ภาคประชาชนจี้ กสทช.ให้กลับใจ ยกเลิกกฎลดกำลังการส่งของวิทยุชุมชน ชี้ปิดกั้นสิ่งที่สร้างประโยชน์ให้แก่สังคม แต่กลับส่งเสริมคลื่นบันเทิง-สื่อการเมืองให้ครอบงำสังคมไทยมากขึ้น “ปานเทพ” แนะควรคิดอย่างมียุทธศาสตร์ว่าประเทศต้องแก้ไขวิกฤตด้วยสื่อได้อย่างไร
วันที่ 13 ก.ย. กลุ่มภาคประชาชนผู้ริเริ่มถอดถอนคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ประกอบด้วย ผศ.ดร.สุรศักดิ์ ศิริพรอดุลศิลป์ ดร.อนันต์ เจียรวงศ์ นายสุทัศน์ วิมลสม น.ส.จุฑารส พระประสิทธิ์ พร้อมด้วยนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ได้ร่วมสนทนาในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV
จากกรณีที่ภาคประชาชนได้แสดงตนต่อนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา เพื่อรวบรวมรายชื่อประชาชนจำนวนไม่น้อยกว่า 2 หมื่นคน เพื่อให้วุฒิสภามีมติถอดถอนคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ออกจากตำแหน่งทั้งคณะรวมจำนวน 11 คน ตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
เนื่องจากมีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย โดยได้ใช้อำนาจหน้าที่ออกประกาศ กสทช.เรื่องหลักเกณฑ์การอนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงที่ขัดต่อกฎหมายและรัฐธรรมนูญมาตรา 47
โดย กสทช.นั้นได้ออกร่างประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การอนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง ที่พบว่าได้กำหนดให้กำลังส่งของวิทยุกระจายเสียงสำหรับกิจการบริการสาธารณะ กิจการบริการชุมชน และกิจการทางธุรกิจ ไม่เกิน 100 วัตต์ และความสูงของเสาอากาศวัดจากระยะพื้นดินที่ตั้งเสาอากาศไม่เกิน 40 เมตร
ดร.อนันต์กล่าวว่า ร่างประกาศของ กสทช.ลิดรอนสิทธิประชาชนหรือไม่ ขึ้นกับกำลังส่งที่เขามีอยู่ ในต่างประเทศ คลื่นความถี่ไมได้เปิดเสรี ต้องขออนุญาต แต่ไทยนั้นเปิดเสรี เลยเกิดสถานีขึ้นมากมาย กสทช.จึงต้องการควบคุมดูแล โดยมองว่าสถานีเยอะขนาดนี้ควรกำหนดให้กำลังส่งน้อยลงทุกสถานีถึงอยู่ร่วมกันได้
ทั้งนี้ การที่กำหนดให้กำลังส่งลดลงทุกสถานี บางสถานีที่กำลังส่งไม่ถึงอยู่แล้วก็ไม่กระทบ แต่สถานีที่ถึงจะกระทบ อย่างวิทยุเสียงธรรม มีคนฟัง มีสถานีส่งเยอะอยู่แล้ว หากทำตามเงื่อนไขของ กสทช.จะกระทบประมาณ 30-40 เปอร์เซ็นต์ ตนมองว่าการใช้เกณฑ์เดียวไปควบคุมกับทุกสถานี เป็นการตีขลุมไปนิด เพราะสถานีที่มีประโยชน์ต่อคนฟัง พอไปบังคับให้กำลังส่งลดลง ก็จะกระทบต่อประโยชน์ของคนฟัง
นายปานเทพกล่าวว่า ขอตั้งคำถามว่า ตกลง กสทช.จะรับใช้ชาติหรือรับใช้ทุน เมื่อสองวันก่อนตนได้ไปร่วมงานเสวนาของ กสทช. ตนพบว่าผู้ที่มาร่วมงานครั้งนี้ มีสื่อการเมืองเต็มไปหมด ทั้งเอเชียอัพเดท วอยซ์ทีวี บลูสกายทีวี ซึ่งก็ต้องมองความจริงว่าทุนอยู่เบื้องหลังสื่อ และเป็นทุนทางการเมือง เมื่อเป็นเช่นนั้นสังคมไม่มีทางได้รับความจริงได้เลย เพราะยามที่พรรคพวกตัวเองเป็นรัฐบาล ไม่มีทางที่จะตรวจสอบพรรคพวกตัวเอง จึงนับว่าพวกนี้เป็นสื่อไม่ได้
กสทช.ต้องรู้เท่าทันนักการเมืองที่อยู่ภายใต้สื่อ ต้องแยกนักการเมืองไว้ต่างหาก พรรคการเมืองมีสื่อได้ แต่คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องจัดให้เท่าเทียมกันทุกพรรค เพราะถ้าให้ กสทช.ดูแลภายใต้กฎแบบนี้ คนที่มีเงินเยอะสุดคือนักการเมืองที่ทุจริต สื่ออื่นที่มีเงินน้อยสู้ไม่ได้ สื่อการเมืองก็จะแพร่ขยายครอบงำประชาชน จนกระทั่งสังคมไทยล่มสลายในที่สุด
ที่สำคัญ ในการเสวนานั้น นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ซึ่งเป็นหนึ่งใน กสทช.ได้บอกว่า ตัวเขาเองไม่ได้อยู่ในสายของกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ แต่อยู่ในสายของกิจการโทรคมนาคม แต่เป็นอนุกรรมการรับฟังความเห็นในครั้งนี้ และให้ความเห็นไว้ว่า “อยากให้ทุกคนตรวจสอบ กสทช.ด้วย เพราะที่มาของแต่ละคนก็ล้วนแล้วแต่เป็นตัวแทนของทุน” ท่านพูดตรงๆ อย่างนี้เลย ฉะนั้นก็มีโอกาสที่จะได้เห็น กสทช.อนุมัติอะไรบ้าๆบอๆออกมาได้ ความหวังที่จะให้ กสทช. เป็นคนกลางในการจัดสรรคลื่นความถี่ อาจยังไม่ได้ เพราะคนใน กสทช.เองยังพูดแบบนี้ ใครจะเชื่อทุกวันนี้ทีวีฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลไม่ได้ขึ้นไทยคม แต่ของฝ่ายเสื้อแดงได้ขึ้นหมด แล้วตนก็เป็นห่วงว่าหาก กสทช.ปล่อยให้ทุนทางการเมืองเข้ามาเต็มไปหมด ต่อไปสังคมไทยจะยิ่งวิกฤตกว่านี้
น.ส.จุฑารสกล่าวว่า ช่วงของการเปลี่ยนผ่าน อยากให้ทุกฝ่ายอะลุ่มอล่วยกัน ตนไม่ได้เรียกร้องจะต้องเอาคลื่นคืน แค่อยากให้ทุกอย่างดำรงสภาพที่เป็นอยู่ คลื่นอาจรบกวนกันบ้างก็ค่อยๆปรับปรุง ส่วนอันไหนผิดกฎก็กำจัดออกไป แค่นี้จะโล่งขึ้นเยอะเลย
ตนอยากเรียกร้องให้ผู้ที่เคยบอกว่าจะปฏิรูปสื่อ ออกมาเป็นปากเป็นเสียงให้ประชาชนในครั้งนี้ ทีวีที่กลายเป็นทีวีสาธารณะก็ควรออกมาทำหน้าที่เพื่อประชาชน
นายสุทัศน์กล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่สำคัญ กสทช.ไม่ควรเลือกปฏิบัติ และให้เป็นธรรมมากที่สุด ถ้าจะจัดสรรคลื่นความถี่ ขอให้มีมาตรฐานกลาง พวกเราไม่ได้จะถอดถอนท่าน กลับใจยังทัน
นายสุรศักดิ์กล่าวเสริมว่าจะออกกฎเกณฑ์อะไรอยากให้พิจารณาถึงประโยชน์เป็นหลัก การทำวิทยุบริการสาธารณะไม่มีโฆษณา จะไปสู้คลื่นพาณิชย์ได้อย่างไร ออกกฎแบบนี้จะไปทำร้าย ริดรอน สิทธิการรับรู้ข่าวสารของภาคประชาชน ฉะนั้น กสทช.ยังมีเวลากลับใจ
นายปานเทพกล่าวปิดท้ายว่า กสทช.มีอำนาจตามกฎหมาย เป็นผู้ชี้อนาคตของชาติ ถ้ากลายเป็นว่าทีวีไม่สามารถตรวจสอบรัฐบาลได้ เพราะปล่อยให้ทุนการเมืองขยายอาณาเขตไปเรื่อยๆ ในขณะเดียวกันถ้าปล่อยให้คำว่าเป็นธรรมคือทุกคนเท่ากันหมด โดยไม่สนใจว่าสังคมกำลังมีวิกฤตอะไร ยุทธศาสตร์สื่อจะไม่มีทิศทาง จะเป็นไปตามอำาจของเงิน สุดท้ายประเทศไม่สามารถแก้วิกฤตได้ อยากฝากว่าให้ กสทช.คิดอย่างมียุทธศาสตร์ว่าประเทศต้องแก้ไขวิกฤตด้วยสื่อได้อย่างไร ให้เริ่มจากตรงนี้ก่อน