xs
xsm
sm
md
lg

ถึงเวลา ส.ว.เลือกตั้งขยับ ชิงเก้าอี้ “ประมุขสภาสูง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.ธีรเดช มีเพียร
สะเก็ดไฟ

ฝุ่นตลบทั่ว “สภาสูง” รับการเปิดสมัยประชุมรัฐสภา 1 ส.ค.นี้ทันที เมื่อศาลอาญามีคำพิพากษาให้ “พล.อ.ธีรเดช มีเพียร” ประธานวุฒิสภา มีความผิดฐานขึ้นเงินเดือนตัวเอง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยมีโทษจำคุก 2 ปี แต่ให้รอลงอาญาไว้ก่อน

เพียงเท่านี้ก็เพียงพอที่ทำให้ “ธีรเดช” ต้องกลายเป็นอดีตประธานวุฒิสภาทันที ฝากผลงานในฐานะ “ประมุขสภาสูง” ไว้เพียงแค่ 1 ปี 4 เดือนเท่านั้น

เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 124 (4) ระบุว่า “ประธานและรองประธานวุฒิสภา พ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระ เมื่อต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังจะไม่ถึงที่สุด หรือรอการลงโทษ...”

แต่ “ธีรเดช” ยังคงครองตำแหน่ง ส.ว.ได้ต่อไป เพราะมาตรา 119 (8) ระบุเพียงว่า “สมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภาสิ้นสุดลง เมื่อต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้จะมีการรอลงโทษ...” ซึ่งกรณีนี้ถือว่าคดีความยังไม่สิ้นสุด เพราะคดีดังกล่าวยังอยู่ในศาลชั้นต้น และไม่มีการพิพากษาถึงที่สุด

ส่วนเจ้าตัวจะแสดงความรับผิดชอบทางจริยธรรมถึงขั้นลาออกหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ถือว่าไม่ผิดไปจากที่คาดเท่าใดนัก เพราะคดีนี้เป็น “ชนัก” ที่ติดตัว “ธีรเดช” มาตั้งแต่ก่อนได้รับการเลือกให้เข้ามาเป็น ส.ว.สรรหา รวมไปถึงในช่วงที่ได้รับเลือกเป็นประธานวุฒิสภา ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องนี้พอสมควร

เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้สปอตไลต์ก็สาดส่องไปที่ “เก้าอี้ประธานวุฒิสภา” อีกหน

ไม่ทันไรก็มีความเคลื่อนไหวจากฟาก ส.ว.สายเลือกตั้ง ที่จ้องชิงเก้าอี้ตัวนี้มาครอบครองให้ได้เมื่อโอกาสเปิดอีกครั้ง แบบที่เจ้าของตำแหน่งเดิมเก็บข้าวของออกจากห้องยังไม่เสร็จดีด้วยซ้ำ

หลังจากที่ก่อนหน้านี้ “บัลลังค์” ถูกยึดครองโดย ส.ว.สรรหา หรือ ส.ว.ลากตั้ง ที่ค่อนแคะกัน มาโดยตลอด ตั้งแต่ “ประสพสุข บุญเดช” อดีตประธานคนเดิมที่นั่งแช่อยู่ 3 ปีจนพ้นวาระออกไป มาถึง “ธีรเดช” ผู้มาใหม่ที่ฉกชิ้นปลามันไปครอง

ฝ่ายผู้อกหักเมื่อคราวก่อนก็กลับมามีความหวังอีกครั้ง แน่นอนว่า “นิคม ไวยรัชพานิช” ส.ว.ฉะเชิงเทรา ผู้ครองตำแหน่งรองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 มาตั้งแต่ต้น ก็แสดงความพร้อมลงชิงตำแหน่งอีกครั้ง หลังพ่ายยับให้แก่ “ธีรเดช” เมื่อเดือน เม.ย.ปีก่อน

แว่วว่านัดพอเปิดสมัยประชุม ก็จะมีการรวบรัดให้มีการเลือกประธานคนใหม่กันในทันที โดยอาจต้องรอคำพิพากษาของศาลอาญาอย่างเป็นทางการเสียก่อน คาดว่าจะเป็ฯราวช่วงกลางเดือน ส.ค.นี้ ซึ่งอำนาจเรียกประชุมและบรรจุวาระก็อยู่ในมือ “นิคม” ในฐานะที่รักษาการแทนประธานวุฒิสภา

และก่อนหน้านี้ “ฝ่ายการเมือง” ก็ได้เริ่มเดินเกมล็อบบี้ ส.ว.สายเลือกตั้ง เพื่อวางตัวประธานวุฒิฯคนใหม่แล้ว ราวกับรู้คำพิพากษาของศาลล่วงหน้า

โดยวางตัว “นิคม” ให้ขึ้นเป็นประธาน และให้ “ดิเรก ถึงฝั่ง” ส.ว.นนทบุรี เป็นรองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 แทน

ยิ่งถอดรหัสจากคำให้สัมภาษณ์ของ “ดิเรก” ก็ยิ่งชัดเจนที่ออกมาหนุน “นิคม” สุดตัวว่า มีความเหมาะสมรู้เรื่องงานของวุฒิสภาเป็นอย่างดี พร้อมประกาศกร้าวด้วยว่า “ถึงเวลาแล้วที่ประธานวุฒิสภาคนใหม่จะต้องมาจาก ส.ว.เลือกตั้ง”

ถือเป็นการ “พลิกเกม” เข้าสู้กับฝ่าย ส.ว.สรรหา เพราะในการเลือกประธานครั้งที่แล้วอย่าลืมว่า “นิคม-ดิเรก” เคยห้ำหั่นแย่งกันเป็นแคนดิเดตของสายเลือกตั้งเข้าชิงกับ “ธีรเดช” ตัวแทนของ ส.ว.สรรหา แต่ก็ต้องพ่ายไปอย่างขาดลอย

ครั้งนั้นว่ากันว่าการแย่งชิงกันของ “นิคม-ดิเรก” รวมไปถึงความคลุมเครือจากการที่ “นิคม” ไม่ยอมลาออกจากรองประธานฯเสียก่อน ทำให้สายเลือกตั้ง “เสียงแตก” มางวดนี้จึงเปลี่ยนแผนเสนอตัวเป็น “แพกคู่” หวังผนึกกำลังในสายเลือกตั้งที่ต่อสายผ่าน “ฝ่ายการเมือง” ให้เหนียวแน่น อย่างน้อยให้ได้ 76 เสียงเท่ากับจำนวน ส.ว.ที่ร่วมลงรายชื่อเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ก็จะเกินกึ่งหนึ่งที่เพียงพอจะส่ง “นิคม” ขึ้นบัลลังค์ได้

แต่ใช่ว่าฝ่าย ส.ว.สรรหาจะยอมง่ายๆ อย่างน้อยต้องส่งตัวแทนมารักษาเก้าอี้อย่างแน่นอน เตรียมเปิดศึกศักดิ์ศรี “สรรหา-เลือกตั้ง” เบื้องต้นมีชื่อ “พิเชต สุนทรพิพิธ” ดีกรีผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาคนแรก ลงชิงชัยในครั้งนี้

งานนี้แม้ฝ่ายเลือกตั้งจะมีรัฐบาลเป็น “แบ็ค” คอยเดินเกมล็อบบี้ให้ แต่ก็ประมาทไม่ได้ เพราะบทเรียนเมื่อครั้ง “ธีรเดช” ซิวชัยแบบนอนมา ดึงคำแนนเสียงได้ถึง 90 จากจำนวนเต็ม 150 เสียงเลยทีเดียว ไล่เรียงตั้งแต่ 73 เสียง ส.ว.สรรหา บวกกับแรงหนุนของกลุ่ม 40 ส.ว.และ ส.ว.เลือกตั้งอีกบางส่วน

เชื่อว่าจะมีการห้ำหั่นกันทุกรูปแบบในการเลือก "ประธานสภาสูง" ครั้งนี้ เพราะรู้กันดีว่า “ฝ่ายการเมือง” ต้องการคุมเกมในฝ่ายนิติบัญญัติอย่างเบ็ดเสร็จ เหมือนเมื่อครั้ง “รัฐบาลไทยรักไทย” เรืองอำนาจที่วุฒิสภาเป็นแค่ “ตรายาง”ที่พร้อมประทับตามใบสั่ง

อีกไม่นานคงได้รู้กันว่าปฏิบัติการ “กินรวบ” รอบนี้จะสำเร็จหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น