ศิษย์ “หลวงตามหาบัว” จี้ “กสทช.” ทบทวนหลักเกณฑ์ลดกำลังส่งคลื่นวิทยุชุมชนแบบเหมารวม ชี้เป็นการขัดรัฐธรรมนูญชัดเจน เพราะเอาคลื่นหลักเป็นตัวตั้งแทนที่จะตัดสินจากการทำประโยชน์ให้สาธารณะ ด้าน “ปานเทพ” ซัด กสทช.จิตใจคับแคบมองเงินเป็นหลัก ระบุปฏิรูปสื่อไม่ได้ก็ปฏิรูปประเทศไม่ได้
วันที่ 22 ส.ค. คณะลูกศิษย์หลวงตามหาบัว ประกอบด้วย พระครูอรรถกิจนันทคุณ (พระอาจารย์นพดล) พระครูนิรมิตวิยากร (พระอาจารย์วิทยา) พระครูวัชรธรรมาจารย์ (พระอาจารย์จิรวัฒน์) พระอาจารย์รัฐวีร์ ฐิตวีโร และ ผศ.ดร.สุรศักดิ์ ศิริพรอดุลศิลป์ นักวิชาการ พร้อมด้วย นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้ร่วมสนทนาในรายการ “คนเคาะข่าว” ถึงกรณี “กสทช.บีบสเปกวิทยุชุมชน”
จากกรณีที่ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ออกร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง ที่พบว่าได้กำหนดให้กำลังส่งของวิทยุกระจายเสียงสำหรับกิจการบริการสาธารณะ กิจการบริการชุมชน และกิจการทางธุรกิจ ไม่เกิน 100 วัตต์ และความสูงของเสาอากาศวัดจากระยะพื้นดินที่ตั้งเสาอากาศไม่เกิน 40 เมตร โดยไม่นำกฎเกณฑ์นี้ไปบังคับใช้กับคลื่นหลักด้วย จึงมองว่าไม่มีความเป็นธรรมต่อสถานีวิทยุที่สร้างประโยชน์ให้แก่สาธารณะ
โดยพระอาจารย์นพดลกล่าวว่า ก่อนนี้เราค้านไปหลายครั้งแล้ว แต่ดูไม่มีท่าทีดีขึ้น วันนี้เลยนำรายชื่อประชาชนที่ร่วมลงชื่อคัดค้าน 1.5 แสนคนไปยื่น กสทช. โดยเสนอให้จัดประเภทสถานีแบบเอาประโยชน์ต่อสาธารณะเป็นหลัก แต่หากเป็นแบบเดิมนั้นขัดกฎหมาย ไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ประชาชน
พระครูนิรมิตวิยากรกล่าวว่า ที่คัดค้านเรื่องนี้เพราะอยากเห็น กสทช.จัดสรรคลื่นวิทยุอย่างลงตัว เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะจริงๆ จะได้ปฏิรูปสื่อได้สำเร็จ ไม่ได้มุ่งหวังทำเพื่อสถานีวิทยุเสียงธรรม แต่อยากเห็นความถูกต้องความเป็นธรรม
แล้วนี่เห็นว่าพอเราเรียกร้องไม่เอา 100 วัตต์ เลยจะเพิ่มให้เป็น 500 วัตต์ นั่นมันไม่ใช่เหตุผล แล้วไม่มีทางทำได้ที่จะให้ทุกสถานีมีกำลังส่งเท่ากันหมด ทำไม กสทช.ถึงไม่ส่งเสริมรายการที่มีคุณภาพตามที่รัฐธรรมนูญเขียนไว้ นั่นเป็นหน้าที่ของ กสทช. ไม่ต้องให้พระมาพูด
ส่วนเรื่องคลื่นรบกวน แทนที่จะดูว่าสถานีไหนรบกวนก็เรียกมาปรับปรุงเป็นรายๆ ไป ไม่เช่นนั้นสถานีที่ทำดีๆ อยู่แล้วก็พลอยเสียไปด้วย
พระอาจารย์รัฐวีร์กล่าวว่า ควรมองทุกสถานีเสมอกันก่อน ทั้งคลื่นหลักและที่เกิดใหม่ แล้วค่อยแบ่งตามคุณภาพ ว่าคลื่นไหนทำประโยชน์อย่างแท้จริง สถานีเสียงธรรมอยู่มาเป็น 10 ปี ไม่เกิดปัญหา กสทช.โผล่มาไม่ถึงปีความวุ่นวายเกิดขึ้นแล้ว นี่แค่สถานีเดียวรวบรวมรายชื่อได้ถึงกว่า 1.5 แสนคน ถ้ารวมสถานีอื่นด้วยคงเยอะกว่านี้มาก
จากนั้น นายนายสุรศักดิ์ได้กล่าวเพิ่มเติมในแง่กฎหมายว่า รัฐธรรมนูญปี 50 ได้พูดถึงเรื่องการปฏิรูปสื่อไว้ในมาตรา 47 ดังนี้ “วรรคแรก คลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และวิทยุโทรคมนาคม เป็นทรัพยากรการสื่อสารของชาติ เพื่อประโยชน์สาธารณะ
วรรคสอง ให้มีองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ตามวรรคหนึ่งและกำกับดูแลวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ
วรรคสาม การดำเนินการตามวรรคสองต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ทั้งในการศึกษา วัฒนธรรม ความมั่นคงของรัฐและประโยชน์สาธารณะอื่น รวมทั้งการแข่งขันอย่างเสรีเป็นธรรม รวมทั้งต้องจัดให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วม ในการดำเนินการสื่อมวลชนสาธารณะ”
ซึ่งที่กล่าวมา วิทยุแสงธรรมเข้าข่ายตามรัฐธรรมนูญหมดเลย เราต้องมานิยามกันใหม่ตามหลักของการปฏิรูปสื่อ คลื่นหลักไม่ได้หมายความว่าคลื่นที่ได้รับสัมปทานเดิมจากรัฐ แต่ต้องเป็นคลื่นที่ทำเพื่อประโยชน์สาธารณะหรือเปล่า ต้องมาดูว่าสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 47 หรือเปล่า เพราะถ้าเอาความคิดเดิมๆ คลื่นหลักคือคลื่นที่ได้รับสัมปทานจากรัฐ มันเป็นการปฏิรูปตรงไหน
วรรคสี่ ยังระบุด้วยว่า “การกำกับการประกอบกิจการตามวรรคสองต้องมีมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการควบรวม การครองสิทธิข้ามสื่อ หรือการครอบงำ ระหว่างสื่อมวลชนด้วยกันเองหรือโดยบุคคลอื่นใด ซึ่งจะมีผลเป็นการขัดขวางเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารหรือปิดกั้นการได้รับข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายของประชาชน”
การลดกำลังส่งสถานีวิทยุเสียงธรรมจาก 10,000 วัตต์ เหลือ 100 วัตต์ คำนวณแล้วพื้นที่กระจายเสียงหายไป 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ อย่างนี้ถือเป็นการขัดขวางเสรีภาพและปิดกั้นการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนหรือเปล่า แล้วที่ประชาชนทั่วไปเข้าใจกันว่าสถานีวิทยุ 7 พันกว่าแห่งที่เกิดขึ้นเป็นวิทยุชุมชน จริงๆ แล้วนิยามของวิทยุชุมชน ต้องไปดูที่ พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2251 มาตรา 10 ได้แบ่งประเภทวิทยุเป็น 3 ประเภท 1. บริการสาธารณะ 2. บริการชุมชน และ 3. ภาคธุรกิจ
ฉะนั้น ถ้าจะให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์การปฏิรูปสื่อ ตามมาตรา 47 ต้องพิจารณาว่า 7 พันกว่าสถานี อันไหนเป็นประเภทไหนก่อน ค่อยดูว่าแต่ละประเภทควรมีกระบวนการควบคุม ให้ใบอนุญาตอย่างไร ถึงจะถูกต้องและเป็นธรรม
ปรัชญาการตั้งวิทยุสาธารณะประเภทบริการสาธารณะและบริการชุมชน ห้ามมีโฆษณา แต่ส่วนของวิทยุภาคธุรกิจสามารถมีได้ ฉะนั้นไม่ต้องบังคับเรื่องกำลังส่ง มันจะอยู่ได้หรือไม่ได้ด้วยตัวของมันเอง เพราะทำสถานีวิทยุต้องใช้เงินทั้งนั้น แล้วนี่ถูกบีบทั้งไม่ให้มีโฆษณาแล้วยังมาบีบกำลังส่งอีก
นายปานเทพกล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนคำว่าคลื่นหลักไว้เลย ตามมาตรา 47 เขียนไว้ว่า คลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และวิทยุโทรคมนาคม เป็นทรัพยากรการสื่อสารของชาติ เพื่อประโยชน์สาธารณะ นอกจากนี้ ตามมาตรา 305 กำหนดไว้ชัดเจนว่า กสทช.ต้องไม่ดำเนินการที่กระทบกระเทือนการอนุญาต สัมปทานหรือสัญญาที่ชอบด้วยกฎหมายที่ได้กระทำขึ้นก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้จนกว่าการอนุญาตสัมปทานหรือสัญญานั้นจะสิ้นผล
และไม่ได้ห้ามเลยว่าห้ามคลื่นที่เกิดขึ้นใหม่มาทาบรัศมีเท่าคลื่นที่ได้สัมปทานไปแล้ว การทำแบบนี้ของ กสทช.จะปฏิรูปสื่อได้อย่างไร เพราะคลื่นที่ได้สัมปทานเดิมเต็มไปด้วยสถานีวิทยุเพลง ทั้งๆ ที่ควรจะยึดประโยชน์สาธารณะเป็นเป้าหมายสูงสุด เมื่อปฏิรูปสื่อไม่ได้ ก็ปฏิรูปประเทศไม่ได้
กสทช.เที่ยวนี้มีจิตใจคับแคบเกินไป ไม่สามารถแบ่งแยกได้ว่าอะไรเป็นประโยชน์ต่อประชาชน เอาใจแต่คลื่นหลัก แล้วพยายามกำจัดกลุ่มธุรกิจรายเล็กรายย่อย ทั้งที่ความเป็นจริง ต้องเปิดให้แข่งขันกันได้อย่างเป็นธรรม แล้วเอาประโยชน์สาธารณะเป็นตัวตั้ง แต่นี่กลับยึดเงินเป็นตัวตั้ง