xs
xsm
sm
md
lg

จี้พักงานรักษาการเลขาฯ กองทุนเกษตรกร ชี้ขาดคุณสมบัติ-ปมทุจริตอื้อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เกษตรกรจากหลายจังหวัดชุมนุมหน้ากระทรวงการคลัง เมื่อ 11 ก.ย.2555
ผู้แทนเกษตรกร จี้ พักงาน “สมยศ ภิราญคำ” รักษาการเลขาฯ กองทุนฟื้นฟูเกษตรกร ชี้ขาดคุณสมบัติ แถมถูกร้องเรียนทุจริตย้ายสำนักงานกองทุนฯ และอีกหลายกรณี แนะบอร์ดใหญ่ตั้ง กก.สอบ ด้านม็อบหน้า ก.คลัง บรรลุข้อตกลง ปรับโครงสร้างหนี้เกษตรกร เตรียมลงนามเอ็มโอยู พรุ่งนี้

วันนี้ (23 ก.ย.) นายยศวัจน์ ชัยวัฒนสิริกุล กรรมการบริหาร และผู้แทนเกษตรกรภาคกลาง ในกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) เปิดเผยความคืบหน้ากรณีเกษตรจากจังหวัดภาคกลาง เหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือ หลายจังหวัด จำนวนประมาณ 9 พันคน มาชุมนุมกันที่กระทรวงการคลัง ตั้งแต่วันที่ 11 ก.ย.2555 เพื่อเรียกร้องให้มีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการปรับโครงสร้างหนี้และฟื้นฟูเกษตรกร ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2553 และ 8 กุมภาพันธ์ 2554 ว่า ล่าสุด ตัวแทนเกษตรกรสามารถตกลงกับตัวแทนกระทรวงการคลัง และตัวแทนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้แล้ว โดยจะมีการลงนามในบันทึกข้อตกลงเรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้ของเกษตรกร ในวันพรุ่งนี้ (24 ก.ย.)

นายยศวัจน์ กล่าวต่อว่า ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 7 เม.ย.2553 มีหลักการสำคัญที่จะช่วยให้เกษตรกรได้ประโยชน์ คือ อนุมัติให้มีการแก้ไขปัญหาหนี้และฟื้นฟูอาชีพเกษตรกร จำนวนประมาณ 510,000 ราย โดยเกษตรกรที่เป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) และเป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรนั้น ให้พักชำระเงินต้นครึ่งหนึ่ง และดอกเบี้ยทั้งหมดไว้ก่อน โดยให้เกษตรกรผ่อนชำระหนี้ และเงินต้นที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งตามงวดและระยะเวลาที่ตกลงกันแต่ไม่เกิน 15 ปี อย่างไรก็ตาม ในรายละเอียดเงื่อนไขการผ่อนชำระ 15 ปีนั้น มีหลายเงื่อนไขที่เกษตรกรไม่สามารถปฏิบัติตามได้ เช่น ไม่มีการยกเว้นการผ่อนชำระกรณีเกิดภัยธรรมชาติจนผลผลิตเสียหาย รวมทั้งไม่มีการตัดหนี้สูญ สำหรับลูกหนี้ที่เสียชีวิต ก่อนที่จะโอนเข้าไปอยู่ในกองทุนฟื้นฟูฯ ซึ่งทำให้เป็นภาระแก่ลูกหลาน ญาติพี่น้อง ในการชำระหนี้ดังกล่าว

นอกจากนี้ ยังพบว่า นโยบายกองทุนมักจะล้อไปตาม ธ.ก.ส.ที่เป็นเจ้าหนี้เดิม ทำให้มีเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่อยากเข้าร่วมโครงการปรับโครงสร้างหนี้ตามนโยบายรัฐบาล ทำให้มีเข้าร่วมเพียง 5,103 ราย จากทั้งหมด 5 แสนกว่าราย ดังนั้น เราจึงต้องมาคุยกับกระทรวงการคลัง เนื่องจากเกษตรกรไม่ต้องการอยู่กับเจ้าหนี้เดิม และต้องการเข้าร่วมในโครงการของกองทุน ซึ่งล่าสุดฝ่ายประสานงานได้เจรจากับตัวแทนกระทรวงการคลัง จนเห็นพ้องกันแล้ว และจะมีการลงนามในวันที่ 24 ก.ย.นี้ โดยมีตัวแทน 4 ฝ่าย ประกอบด้วย ตัวแทน กฟก. ตัวแทน ธ.ก.ส. ผู้แทนเกษตรกรในคณะกรรมการ กฟก.และตัวแทนเกษตรกร ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวจะนำไปสู่การตัดหนี้สูญสำหรับลูกหนี้ที่เสียชีวิตออกไป และมีการฟื้นฟูอาชีพเกษตรกรอย่างมีคุณภาพตามความสมัครใจของเกษตรกร

สำหรับเนื้อหาในบันทึกข้อตกลงดังกล่าวมีทั้งหมด 4 ข้อ สรุปใจความสำคัญ คือ 1.ธ.ก.ส.ต้องไม่ฟ้องคดี เว้นแต่ใกล้ครบกำหนดอายุความ (ก่อนครบกำหนดอายุความเป็นเวลา 2 ปี) หากมีการฟ้องไม่ใช่กรณีใกล้ครบกำหนดอายุความ ธ.ก.ส./โจทก์ และเกษตรกร/จำเลย ต้องไปแถลงต่อศาลเพื่อขอจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ และกรณีฟ้องล้มละลายต้องถอนฟ้องทันที ฯลฯ 2.ธ.ก.ส.ต้องงดการยึดทรัพย์ บังคับคดี หรือขายทอดตลาดหลักทรัพย์ เว้นแต่คดีใกล้หมดอายุความบังคับคดี ฯลฯ 3.ให้มีการแต่งตั้งคณะทำงาน ประกอบด้วย ผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนสำนักงาน กฟก.ผู้แทน ธ.ก.ส.ผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ผู้แทนเกษตรกร และตัวแทนเกษตรกร ในการศึกษา และตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล เพื่อเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ ตามมติ ครม.วันที่ 7 เม.ย.2553 และ 8 ก.พ.2554 ต่อไป และ 4.ธ.ก.ส.จะไม่กระทำการใดๆ อันเป็นการจำกัด หรือลิดรอนสิทธิประโยชน์ หรือใช้ความพยายามในการสร้างเงื่อนไขสร้างแรงจูงใจ หรือบังคับ ตลอดจนใช้กลโกงทางสังคมอื่นใด ยกขึ้นเป็นข้อต่อรองในการชำระหนี้ ก่อนที่จะให้บริการ หรือรับความช่วยเหลือจากโครงการของรัฐ หรือบีบบังคับให้ออกจากการเป็นสมาชิก กฟก.และ ธ.ก.ส.จะไม่ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่งเป็นการแทรกแซงกิจการของ กฟก.ให้ได้รับความเสียหาย

จากข้างต้นหากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดละเลยเพิกเฉย ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามข้อหนึ่งข้อใด ฝ่ายหนึ่งนำเอาข้อตกลงฉบับนี้แทนการแสดงเจตนาต่อศาล เพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้เป็นไปตามบันทึกข้อตกลงฉบับนี้ กรณีเกิดความเสียหายขึ้น ก็ให้รับผิดชอบต่อความเสียหายตามกฎหมายอีกทางหนึ่งด้วย

อย่างไรก็ตาม นายยศวัจน์ กล่าวต่อว่า กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร มีการก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2542 ปัจจุบันมีเงินในกองทุนประมาณ 6 พันล้านบาท เมื่อรวมกับงบประมาณปี 2555 และได้ซื้อหนี้เกษตรกรจากสถาบันการเงินมาแล้ว 1.6 หมื่นราย แต่ก็ยังไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรได้ โดยมีปัญหาสำคัญ คือ การแต่งตั้งเลขาธิการกองทุนฯ ที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งปัจจุบัน นายสมยศ ภิราญคำ รักษาการเลขาธิการ ก็ขึ้นมาดำรงตำแหน่งอย่างไม่ถูกต้อง โดย นายสมยศ ซึ่งมีตำแหน่งเป็นรองเลขาธิการกองทุน ได้อ้างข้อ 14 ของระเบียบข้อบังคับกองทุน ในการขึ้นมารักษาการเลขาธิการ หลังจากเลขาธิการคนก่อนพ้นจากตำแหน่ง ทั้งที่ข้อบังคับดังกล่าวใช้ในกรณีที่เลขาธิการไม่อยู่ หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เท่านั้น แต่นายสมยศกลับฉวยจังหวะที่ยังไม่มีคณะกรรมการกองทุนฯ แต่งตั้งตัวเองเป็นรักษาการเลขาธิการ และอยู่ในตำแหน่งนี้มา 2 ปีแล้ว นอกจากนี้ มาตรา 26 ของ พ.ร.บ.กองทุนฯ ยังกำหนดคุณสมบัติของคนที่เป็นเลขาธิการกองทุน ว่า ต้องไม่เป็นข้าราชการ พนักงานองค์กรของรัฐ ซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ แต่ นายสมยศ เป็นรองเลขาธิการกองทุนอยู่แล้ว ถือว่าเป็นพนักงานของรัฐ และยังไม่ผ่านการประเมินในตำแหน่งรองเลขาธิการอีกด้วย

นอกจากนี้ นายสมยศ ยังมีข้อสงสัยเรื่องความโปร่งใสในการทำงานโดยขณะนี้ นายสมยศ มีคดีที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง.และ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.เกี่ยวกับการทุจริตการย้ายสำนักงานของกองทุนฟื้นฟูฯ จากย่าน อ.ต.ก.ไปยังบริเวณวัดเสมียนนารี ด้วยความเร่งรีบ เมื่อเดือน ต.ค.54 โดยมีการเช่าตึกในอัตราเดือนละ 9 แสนบาท และนำเงิน 15 ล้านบาท ไปให้เจ้าของตึกปรับปรุงอาคาร โดยที่ยังไม่ผ่านการอนุมัติของกรรมการ รวมทั้งกรณีความไม่โปร่งใสในการจัดอบรมเกษตรกร ซึ่งมีการหักค่าหัวคิว และเลือกจัดในศูนย์อบรมของคนที่เป็นพวกเดียวกันเอง

นายยศวัจน์ กล่าวต่อว่า อยากให้มีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาสอบสวนนายสมยศ กรณีที่ถูกร้องเรียนเรื่องทุจริต และให้พักงานนายสมยศไว้ก่อน แล้วให้คณะกรรมการกองทุน ตั้งอนุกรรมการขึ้นมาสรรหาบุคคลที่มีความเหมาะสมมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการกองทุนต่อไป

นายยศวัจน์ ชัยวัฒนสิริกุล กรรมการบริหาร และผู้แทนเกษตรกรภาคกลาง ในกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ขณะนำการชุมนุมหน้ากระทรวงกาคลัง เมื่อ 11 ก.ย.2555
กำลังโหลดความคิดเห็น