xs
xsm
sm
md
lg

สองกุนซือแม้ว รุมอัด “บิ๊กโต้ง” โกหกสีขาวทำ รบ.เสื่อม ยุเขี่ยพ้นขุนคลัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กิตติรัตน์ ณ ระนอง (แฟ้มภาพ)
ลือหึ่งทำเนียบฯ “สองกุนซือทักษิณ” ทั้ง “พันศักดิ์-พรหมินทร์” เห็นพ้องเดินหน้าปลด “กิตติรัตน์” พ้นเก้าอี้ขุนคลัง หลังไปทำ “ลับหลุด” เรื่อง White Lie หรือโกหกสีขาว ที่ทำให้ภาพลักษณ์รัฐบาลเสียหาย เผยเคยขัดแย้งกันมาแล้วกรณีปรับโครงสร้างภาษี ที่สุดท้าย “เดอะโต้ง” ก็ต้องพ่าย ยอมกลืนน้ำลายตัวเองมาแล้ว

วันที่ (27 ส.ค.) รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า ขณะนี้สองที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีที่ถือเป็น “มันสมอง” ในการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลให้เกิดประสิทธิผล โดยเฉพาะนโยบายด้านเศรษฐกิจ คือ นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และนพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ที่ปรึกษาฯ ในด้านลับ มีความเห็นพ้องต้องกันที่จะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตัว รมว.คลัง คนใหม่ ในการปรับ ครม.ที่กำลังจะมีขึ้นในเร็ววันนี้ โดยอาศัยข้ออ้างเรื่อง White Lie หรือโกหกสีขาว ที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ได้ออกมาพูดยอมรับว่าได้รับอนุญาตให้พูดโกหกในเรื่องตัวเลขการส่งออกว่าจะถึง 15% เพราะถ้ากออกมาพูดความจริงว่าการส่งออกของไทยจะทำได้ไม่ถึง 15% จะทำให้ความมั่นใจของนักลงทุนมีปัญหา

รายงานข่าวแจ้งว่า คำพูดของนายกิตติรัตน์นั้นถูกมองว่าทำให้ภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ติดลบโดยทันที และอาจเป็นปัญหาต่อการสร้างภาพลักษณ์ของรัฐบาลในระยะยาว รวมถึงการทำให้แผนแถลงนโยบายของรัฐบาล 1 ปี ที่กำลังเขียนอยู่มีปัญหาทันที ซึ่งอาจส่งผลกระเทือนไปถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลอีกด้วย ดังนั้นการปรับพ้นเก้าอี้ รมว.คลัง จึงน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด แล้วเปิดโอกาสให้คนที่มีความสามารถเข้ามาทำหน้าที่แทน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้เคยเกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างแนวคิดเรื่องการปรับโครงสร้างภาษีในภาพรวมของนายกิตติรัตน์ ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจและ รมว.คลัง กับทีมที่ปรึกษานายกฯ ด้านเศรษฐกิจ ที่มีนายพันศักดิ์ วิญญรัตน์, นายนิพัทธ พุกกะณะสุต และนพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เป็นกำลังหลักสำคัญ เพราะเป็นผู้ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้ความเชื่อถือ

โดยครั้งนั้น ราวเดือน เม.ย. 2555 ที่ผ่านมา นายกิตติรัตน์ให้สัมภาษณ์ว่า “อยู่ระหว่างพิจารณาการปรับโครงสร้างภาษีในภาพรวม ทั้งของกรมสรรพากร และกรมสรรพสามิต พร้อมระบุว่าจะสามารถหาข้อสรุปให้ได้ภายในช่วงครึ่งปีแรก โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยอ้างถึงหลักการกระจายรายได้ ซึ่งมีการปรับโครงสร้างในการซอยขั้นบันไดการจัดเก็บถี่ขึ้น พร้อมกับการพิจารณาปรับเพิ่มเพดานสูงสุดจากเดิมอยู่ที่อัตรา 37% ขณะที่ในส่วนของภาษีสรรพสามิตที่ผ่านมาก็ได้มีการเสนอแพกเกจการปรับโครงสร้างภาษีหลายรายการ ให้นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะกำกับดูแลกรมภาษีพิจารณาเห็นชอบแล้ว ประกอบด้วย ภาษีเหล้า, ภาษีบุหรี่, ภาษีเครื่องปรับอากาศ, ภาษีโทรคมนาคม, รวมทั้งการปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์ที่คำนวณตามการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์”

แต่ในเวลาต่อมา นายกิตติรัตน์ต้องยอมกลืนน้ำลายตัวเอง เพราะออกมาให้สัมภาษณ์ภายหลังว่าขณะนี้รัฐบาลยังไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องปรับขึ้นภาษีทุกประเภทในช่วงปีนี้ ส่วนหนึ่งเพราะไม่ต้องการให้มีคนมองว่ารัฐบาลขึ้นภาษีเพราะเก็บรายได้ไม่เข้าเป้า ซึ่งยืนยันว่าปีนี้รัฐบาลจะสามารถเก็บรายได้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1.98 ล้านล้านบาทอย่างแน่นอน โดยที่ไม่ต้องมีการปรับอัตราภาษีตัวใด ขณะเดียวกันรัฐบาลเน้นการทำนโยบายเร่งด่วน 16 ข้อที่ประกาศไว้ว่าจะต้องทำภายใน 1 ปีเป็นหลัก รวมถึงต้องการให้มาตรการต่างๆ ที่ทำไปเห็นผลอย่างชัดเจนก่อน

“ที่ผ่านมาก็มีคนบอกว่าปัญหาเงินเฟ้อเพราะนโยบายขึ้นค่าแรง 300 บาท คนที่รู้เรื่องเศรษฐศาสตร์แท้จริงรู้ว่าไม่ใช่ และเอกชนที่ทำธุรกิจก็รู้ว่าภาระที่ลดลงจากการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลก็ช่วยอยู่แล้ว ผมก็เข็ดนิดหน่อย ถ้าไปแตะภาษีบางรายการก็จะกลายเป็นประเด็นว่าจะไปเพิ่มภาระให้ประชาชน เอาเป็นว่าตอนนี้ก็นิ่งๆ ไป” นายกิตติรัตน์กล่าว

อย่างไรก็ดี ยืนยันว่าไม่ได้กลัวว่ารัฐบาลจะเสียคะแนนเสียง แต่มองว่าไม่ว่าเรื่องอะไร การปรับภาษีก็เป็นดาบสองคม ดังนั้นถ้าไม่จำเป็นก็จะยังไม่ทำ อย่างกรณีภาษีสรรพสามิต ทั้งสุรา ยาสูบ ก็เป็นเรื่องที่กรมสรรพสามิตศึกษาไว้อยู่แล้ว ไม่ได้มีอะไรเพิ่มเติม ขณะที่การปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หากจะทำเพื่อตอบโจทย์การกระจายรายได้ ตอนนี้รัฐบาลก็มีมาตรการอื่นๆ ที่เป็นเครื่องมือกระจายรายได้อยู่แล้ว ขอดูผลเรื่องของการเพิ่มรายรับของกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ทั้งสังคมเมือง สังคมเกษตรก่อน

สำหรับเหตุผลที่นายกิตติรัตน์จำต้องกลืนน้ำลายตัวเอง ประกาศไม่ขึ้นภาษีนั้น เป็นเพราะทีมที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ คือ คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ที่มี ดร.วีรพงษ์ รามางกูร เป็นประธาน และกรรมการ เช่น นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์, นายนิพัทธ พุกกะณะสุต และนพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช มีความเห็นคัดค้านไม่เห็นด้วย เพราะเกรงว่าจะทำให้ต้นทุนสินค้าพุ่งสูง ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อคะแนนนิยมของรัฐบาล
กำลังโหลดความคิดเห็น