การเมืองระอุเดือนสิงหาฯ ฝ่ายค้าน-รัฐบาล เตรียมสู้เดือดเกมในสภา-นอกสภา พลพรรคเพื่อไทยเสียงเดียวกันมุ่งแก้มาตรา 68 ตัดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญเป็นอันดับแรก จากนั้นเดินหน้าแก้ รธน.ต่อ ส่วน ปชป.เชื่อเพื่อไทยใช้วิธีสับขาหลอกรอทีเผลอดัน พ.ร.บ.ปรองดองก่อน ขณะที่ฝ่ายค้านเตรียมวอล์กเอาต์คัดค้าน จับตาศึกเลือกตั้งประธานวุฒิ “ทักษิณ” ส่งตัวแทนเจรจาแลกผลประโยชน์ ส.ว.บางส่วน ดัน “นิคม-ดิเรก” ขึ้นช่วย “ขุนค้อน” คุมเกมในรัฐสภา ทั้งผลักดันปรองดอง-แก้รัฐธรรมนูญ เตรียมใช้เป็นดาบยื่นถอดถอนฝ่ายตรงข้าม
เอาอีกแล้ว! การประกาศว่าอีกไม่นานจะได้กลับบ้านของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในโอกาสวันเกิดครบ 63 ปี ในวันที่ 26 กรกฎาคมที่ผ่านมา
“อีกไม่กี่วันจะได้กลับบ้านแล้ว ที่ผ่านมาผมได้วีซ่ามาทุกประเทศแล้ว เหลือแต่ประเทศไทยที่ไม่รู้ว่าใครจะเป็นผู้ออกให้ แต่จะลองขอไป”
การเมืองที่เหมือนนิ่งๆ ไปก็เริ่มกลับมา “ร้อน” อีก
ประเด็นที่ทำให้ร้อน ไม่ใช่แค่ พ.ต.ท.ทักษิณ พูดว่าจะกลับบ้าน แต่เป็นเพราะเกมการเมืองที่จะเอา พ.ต.ท.ทักษิณ กลับบ้านมาให้ได้นั้น กำลังเดินหน้าเต็มพิกัด แม้จะยังมีศาลรัฐธรรมนูญเป็นอุปสรรคใหญ่ของกระบวนการล้มล้างความผิด ทำลายกระบวนการยุติธรรมของกลุ่มผู้สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ตาม
จับตาเกมการเมืองทั้งในสภาฯ นอกสภาฯ รวมทั้งเกมการใช้กฎหมายในการเอาผิดฝ่ายตรงข้าม นับแต่วันที่ 1 สิงหาคมไปจะยิ่งเข้มข้น!
เริ่มจากการที่พรรคเพื่อไทยมีมติเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2555 ว่าจะมีการดำเนินการ 4 ขั้นตอนคือ 1. จะมีการคาร่างรัฐธรรมนูญไว้ 2. จะยังไม่เดินหน้าการลงประชามติ 3. รณรงค์ให้ประชาชนเข้าใจว่าทำไมถึงต้องแก้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 โดยใช้กลไกของกระทรวงมหาดไทยในการชี้แจงก่อนที่จะทำการลงประชามติ และ 4. ตั้งคณะกรรมาธิการร่วมจากพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อหารือว่าจะมีการแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา หรือแก้ทั้งฉบับโดยมุ่งเน้นสาระในการแก้รัฐธรรมนูญว่าจะแก้ไขอย่างไร และสภาร่างรัฐธรรมนูญจะตั้งขึ้นมาอย่างไร
ดูเหมือนว่า มาตรา 68 จะเป็นเงื่อนไขแรกสุดสำหรับการเดินหน้าในการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ของพรรคเพื่อไทย
‘เพื่อไทย’ยันแก้ ม.68 ก่อน
สุชาติ ลายน้ำเงิน รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ระบุว่า สถานการณ์ปัจจุบันที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณากฎหมายนั้นอยู่ในขั้นตอนใดบ้างเริ่มตั้งแต่ พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ พ.ศ.นั้น กำลังรอพิจารณาขั้นรับหลักการในวาระแรก และร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมก็อยู่ในระหว่างการพิจารณาร่วมกันของรัฐสภาในวาระ 3 แต่การที่มีความขัดแย้งเกิดขึ้นในสภาฯ อย่างหนักเมื่อช่วงก่อนปิดสภาฯ สมัยที่แล้ว และการที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรานั้นจึงต้องพิจารณากันอย่างรอบคอบ
สำหรับ พ.ร.บ.ปรองดองฯ จะถอนหรือไม่นั้น ไม่ใช่เรื่องในอำนาจของนายกรัฐมนตรี เพราะเรื่องบรรจุแล้วในสภาฯ ดังนั้น การถอนหรือไม่ถอนเรื่องนี้ออกจากการพิจารณาของสภาฯ จึงจะต้องเป็นการพิจารณาร่วมของรัฐสภาเท่านั้น
ดังนั้นอันดับแรกต้องมีผู้ยื่นขอถอน พ.ร.บ.ปรองดองก่อน และให้ที่ประชุมพิจารณาว่าจะมีการถอนหรือไม่ โดยยืนยันว่าระบบสภาฯ จะต้องฟังเสียงข้างมาก
“ไม่ว่านายกฯ หรือพรรคเพื่อไทย ไม่มีใครมีอำนาจถอนเรื่องนี้ออกจากสภาฯ ทั้งนั้น นอกจากสภาฯ จะทำการอภิปรายว่าจะถอน หรือไม่ถอน ถ้าไม่มีใครยื่นถอน ก็ต้องคงเรื่องนี้ไว้”
ทั้งนี้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้แสดงความเห็นไว้แล้วว่า สำหรับ พ.ร.บ.ปรองดองฯ ถ้าขณะนี้บ้านเมืองยังไม่มีการปรองดองก็ควรปล่อยเรื่องนี้ทิ้งไว้ก่อน ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน
ตรงนี้จึงยืนยันได้ว่า พ.ร.บ.ปรองดอง น่าจะมีการชะลอออกไปก่อน และมีการหารือเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญให้เรียบร้อยก่อน โดยยึดหลักว่าจะฟังคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้แก้เป็นรายมาตรา ซึ่งพรรคเพื่อไทยได้หารือกันเบื้องต้นแล้วว่า มาตราที่จะแก้นั้นต้องเป็นมาตราที่ไม่เกี่ยวกับภาคประชาชน
“เราต้องฟังศาลรัฐธรรมนูญ ไม่เช่นนั้นก็เป็นเหมือน พร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ ที่โดนคดีหมิ่นประมาทศาลรัฐธรรมนูญล่าสุด”
สำหรับมาตราที่จะมุ่งแก้เป็นอันดับแรกนั้น คือ มาตรา 68 เรื่องอำนาจรับคำฟ้องร้อง ว่าควรจะให้มีการฟ้องผ่านอัยการสูงสุดได้อย่างเดียว เพื่อป้องกันความวุ่นวายที่จะเกิดขึ้นอีก
“ส่วนการเมืองนอกสภาฯ นั้น พรรคเพื่อไทยจะดูว่ากลุ่มที่มาคัดค้านเป็นคนกลุ่มไหน ถ้าเป็นกลุ่มเดิมๆ เป็นละครตัวเก่า ก็ไม่อยากสนใจ จะเดินหน้าทำงานต่อ” รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีกล่าว
เช่นเดียวกับ จิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า มาตรา 68 เป็นมาตราที่ต้องแก้ไขก่อนเป็นลำดับแรก เนื่องจากไม่มีกระบวนการกลั่นกรอง แล้วค่อยแก้ไขมาตราอื่นๆ ทีหลัง
“ในฐานะที่เป็นผู้โหวตด้วย ลงมติวาระ 1,2 แล้วก็ยื่นญัตติด้วย คิดว่ามาตรา 68 ต้องแก้ก่อนเป็นอันดับแรก ถึงขนาดยังต้องมานั่งตีความว่าส่งอัยการก็ได้หรือส่งศาลก็ได้อย่างนี้มันก็สับสน อีกหน่อยใครก็ร้องศาลตรงไปทุกเรื่อง ไม่มีกระบวนการกลั่นกรอง นี่ก็จะลำบาก ส่วนมาตราอื่นๆ ก็ต้องไปว่ากัน”
อย่างไรก็ดี พรรคเพื่อไทย ได้มีการหาเสียงไว้ว่าจะมีการแก้รัฐธรรมนูญ จึงต้องเดินหน้าต่อไป เพียงแต่จะแก้รายมาตรา หรือแก้ทั้งฉบับ เป็นเรื่องที่จะมีการหารืออีกครั้งหนึ่ง
“การแก้รายมาตราจะช้าเกินไปไหม หรือถ้าเกือบช้าเราควรจะทำประชามติเพื่อขอแก้ทั้งฉบับหรือไม่ พรรคต้องพิจารณาให้รอบคอบว่าการแก้รายมาตรา เราจะแก้มาตราไหน”
วิชาญ มีนชัยนันท์ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย บอกว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่คาอยู่ในสภาฯ จะเป็นเรื่องแรกที่จะมีการพิจารณาต่อ แต่ความชัดเจนคือคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจในการแก้ทั้งฉบับได้ แต่ต้องทำประชามติก่อน และแก้รายมาตราได้ ซึ่งมาตรา 68 จะเป็นมาตราแรกที่น่าจะมีการแก้ไข
ทั้งนี้ไม่กังวลว่าจะถูกคัดค้านต่อต้านจากพรรคฝ่ายค้านในสภาฯ เนื่องจากการป่วนสภาฯ ครั้งที่แล้วได้เป็นบทเรียนสำคัญทำให้ภาพของสภาเสียหายอย่างมาก ดังนั้นต่อจากนี้ไปทุกคนต้องยึดข้อบังคับสภาฯ เป็นหลัก และต้องระวังไม่ให้เกิดภาพแบบนั้นขึ้นมาอีก ทั้งนี้ยังได้มีการตั้งกรรมการตรวจสอบความถูกต้องและจริยธรรมเพื่อป้องกันเหตุวุ่นวายที่จะเกิดขึ้นในสภาฯ ในสมัยที่กำลังจะเปิดประชุมสภาด้วย
ปชป.หวั่นรัฐบาลดันปรองดองก่อน
ด้าน อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย ์กล่าวว่า ทิศทางการเดินเกมของพรรคเพื่อไทยจะยังใช้วิธีเล่นไพ่คนละใบ แต่ทั้งหมดเชื่อว่าพรรคเพื่อไทยจะยังเดินหน้า พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรองดองแห่งชาติ พ.ศ. และลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ต่อไป โดยจะรอทีเผลอ และเชื่อว่าจะมีการเดินหน้า พ.ร.บ.ปรองดองก่อนการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 291
โดยขณะนี้ พ.ร.บ.ปรองดองฯ ถือว่าอยู่ในสถานะที่รัฐสภาบรรจุวาระการประชุมไปแล้ว แต่ที่ยังเดินหน้าไม่ได้ เพราะฝ่ายค้านไม่ยอม และช่วงก่อนมีความเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่คัดค้านเรื่องนี้อย่างหนัก จนเกิดกระแสต่อต้านจากประชาชนจำนวนไม่น้อย ทำให้ฟากรัฐบาลหยุดเรื่องนี้ไว้ก่อน แต่ก็วางใจไม่ได้เพราะไม่มีการถอนเรื่องนี้ออกจากเรื่องที่บรรจุไว้แล้วในสภาฯ จากทั้งเจ้าของเรื่องคือ พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ประธานกรรมาธิการปรองดอง และต้องได้รับความยินยอมจากที่ประชุมสภาฯ ซึ่ง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลและพรรคร่วมคงไม่ยอม
“สัญญาณที่น่าเป็นห่วงคือ ประธานสภาฯ (สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์) ทำท่าไม่รู้ไม่ชี้ ไม่สนใจ แถมในวันที่ 1 สิงหาคมที่จะเป็นการเปิดประชุมสภาฯ ยังไม่มีการบรรจุเรื่องนี้ในวาระการประชุม แต่ไม่ใช่ว่าวันอื่นจะไม่มี”
อรรถวิชช์วิเคราะห์ว่า พรรคเพื่อไทยจะเดินหน้า พ.ร.บ.ปรองดอง แน่นอน โดยขณะนี้ ส.ส.หลายคนได้มีการมองแล้วว่า การเปิดประชุมสภาฯ ในวันที่ 1 สิงหาคมนั้นจะยังไม่ใช่การประชุมทั่วไป หรือเป็นการประชุมครั้งแรก แต่เป็นเพียงการประชุมนัดพิเศษที่สามารถทำได้ตามข้อบังคับการประชุมสภาฯ ข้อที่ 12 ที่ระบุไว้ว่าการเปิดประชุมสภาฯ ทั่วไปจะสามารถเปิดได้ภายใน 10 วัน หลังจากมีประชุมนัดพิเศษ ดังนั้นจึงคาดการณ์ว่าการเปิดประชุมสภาฯ ทั่วไปที่แท้จริงน่าจะมีการจัดประชุมในวันที่ 8 สิงหาคมแทน
“วันที่ 1-10 สิงหาคมถือว่าเป็นช่วงอันตราย ที่แม้ประธานสภาฯ จะมีท่าทีไม่สนใจ แต่คาดว่าจะมีการนำเสนอ พ.ร.บ.ปรองดองในช่วงนี้”
สิ่งที่ต้องจับตาคือ วันเปิดประชุมสภาฯ 1 สิงหาคมนี้ ฝ่ายค้านจะมีการเสนอเพิกถอน พ.ร.บ.ปรองดองหรือไม่ ซึ่งขณะนี้ทางพรรคประชาธิปัตย์ก็ยังไม่ได้มีข้อสรุปในเรื่องดังกล่าว และทางฝ่ายรัฐบาลจะใช้วิธีนำกฎหมายอื่นขึ้นมาพิจารณาก่อน เพื่อดูท่าทีที่ประชุมสภาฯ ว่าจะโหวตกฎหมายอื่นก่อนไหม แต่เชื่อว่า ส.ส.ที่มาจากกลุ่มคนเสื้อแดงจะไม่ยอมให้มีการเลื่อนพิจารณา พ.ร.บ.ปรองดองออกไป
“เพราะ พ.ร.บ.ปรองดองยังไม่มีการถอนออกไป ดังนั้นจะกลับมาสู่การพิจารณาเมื่อไรก็ได้ ตรงนี้สิน่าเป็นห่วง”
ส่วนการแก้รัฐธรรมนูญนั้น เป็นเรื่องที่มองว่าพรรคเพื่อไทยกำลังรอทีเผลอ ว่าจะปล่อยให้มีการลงมติวาระ 3 หรือไม่ หรือจะไปทำประชามติก่อน หรือจะยกเลิกไปก่อนแล้วเริ่มต้นกระบวนการใหม่ในการพิจารณาแก้ไขเป็นรายมาตรา
“ท่าทีของพรรคเพื่อไทยส่วนนี้เหมือนกับท่าทีของประธานสภาฯ ในการทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ และประกาศว่าพรรคไม่มีจุดยืน แต่คาดว่าจะมีการใช้วิธีลักไก่โหวต”
รอทีเผลอ-ลักไก่แก้รธน.
ส่วนการลงมติแก้รัฐธรรมนูญนี้ เชื่อว่าพรรคเพื่อไทยจะเดินหน้าหลังการโหวต พ.ร.บ.ปรองดองฯ เนื่องจากยังไม่ได้เข้าบรรจุระเบียบวาระ แล้วแต่ประธานสภาฯ จะบรรจุหรือไม่ เพราะเป็นอำนาจของประธานสภาฯ แต่หากมีการบรรจุการแก้รัฐธรรมนูญในช่วงนี้ ก็ถือว่าเป็นการเดินเกมที่พร้อมจะแตกหัก คือโยนเรื่องทั้งหมดให้รัฐสภาเป็นผู้ตัดสินใจ
“ถ้าตอนนี้เป็นประธานสภาฯ คนอื่น เชื่อว่าจะมีการนำเรื่องนี้ออกไป แล้วทำหนังสือถามนายกรัฐมนตรีว่าจะถอนเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญออกไปก่อนไหม เพราะขัดกับมติ ครม. แต่ก็ห่วงว่าประธานสภาฯ คนนี้จะมีการแอบบรรจุเข้าเป็นวาระการประชุมสภา และโยนถามที่ประชุมฟลอร์ใหญ่ว่า จะมีการโหวตวาระ 3 ดีหรือไม่ ซึ่งคาดว่า ส.ส.ฝ่ายคนเสื้อแดงจะลุกขึ้นยืนและเสนอให้มีการโหวตวาระ 3 โดยขอเสียงรับรองจากที่ประชุม 20 เสียงทันที”
ทั้งนี้ ในด้านพรรคฝ่ายค้านยืนยันว่าจะคัดค้านเรื่องนี้ให้ถึงที่สุด โดยจะทำการ walk out หรือเดินออกจากที่ประชุม ไม่ร่วมพิจารณากฎหมายฉบับนี้ด้วย
ส่วนการต่อสู้ของภาคประชาชน ก็เชื่อว่า จะไม่ยอมเช่นเดียวกัน โดยวันที่ 1-10 สิงหาคมนี้ หากพรรคเพื่อไทยนำ พ.ร.บ.ปรองดอง หรือเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็เชื่อว่าจะมีการคัดค้านอย่างรุนแรงของภาคประชาชนทันทีเช่นกัน
“พรรครัฐบาลเขาจะใช้วิธีดูท่าที ถ้ากระแสต่อต้านแรงเขาก็จะรอ แต่ไม่ถอน พ.ร.บ.ปรองดอง และเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ เป็นลักษณะรอให้คู่ต่อสู้หมดแรงไปเอง เรียกว่าความอ่อนเอาชนะแข็งแกร่ง”
จับตาศึกเลือกตั้ง ปธ.วุฒิ-ทักษิณสู้ไม่อั้น
ขณะเดียวกันในเรื่องของศึกในสภาฯ ยังมีอีกศึกที่ห้ามกะพริบตา คือ ศึกเลือกตั้งประธานวุฒิสภา ที่กำลังจะมีการเลือกตั้งแทน พล.อ.ธีรเดช มีเพียร อดีตประธานวุฒิสภา ที่ถูกศาลอาญามีคำสั่งพิพากษาลงโทษจำคุก 2 ปี กรณีขึ้นเงินเดือนให้ตัวเองเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ส่งผลทำให้ตำแหน่งประธานวุฒิสภาว่างลงในทันทีตามผลของรัฐธรรมนูญมาตรา 124 (4)
ศึกครั้งนี้สำคัญต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ อย่างไร?
แหล่งข่าวสมาชิกวุฒิสภา เปิดเผยว่า ในจำนวน ส.ว. 149 คนนั้น ประกอบด้วย ส.ว.เลือกตั้ง และ ส.ว.สรรหา ในกลุ่มของ ส.ว.สรรหา มีส่วนหนึ่งที่รวมกลุ่มเป็น 40 ส.ว. และ ส.ว.ที่มาจากองค์กรอิสระ เมื่อรวมกับ ส.ว.เลือกตั้งที่เป็นของประชาธิปัตย์แล้วอีก 10 คน ก็จะมี ส.ว.กลุ่มที่คัดค้าน พ.ร.บ.ปรองดองฯ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่จำนวนหนึ่งพอๆ กับ ส.ว.ในส่วนที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยที่ขณะนี้มีอยู่ประมาณ 76 เสียง
โดยตำแหน่งประธานวุฒิสภานั้น มีความสำคัญมาก เพราะตามกฎระเบียบการประชุมสภาฯแล้ว ประธานวุฒิสภาจะไปทำหน้าที่เป็นรองประธานรัฐสภา ซึ่งมีนัยที่จะมีบทบาทสูงมากในการเป็นฝ่ายหนุนประธานรัฐสภาในการเดินหน้าเกมการเมืองให้ไปในทิศทางเดียวกัน
ขณะเดียวกันพรรคฝ่ายรัฐบาลต้องการที่จะผลักดันงาน 3 ส่วนจึงจำเป็นที่จะต้องได้คนที่พรรครัฐบาลสั่งได้ไปนั่งแทน พล.อ.ธีรเดช มีเพียร อดีตประธานวุฒิสภา ซึ่งงานทั้ง 3 ส่วนมีความสำคัญอย่างยิ่ง ประกอบด้วย 1. การคุมเกมในการประชุมสภาฯ เพื่อเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ และผลักดัน พ.ร.บ.ปรองดอง 2. เนื่องจากการที่วุฒิสภามีอำนาจในการยื่นถอดถอนองค์กรที่สำคัญต่างๆ โดยเฉพาะองค์กรอิสระต่างๆ รวมถึงนักการเมืองฝ่ายตรงกันข้ามได้ ดังนั้นการคุมอำนาจในวุฒิสภาได้จึงมีความสำคัญ ที่แม้จะทำไม่สำเร็จแต่ก็เป็นการข่มขู่ได้เช่นกัน และ 3. คือเป็นตัวช่วยผลักดันกฎหมายต่างๆ ที่ฝ่ายรัฐบาลเห็นว่าสำคัญ
“เกมหลักใหญ่คือการแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา เพราะคิดว่ารัฐบาลอาจไม่อยากเสี่ยงที่จะเดินหน้าการลงมติแก้รัฐธรรมนูญวาระ 3 แต่จะใช้วิธีแก้รัฐธรรมนูญรายมาตราแทน”
ส่วนมาตราที่จะมีการแก้ไขแน่นอนจะมี 3 มาตราสำคัญคือ มาตรา 68 จะมีการแก้ไขให้การยื่นเรื่องร้องเรียนกับศาลรัฐธรรมนูญนั้นต้องผ่านอัยการสูงสุด, ที่มาของ ส.ว. จะแก้ให้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด เพราะไม่สามารถคุม ส.ว.สรรหาได้ทั้งหมด เพราะมาจากองค์กรอิสระ ซึ่งมีความตั้งใจที่จะแก้มานานแล้วตั้งแต่คณะกรรมการสมานฉันท์มีข้อเสนอนี้ และมาตรา 237 แก้เรื่องการยุบพรรคการเมืองด้วย
“เกมชิงตำแหน่งประธานวุฒิฯ จะดุเดือดมาก โดยจะมีการเจรจาแลกผลประโยชน์ทุกอย่างเพื่อให้ ส.ว.ที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยได้เข้าสู่ตำแหน่งสำคัญนี้ โดยมุ่งสนับสนุนคนที่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นหลัก”
3 แคนดิเดตชิง ปธ.วุฒิ เพื่อไทยดัน “นิคม-ดิเรก”
ในการเลือกตั้งครั้งนี้ คาดว่าจะมีคนเข้าสู่การคัดเลือก 3 คนได้แก่ นิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภา, ดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี และพิเชต สุนทรพิพิธ ส.ว.สรรหา อดีตผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา
“2 คนแรกเป็นฝ่ายสนับสนุนให้มีการแก้รัฐธรรมนูญชัดเจน แต่คนสุดท้ายเป็นฝ่ายไม่เห็นด้วย การสู้ศึกครั้งนี้ต้องจับตามองว่า ฝ่ายไหนจะแตกคอกันเองก่อน เพราะทั้ง นิคม และดิเรกนั้น ต่างฝ่ายต่างอยากเป็นประธานวุฒิสภาด้วยกันทั้งคู่ ถ้ามีการแตกคอกันก่อน คะแนนเสียงก็จะแตก เป็นโอกาสให้ พิเชต มีสิทธิชนะการโหวตมาเป็นประธานวุฒิสภา แต่ทางฝ่ายรัฐบาลก็จะมีความพยายามเต็มที่ที่จะดึงคะแนนเสียงที่คัดค้านให้ไปสนับสนุนคนของตัวเองเช่นกัน ดังนั้นจึงยังไม่รู้ว่าใครจะได้เป็นประธานวุฒิสภาคนต่อไป”
อย่างไรก็ดี เชื่อว่าการโหวตประธานวุฒิสภาครั้งนี้จะแตกต่างจากครั้งอื่นๆ ที่จะไม่ได้ผลสรุปในครั้งแรก เพราะคะแนนโหวตจะไม่เกินกึ่งหนึ่งในคราวเดียว
นอกจากนี้ในกลุ่ม ส.ว.ต่างๆ มีการพูดคุยและลือกันอย่างหนาหูด้วยว่า น้องเขยอดีตนายกฯ ได้รับมอบหมายจากนายใหญ่ให้เข้ามาจัดการให้ผลการเลือกตั้งประธานวุฒิสภาครั้งนี้เป็นไปอย่างที่ตนต้องการ โดยมีกระแสข่าวอีกว่าในวันครบรอบวันเกิด พ.ต.ท.ทักษิณเมื่อวันที่ 26 ก.ค.ที่ผ่านมานั้น มี ส.ว.3 คนที่เดินทางไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณ ด้วย โดยมีผู้ชาย 2 คน และผู้หญิง 1 คน
ด้าน พลเอกสมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ไม่ทราบว่ามีการล็อบบี้ ส.ว.คนไหนในการเลือกตั้งประธานวุฒิสภาครั้งนี้ แต่เชื่อว่าจะมีความพยายามยึดตำแหน่งนี้ให้เป็นคนที่สนับสนุนฝ่ายตนเองแน่นอน ซึ่ง ส.ว.ที่มีชื่อเป็นแคนดิเดต ก็มีบางคนที่มีความพยายามตอบสนองพรรคการเมือง โดยแสดงออกทางความคิดเห็นในสภาฯ มาหลายครั้งแล้ว
“โดยระบอบทักษิณ จะมีความพยายามในการยึดทุกอย่างที่คิดว่าจะเป็นกระบวนการขัดขวางการทำหน้าที่ในการตรวจสอบอยู่แล้ว แต่ ส.ว.ทุกคนก็จำเป็นต้องเข้าใจหน้าที่ว่าเป็นสภาผู้ทรงคุณวุฒิ ไม่เกี่ยวกับการเมือง ไม่เช่นนั้นจะขัดเจตนารมณ์ของการดำรงตำแหน่ง ส.ว.”
ขณะที่ สมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า การเลือกตั้งประธานวุฒิสภาครั้งนี้มีความสำคัญมาก เพราะประธานวุฒิสภาจะไปทำหน้าที่เป็นรองประธานรัฐสภา อีกทั้งมองว่าตำแหน่งประธานสภาฯ ของ สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ น่าจะอยู่ได้ไม่นานนัก จากกรณีคลิปเสียงวันเกิดที่เพชรบูรณ์ การมีประธานวุฒิสภามาทำหน้าที่เสริมในการพิจารณาร่วมการแก้ไขรัฐธรรมนูญจึง มีความสำคัญอย่างมาก
“คนลำดับการประชุมก็เหมือนกรรมการตัดสินในสนามฟุตบอล แม้จะประกาศตัวว่าเป็นกลาง ถ้าจิตใจโอนเอนไปฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแล้ว แม้ฝ่ายนั้นทำล้ำหน้า ก็จะทำเป็นมองไม่เห็น แต่อีกฝ่ายหนึ่งยังไม่ทันล้ำหน้าก็เป่านกหวีดเสียแล้ว ตามกติกาสากลไม่ว่ากรรมการจะตัดสินอย่างไรก็ถือว่าการตัดสินนั้นเป็นสำคัญ ดังนั้นตำแหน่งประธานวุฒิจึงมีความสำคัญมาก”
ส.ว.สมชายมองว่า เมื่อตำแหน่งประธานวุฒิเหมือนคนที่เป็นกรรมการในสนามฟุตบอล พรรคการเมืองย่อมต้องอยากให้ประธานวุฒิเป็นคนของตัวเองอยู่แล้ว ในขณะเดียวกันคนที่อยากได้รับการเลือกตั้ง ก็ต้องพึ่งพิงนักการเมือง ดังนั้นไม่ปฏิเสธว่าไม่มีการล็อบบี้เพื่อให้คนของตัวเองขึ้นสู่ตำแหน่งสำคัญนี้แน่นอน
ถ้าผลออกมาแล้ว ประธานวุฒิสภา เป็นฟากที่สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การเดินหน้างานต่างๆ ที่พรรคฝ่ายรัฐบาลก็ได้แรงหนุนไปอีกมาก ซึ่งไม่ต้องสงสัยเลยว่าต่อจากนี้ไป การที่นักการเมืองหรือผู้ที่อยู่ฝ่ายตรงข้าม จะถูกจับมาดำเนินการ “ถอดถอน” ซ้ำ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” คงตามมาอีกเพียบ
และนี่เป็นโอกาสได้เปรียบที่ฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องรีบคว้าไว้!