รมว.ปัดตอบศาลเรียกสอบปมเด้ง ปลัด กห. ส่งทหารพระธรรมนูญฟังคำร้อง นัด ผบ.เหล่าทัพ ถกโผทหาร “เสถียร” ลุ้นศาลปกครองตัดสินรับ-ไม่รับฟ้องพรุ่งนี้ ด้าน “วิทวัส” ชี้ศึกษา กม.แล้วหมดสิทธิ์ร่วมถกโผทหาร กรมพระธรรมนูญเชื่อศาลปกครองไม่รับฟ้อง งัด ม.24 พ.ร.บ.กลาโหม ยัน “รักษาการปลัด” มีอำนาจเท่าปลัด กห.ร่วมถกโผทหารได้
วันนี้ (4 ก.ย.) เมื่อเวลา 13.30 น.ที่สโมสรทหารบก พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ศาลปกครองได้ส่งหนังสือเชิญไปชี้แจงเกี่ยวกับการสั่งย้าย พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม, พล.อ.ชาตรี ทัตติ รองปลัดกระทรวงกลาโหม และ พล.อ.พิณภาษณ์ สริวัฒน์ เจ้ากรมเสมียนตรา ไปช่วยราชการสำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ในวันที่ 5 ก.ย.นี้ว่า ยังไม่พูดเรื่องนี้ เดี๋ยวผมทำของผมเอง เมื่อถามว่าหวั่นไหวหรือไม่ พล.อ.อ.สุกำพลกล่าวว่า ไม่มีอะไร โอเค แค่นี้นะ เมื่อถามถึงความคืบหน้าการจัดทำบัญชีโยกย้ายนายทหาร พล.อ.อ.สุกำพลกล่าวว่า เรื่องนี้อย่าเพิ่ง เพราะยังไม่ได้มีการประชุมกัน จากนั้นผู้สื่อข่าวได้พยายามซักถามต่อ แต่ พล.อ.อ.สุกำพลปฏิเสธที่จะตอบคำถาม โดย พล.อ.อ.สุกำพลมีสีหน้าที่ยิ้มแย้ม อารมณ์ดี ไม่แสดงความวิตกกังวลต่อกรณีดังกล่าวแต่อย่างใด
ด้าน พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ รองปลัดกระทรวงกลาโหม ในฐานะรักษาการปลัดกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการปรับย้ายเพื่อหารือบัญชีรายชื่อโยกย้ายนายทหารประจำปี ในวันที่ 5 ก.ย.นี้ว่า การหารือไม่น่ามีปัญหาอะไร เพราะทุกอย่างได้ทำตามขั้นตอน และทำตามข้อบังคับ รวมถึงในข้อกฎหมายต่างๆ ได้ศึกษาเรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตาม เมื่อมีคำสั่งให้ พล.อ.เสถียรไปช่วยราชการแล้ว ก็ต้องมีหน้าทีไปทำอย่างอื่น ไม่มีหน้าที่ต้องเข้าร่วมพิจารณา ซึ่งได้ให้กรมพระธรรมนูญพิจารณาแล้วว่าเป็นไปตามกฎหมาย
รายงานข่าวจากกรมพระธรรมนูญแจ้งว่า ภายหลังจากที่ศาลปกครองได้ส่งหนังสือเชิญ พล.อ.อ.สุกำพล ไปชี้แจงเกี่ยวกับคำสั่งย้าย พล.อ.เสถียรนั้น วันนี้ (4 ก.ย.) ทาง รมว.กลาโหมได้มอบหมายให้ พล.ท.รัตนพันธ์ โรจนะภิรมย์ รองเจ้ากรมพระธรรมนูญ และ พ.อ.ภานุ พรหมดิเรก ผอ.กองนิติธรรม กรมพระธรรมนูญ ไปฟังคำร้องที่ศาลปกครอง โดยคำฟ้องในคำสั่งย้ายจะดูว่าคำสั่งของ พล.อ.อ.สุกำพลชอบหรือไม่ชอบ หากศาลสั่งว่าคำสั่งไม่ชอบ ศาลจะสั่งไต่สวนและมีการออกระเบียบคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้ปลัดกระทรวงกลาโหมขอเข้าทำหน้าที่ต่อ ซึ่งจะสามารถเข้าประชุมคณะกรรมการพิจารณาปรับย้ายนายทหารชั้นนายพลได้
รายงายข่าวแจ้งว่า ในวันที่ 5 ก.ย.นี้ เวลา 09.00 น. ศาลปกครองจะมีคำสั่งนัดไต่สวน เพื่อพิจารณาคำขอทุเลาคดีที่ พล.อ.เสถียร ยื่นฟ้อง พล.อ.อ.สุกำพล เนื่องจากมีคำสั่งกระทรวงกลาโหม (เฉพาะ) ที่ 383/55 เรื่องให้ พล.อ.เสถียร ไปช่วยปฏิบัติราชการสำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งขณะนี้ทางศาลปกครองยังไม่ได้มีการพิจารณาว่าจะรับพิจารณาคดีดังกล่าวหรือไม่ ส่วนหนังสือที่ส่งมายัง พล.อ.อ.สุกำพล เป็นเพียงการแจ้งให้ทราบว่า พล.อ.อ.สุกำพลถูก พล.อ.เสถียร ยื่นฟ้องในคดีการโยกย้ายไม่เป็นธรรมเท่านั้น ซึ่งทาง พล.อ.อ.สุกำพลสามารถส่งทนายความผู้รับมอบอำนาจไปชี้แจงแทนได้
มีรายงานว่า ตามมาตรา 9 วรรค 2 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ได้บัญญัติข้อยกเว้นคดีที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง 3 ประเภทคือ 1. การดำเนินการเกี่ยวกับวินัยทหาร ไม่ว่าจะเป็นการลงทัณฑ์แก่ผู้กระทำผิดต่อวินัยทหารหรือเป็นการดำเนินการทางวินัยอย่างอื่น 2. การดำเนินการของคณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.) ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 ซึ่งมิใช่เป็นการพิจารณาพิพากษาคดี แต่เป็นการบริหารงานบุคคลของผู้พิพากษาศาลยุติธรรม เช่น การแต่งตั้งโยกย้าย การเลื่อนตำแหน่งการลงโทษทางวินัย (ค) คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลชำนัญพิเศษต่างๆ ที่อยู่ในระบบศาลยุติธรรม ซึ่งได้จัดตั้งขึ้นก่อนที่จะมีการจัดตั้งศาลปกครอง
อย่างไรก็ตาม ในหนังสือคำสั่งย้ายปลัดกลาโหมของ รมว.กลาโหมนั้น มิได้ระบุว่า พล.อ.เสถียร กระทำผิดด้านวินัยแต่อย่างใด แต่ให้เหตุผลเพียงแค่ว่า เพื่อให้การบริหารราชการในกระทรวงกลาโหมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 มาตรา 9 และมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (พ.ร.บ.กลาโหม) พ.ศ. 2551
แหล่งข่าวผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายจากกรมพระธรรมนูญ เปิดเผยว่า เมื่อคดีดังกล่าวเป็นเรื่องวินัยทหารแล้ว ทำให้ไม่ได้อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง ดังนั้นสิ่งที่ รมว.กลาโหม ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.กลาโหมสั่งการในกรณีนี้ เป็นคำสั่งทางการปกครอง แต่ไม่ได้เป็นคำสั่งทางการปกครองตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางการปกครอง พ.ศ. 2539 ซึ่งคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งทางวินัยทหาร โดยสั่งตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม และ ข้อบังคับกระทรวงกลาโหม ว่าด้วยการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารชั้นนายพล ทั้งนี้ การที่ พล.อ.เสถียรไปฟ้องร้องขอความเป็นธรรมกับศาลปกครองสามารถทำได้ แต่การดำเนินการของ พล.อ.อ.สุกำพล เป็นคำสั่งพิเศษทีใช้อำนาจกฎหมายทางทหาร และ ข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยการสั่งการ และ การประชาสัมพันธ์ พ.ศ. 2527
ส่วนกรณีที่มีหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ รองปลัดกระทรวงกลาโหม ในฐานะรักษาการแทนปลัดกระทรวงกลาโหม จะมีสิทธิ์ร่วมประชุมคณะกรรมการพิจารณาปรับย้ายนายทหารแทนปลัดกระทรวงกลาโหมได้หรือไม่นั้น ใน พ.ร.บ.กลาโหม ปี 2551 หมวด 3 การจัดระเบียบราชการทั่วไป มาตราที่ 24 อำนาจในการสั่งการ กรอนุญาต การอนุมัติ การปฏิบัติราชการแทนหรือการปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระรวงกลาโหมจะพึงปฏิบัติหรือดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับหรือคำสั่งใดๆ หรือมติของสภากลาโหม หรือมติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเรื่องใด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจะมอบอำนาจโดยทำเป็นหนังสือให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงกลาโหม สมุหราชองครักษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ หรือบัญชาการทหารอากาศ ทำการแทนในนามของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมก็ได้ และผู้รับมอบอำนาจดังกล่าวอาจมอบอำนาจให้ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นปฏิบัติราชการแทนต่อไปได้ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กระทรวงกลาโหมกำหนด
ส่วนอำนาจในการสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติ หรือการปฏิบัติราชการแทนประจำที่ผู้บังคับบัญชาทหารไม่ว่าจะเป็นชั้นใดที่รองลงมาจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจะพึงปฏิบัติ หรือดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งใดๆ หรือมติของสภากลาโหม หรือมติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเรื่องใด ผู้บังคับบัญชาผู้นั้นจะมอบอำนาจ โดยทำเป็นหนังสือให้ผู้บังคับบัญชาทหารตำแหน่งอื่นทำการแทนในนามของผู้บังคับบัญชาทหารผู้มอบอำนาจก็ได้ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กระทรวงกลาโหมกำหนด โดยให้ผู้รักษาราชการ ผู้รักษาราชการแทน หรือผู้ทำการแทน มีอำนาจและหน้าที่ตามตำแหน่งที่รักษาราชการ รักษาราชการแทน หรือทำการแทนนั้นๆ