี แต่ก็ไม่มีผลใดๆ เพราะประจิตต์ หยุดพักการปฏิบัติหน้าที่มาตั้งแต่ศาลฎีกาฯรับคำร้องไว้นานแล้ว จึงทำให้ส.ว.สายสรรหา เสียงหายไปแล้วอย่างน้อยก็ 3 เสียง

อย่างไรก็ตาม แม้ส.ว.สรรหาจะเหลือ 71 คน และว่ากันตามจริงแล้ว ทั้งหมดในกลุ่มส.ว.สรรหาก็หาใช่ว่าจะเกาะกลุ่มกันเป็นเอกภาพ เพราะมีส.ว.บางคนในซีกสรรหาบางรายเช่นพวกอดีตตำรวจเก่า ก็ไปทำกิจกรรมการเมืองหรือมีคอนเน็คชั่นอยู่กับฝั่งส.ว.เลือกตั้งก็หลายคน แม้จะไม่มาก แต่ในจำนวนนี้ก็เห็นชัดว่า หนุนหลังนายนิคมเป็นหลัก

ทำให้เสียงส.ว.สรรหาก็ใช่ว่าจะแน่นปึ๊กหมด มีแตกกระจายบ้าง มีที่เกาะกลุ่มกันแน่นก็พวกส.ว.สรรหาที่เรียกตัวเองว่ากลุ่ม 40 สว. ซึ่งจริงๆ แล้ว ในกลุ่มนี้จะมีส.ว.เลือกตั้งเข้ามาร่วมแจมด้วยนับสิบคนอย่างที่เห็นบ่อยๆ ก็เช่น รสนา โตสิตระกูล สว.กรุงเทพมหานคร-นางสาวสุมล สุตะวิริยะวัฒน์ ส.ว.เพชรบุรี-นางพิกุลแก้ว ไกรฤกษ์ สว.พิษณุโลก พี่สาวจุติ ไกรฤกษ์ ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ เป็นต้น

ที่สำคัญหากถึงเวลาที่สภาสูงต้องตัดสินใจเรื่องสำคัญ ก็จะมีส.ว.เลือกตั้งหลายจังหวัดโดยเฉพาะในสายภาคใต้สิบกว่าคน ที่มีใกล้ชิดกับสายประชาธิปัตย์เป็นปูมหลังก็มักหนุนหลังหรือเทเสียงไปให้กลุ่มส.ว.สรรหาซีก 40สว.ดังกล่าว ซึ่งมีตัวหลัก ๆที่เป็นคนประสานงานการเมืองก็เช่น วันชัย สอนศิริ-สมชาย แสวงการ-พลเอกสมเจตน์ บุญถนอม

ทำให้จำนวนเสียงของส.ว.สายสรรหาในกลุ่มที่เกาะกันเหนียวแน่นจริงๆ และมีส.ว.เลือกตั้งรวมอยู่ด้วยที่หนุนหลัง พิเชต สุนทรพิพิธ จึงมีไม่น้อยกว่า 50 เสียง

ด้วยการเกาะกลุ่มกันของส.ว.ซีกดังกล่าวที่หนุนพิเชต สุนทรพิพิธ มันจึงเป็นที่มาของการที่ส.ว.เลือกตั้งสายนิคม-ดิเรก พยายามเจรจากับส.ว.กลุ่มนี้ เพื่อขอให้รอบนี้เปิดทางให้ส.ว.เลือกตั้งได้เป็นประธานวุฒิสภาบ้าง เพราะส.ว.เลือกตั้งก็เหลือวาระอยู่ในตำแหน่งแค่ต้นปี 2557 เท่านั้น

ขณะที่ส.ว.สรรหายังเหลืออีกหลายปี หากนิคมได้เป็นประธานวุฒิสภาก็เป็นไม่ถึงสองปีก็พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว ไม่ใช่ให้ส.ว.สรรหาเป็นประธานวุฒิสภาแฮทริคสามคนซ้อน จึงพยายามล็อบบี้ ไม่อยากให้ส.ว.สรรหาส่งคนลงสมัครชิงตำแหน่งประธานวุฒิสภา เพราะหากส.ว.สรรหาไม่ดันใครลงอย่างเป็นทางการ แล้วปล่อยให้ส.ว.เลือกตั้งแข่งขันกันเอง อย่างไรเสียก็คงมีคนลงแข่งกับนิคมไม่ถึงสองคน หากออกมาแบบนี้ นายนิคมก็แบเบอร์ได้เป็นประธานวุฒิสภาเพราะการจัดตั้งทำได้ดีกว่าส.ว.เลือกตั้งคนอื่น

หากนายนิคมได้เป็นประธานวุฒิสภา ตำแหน่งรองประธานวุฒิสภาที่ว่างลงของนิคมค่อยไปว่ากัน อาจให้เป็นส.ว.สรรหาได้โควต้านี้ไปก็ได้

แต่ทว่า การเจรจาดังกล่าวไม่เป็นผล เพราะกลุ่ม 40 ส.ว.ดังกล่าว ส่วนใหญ่ไม่ยอมรับในตัวนิคม ซึ่งเหตุผลส่วนใหญ่ที่ให้กันมาก็คือ มองว่านายนิคม มีปัญหาเรื่องความเป็นกลางทางการเมือง เห็นได้ชัดว่าอิงกับสายรัฐบาลเพื่อไทยเป็นหลัก จึงเกรงว่าหากวุฒิสภาถูกมองว่าเป็นหน่อเนื้อเดียวกับสภาผู้แทนราษฏรที่เพื่อไทยกุมเสียงข้างมากอยู่ จะทำให้วุฒิสภากลับไปเหมือนสมัยส.ว.ปี 43 ที่ถูกมองว่าเป็นสาขาของทักษิณ ชินวัตร

ดังนั้นกลุ่ม40ส.ว. จึงต้องเข็นคนลงสู้กับนิคมให้ได้ ยากที่จะยอมเปิดทางให้

ผนวกกับ ในวุฒิสภาเองคนก็รู้กันดีว่าส.ว.เลือกตั้งด้วยกันเอง ก็มีหลายคนที่ไม่ชอบตัวนิคมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ไม่ใช่แค่ในกลุ่ม 40-50ส.ว.ที่ประกาศตัวอยู่ฝายตรงข้ามนิคมและดันนายพิเชตลงชิงชัย ทำให้เส้นทางขึ้นสู่ตำแหน่งประธานวุฒิสภาของนิคม ไม่ราบรื่นอย่างที่คิดหลัง ส.ว.สรรหาประกาศส่งพิเชตลงมาแข่งขันด้วย

นิคม จึงพยายามสู้สุดแรง เห็นได้จากการไปปิดห้องคุยกันที่รัฐสภาของพวกส.ว.เลือกตั้งกลุ่มหนึ่ง เพื่อหารือเรื่องการส่งคนลงชิงตำแหน่งประธานวุฒิสภาเมื่อช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา

โดยผลการหารือเบื้องต้นก่อนจะคุยกันรอบสุดท้าย ได้ข้อสรุปอย่างไม่เป็นทางการว่า ส.ว.เลือกตั้งคุยกันแล้วเพื่อให้รอบนี้ส.ว.เลือกตั้งได้เป็นประธานวุฒิสภา ทำให้จากเดิมที่มีส.ว.เลือกตั้งอีก 2 คนจะลงแข่งขันด้วยคือ นายเกชา ศักดิสมบูรณ์ ส.ว.ราชบุรี และนายชูชัย เลิศพงศ์อดิศร ส.ว.เชียงใหม่

ผลการหารือก็ได้ข้อสรุปว่า ส.ว.สายเลือกตั้งจะเสนอชื่อเพียงบุคคลเดียวคือ นายนิคม ส่วนเกชาและ นายชูชัย ได้ถอนตัวออกจากการร่วมลงคัดเลือก เพราะไม่อยากให้เกิดการตัดคะแนนกันเองในสายเลือกตั้ง

ทั้งที่ก่อนหน้านี้ มีข่าวลือในวุฒิสภาว่า มีบางฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามกับพวกกลุ่มส.ว.สรรหา และมีอำนาจการเมืองอยู่ในเวลานี้ พยายามหนุนหลังส.ว.เลือกตั้งบางคนให้เข้ารับตำแหน่งประธานวุฒิสภา

พอมีข่าวลือนี้ออกมา ผู้คนก็จับตามองกันมากและส่วนใหญ่เล็งไปที่ ชูชัย ที่เป็นส.ว.เชียงใหม่บ้านเกิดของตระกูลชินวัตร แต่ก็มีการวิเคราะห์กันว่าข่าวลือนี้เป็นไปได้ยาก เพราะขนาดนิคมที่ถูกมองว่าใกล้ชิดกับฝ่ายการเมืองยังโดนพวกเดียวกันในวุฒิสภาต้านอย่างหนัก หากข่าวที่ว่ามีบางฝ่ายดัน ชูชัย คนบ้านเดียวกับทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นประธานวุฒิสภา กระแสต้านจะมีมากกว่านิคมเสียอีก ผนวกกับบารมีการเมืองก็ยังเป็นรองนิคมอยู่มาก

อาจด้วยเหตุนี้ก็เป็นได้ จึงทำให้ ชูชัย ประกาศถอนตัวพร้อมกับเกชา ในที่สุดเพื่อเปิดทางให้นิคมเต็มที่

เมื่อเป็นแบบนี้ นิคม ก็เบาใจได้ระดับหนึ่งแล้วว่า สุดท้ายเขาจะสู้กับพิเชต คนเดียว โดยไม่ต้องกังวลว่าคะแนนจะหายไปหากมีส.ว.เลือกตั้งคนอื่นมาแข่งขันด้วยอีก

หากทุกอย่างเป็นไปตามนี้ไม่มีการพลิกผันเอาในช่วงโค้งสุดท้ายหรือวันประชุมวุฒิสภา 14 สิงหาคม ชื่อส.ว.เลือกตั้งที่เคยมีข่าวจะลงแข่งขันทั้งดิเรก-เกชา-ชูชัย ก็จะไม่ถูกเสนอชื่อขึ้นมา หรือหากมีใครแหกโผเสนอชื่อทั้งดิเรก-เกชา-ชูชัย ขึ้นมา เจ้าตัวทั้งหมดก็ต้องประกาศถอนตัวตามที่ได้มีการตกลงกันไว้

การแข่งขันกันอย่างเข้มข้นเพื่อชิงเก้าอี้ประธานสภาสูง จึงทำให้เชื่อได้ว่า ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์นี้สามวันคือ 11-13 สิงหาคม คงมีการต่อรองล็อบบี้กันอย่างหนักในกลุ่มส.ว.ทั้งหมดไม่ว่ากลุ่มไหนต่อกลุ่มไหน

ส่วนใครจะเข้าวิน ระหว่าง นิคมและพิเชต หรือจะมีตัวสอดแทรกคนอื่นโผล่ขึ้นมาในวันประชุมวุฒิสภา ก็ต้องดูผลการลงมติลับของวุฒิสภาในวันอังคารที่ 14 ส.ค.นี้
พิเชต สุนทรพิพิธ
กำลังโหลดความคิดเห็น