xs
xsm
sm
md
lg

ลูกศิษย์ “หลวงตามหาบัว” ร้องถูก กสทช.บีบสเปก “วิทยุชุมชน” ไม่เป็นธรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กรรมการมูลนิธิเสียงธรรมเพื่อประชาชน พร้อมตัวแทนศูนย์ประสานงานเพื่อการปฏิรูปสื่อ ร้องเรียน “ASTVผู้จัดการออนไลน์” หลัง กสทช.ออกร่างหลักเกณฑ์วิทยุชุมชน กำหนดให้กำลังส่งไม่เกิน 100 วัตต์ เสาอากาศสูงไม่เกิน 40 เมตร ชี้ ไม่เป็นธรรมเมื่อเทียบกับคลื่นหลัก กังขาเอื้อประโยชน์นายทุนหรือไม่ เตรียมประชุม 12 ส.ค.นี้ที่วัดป่าบ้านตาด พร้อมล่ารายชื่อ

วันนี้ (9 ส.ค.) ที่บ้านพระอาทิตย์ พระครูอรรถกิจนันทคุณ กรรมการมูลนิธิเสียงธรรมเพื่อประชาชน พร้อมด้วย นางสาวจุฑารส พรประสิทธิ์ ตัวแทนศูนย์ประสานงานเพื่อการปฏิรูปสื่อ ได้เข้าร้องเรียนต่อผู้สื่อข่าว ASTVผู้จัดการออนไลน์ เพื่อขอความเป็นธรรม กรณีที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ออกร่างประกาศ กสทช.เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง ที่พบว่า ได้กำหนดให้กำลังส่งของวิทยุกระจายเสียง สำหรับกิจการบริการสาธารณะ กิจการบริการชุมชน และกิจการทางธุรกิจ ไม่เกิน 100 วัตต์ และความสูงของเสาอากาศ วัดจากระยะพื้นดินที่ตั้งเสาอากาศไม่เกิน 40 เมตร ซึ่งเห็นว่าไม่เป็นธรรม เพราะสัญญาณจะกระจายในวงแคบเพียงไม่กี่ร้อยเมตร และจะถูกคลื่นวิทยุหลักบดบังสัญญาณ ซึ่งอาจกลายเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับวิทยุภาคธุรกิจที่ได้รับสัมปทาน

พระครูอรรถกิจนันทคุณ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ได้ไปพบกับ นายนที ศุกลรัตน์ กรรมการ กสทช.เพื่อคัดค้านร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว ที่กำหนดให้ใช้เครื่องส่งวิทยุไม่เกิน 100 วัตต์ และความสูงของเสาอากาศไม่เกิน 40 เมตร ซึ่งจะใช้กับสถานีวิทยุกว่า 7 พันสถานีทั่วประเทศ แต่ไม่ใช้กับคลื่นหลัก ซึ่งปัจจุบันสถานีวิทยุเสียงธรรมเพื่อประชาชน ตั้งเสาส่งสัญญาณ 110 เมตร กำลังส่ง 10,000 วัตต์ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งได้ลงทะเบียนกับคณะกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช.ในอดีตมาแล้ว อยู่ๆ จะมาลดลงซึ่งไม่เป็นธรรม ซึ่งต้องดูถึงประโยชน์ของประชาชน เพราะเราออกเนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน และสถานี ได้ออกอากาศมาเกือบจะ 10 ปีแล้ว มาวันนี้ กสทช.จะมาลดคุณสมบัติเลยซึ่งไม่ถูก จึงเสนอแนวทางว่าควรพิจารณาถึงความจำเป็นในการถือครองคลื่นเหมือนคลื่นวิทยุหลัก เพื่อพิจารณาถึงคุณภาพของการออกอากาศ เพราะมีบางคนถือคลื่นความถี่ไว้เฉยๆ เพื่อเอาไปเก็งกำไรและแบ่งสรรเวลา ไม่ได้มีลักษณะที่จะทำให้เป็นประโยชน์แก่สังคมอย่างแท้จริง

“เขาสมควรที่จะต้องไม่ควรใช้หลักเกณฑ์เดียว เป็นเกณฑ์ที่ไม่ได้ดูคุณภาพเลย ต้องดูว่ามีความจำเป็นในการใช้คลื่นความถี่มากน้อยแค่ไหน เราก็เลยเสนอให้มีหลายขนาด อันไหนที่มีความจำเป็นมากก็ควรที่จะมีกำลังส่งไว้สูง อันไหนมีความจำเป็นขนาดลดระดับก็ลดหลั่นกันลงมา ดูทั้งความจำเป็น ดูทั้งกำลัง บางทีเขาไม่มีกำลังทรัพย์เพราะค่าไฟมันมาก สถานีของเราหมื่นวัตต์ยังมีแค่สามสถานี ในจำนวน 121 สถานีเรามีแค่ 3 สถานี ไม่ใช่ใหญ่ได้หมด การทำแบบนี้ในสายตาของเรา คือ การบอนไซ กดให้เตี้ยให้ต่ำลง แล้วในที่สุดก็จะแคระแกร็นตายในที่สุด เป็นการตี 7,700 คลื่นให้ล้มระเนระนาดให้หมด เพราะฉะนั้นในความเห็นของเราจึงเห็นว่ามันขัดกับประโยชน์ของประชาชน” พระครูอรรถกิจนันทคุณ กล่าว

ด้าน นางสาวจุฑารส กล่าวว่า กระแสการปฏิรูปสื่อเกิดขึ้นจากการเคลื่อนไหวของประชาชน ตั้งแต่เหตุการณ์พฤษภา 35 ซึ่งเราต่อสู้ขึ้นมา ดังนั้น รัฐธรรมนูญจึงเปิดช่องให้คลื่นความถี่เป็นทรัพยากรของชาติ เพื่อประโยชน์ของสาธารณะทั้งระดับชาติและท้องถิ่น ดังนั้น จึงเกิดวิทยุที่เกิดใหม่ ไมใช้วิทยุเถื่อน ไม่อยากให้เรียกวิทยุเถื่อน เพราะว่าเราเกิดมาในภาวะตรงนี้เป็นสมบัติของชาติ เป็นสมบัติของประชาชน ที่ผ่านมาไปผูกขาดอยู่ที่นายทุนกลุ่มๆ หนึ่งมานานแล้ว แล้วภาครัฐก็ไปเอื้อกับกลุ่มนายทุนผูกขาด ในวันนี้ประชาชนส่วนหนึ่งก็พยายามขึ้นมาทำประโยชน์สาธารณะที่อาจอยู่ในบริการของสาธารณะหรือในบริการชุมชนก็ตาม ก็ไม่ได้แสวงหากำไร อย่างที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ หรือทางภาคตะวันออกก็มีการเคลื่อนไหวเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งการที่พวกเขาสามารถรวมตัวกันได้ ก็เพราะคลื่นวิทยุเหล่านี้ ซึ่งหากเหลือแค่ร้อยวัตต์จะไปสู้กับนายทุนได้อย่างไร

เพราะฉะนั้นเพื่อความเท่าเทียมกัน วิทยุหลักซึ่งเป็นผู้ที่จะต้องคืนคลื่นความถี่ให้กับประชาชน จะต้องเอาคืนคลื่นได้แล้ว แต่มีการผ่อนผันให้ถึง 5 ปี ตรงจุดนี้คุณจะต้องคืนแต่ยังไม่ได้คืน เมื่อมีการปฏิบัติต่อเขาต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง ซึ่งยังอยู่ในกระบวนการเราไม่ว่ากัน แต่พออยู่ในกระบวนการแล้วมากดดันภาคประชาชน แทนที่จะเป็นกลุ่มนายทุนที่ถือครองคลื่นวิทยุมานานแล้ว แล้วอ้างว่ามีกรอบเวลามันไม่ใช่ ดังนั้นก็อยากที่จะให้ กสทช.เข้ามาดู อาจมีคลื่นธุรกิจบางคลื่นที่ขายยาซึ่ง กสทช.สามารถกำหนดได้ให้เหมือนกับคลื่นวิทยุหลัก และบางคลื่นที่ใช้เวลาไม่เต็ม ซึ่ง กสทช.มีเครือข่ายภูมิภาคทั่วประเทศ ก็สามารถไปสำรวจหรือไปฟังเนื้อหาสาระซึ่งไม่ได้ยากเกินไป เมื่อปี 2552 ได้บังคับให้วิทยุชุมชนทุกสถานีไปขึ้นทะเบียน ซึ่งจะรู้ได้ว่าคลื่นไหนทำประโยชน์ ไม่ทำประโยชน์ ซึ่งบางส่วนไม่ได้เปิดเต็มเวลา กสทช.สามารถเอามารวมกันได้ อย่างน้อยประชาชนก็สามารถสู้กับกลุ่มทุนได้ ซึ่งเราไม่ได้มองแค่ภาคธุรกิจอย่างเดียว แต่เรามองในส่วนของบริการสาธารณะ บริการชุมชนและธุรกิจ ที่กำลังเกิดขึ้นเพราะการเรียกร้องของภาคประชาชน ซึ่งที่ผ่านมาพวกตนเคารพในเรื่องของอายุสัมปทาน แต่มาตรฐานทางเทคนิคทำไมต้องมากดดันเช่นนี้

พระครูอรรถกิจนันทคุณ อธิบายเพิ่มเติมว่า หากมีการลดกำลังส่งของวิทยุกระจายเสียง ในส่วนของวิทยุชุมชน ถ้าลดสเปกลงด้วยกันหมด โดยที่คลื่นวิทยุหลักลดลงด้วย แรงกระทบก็จะลดลง แต่คลื่นหลักซึ่งอยู่บนอาคารสูงสุดในกรุงเทพฯ ออกกำลังส่งได้เกินกว่า 1 หมื่นวัตต์ ในขณะที่บังคับเหลือแค่ 100 วัตต์ เท่ากับว่าจะไปได้ไกลสักเท่าไหร่ ถ้าคลื่นหลักลดลงมาเท่ากันพอฟังได้ ที่เราต้องใช้คลื่นความถี่สูงก็เพราะคลื่นวิทยุหลักใช้กำลังส่งสูง เราก็ต้องใช้กำลังส่งสูงเป็นธรรมดา ถ้าไม่สามรถที่จะลดคลื่นหลักได้เพราะว่าผิดกฎหมายอื่นก็อย่าเพิ่งลด เอาคุณภาพมาวัดกันว่าวิทยุไหนทำประโยชน์เพื่อสังคม ก็เอาหลักเกณฑ์และความจำเป็นในการถือครองคลื่นเข้ามา

เมื่อถามว่า กสทช.เคยสอบถามประชาชนถึงเรื่องนี้หรือไม่ พระครูอรรถกิจนันทคุณ กล่าวว่า กสทช.เคยออกแบบสอบถามมาว่ามีเหตุอะไรถึงต้องถือคลื่น มีรายการที่เป็นประโยชน์อะไรบ้าง ร้อยละเท่าไหร่ คือ สามารถวิเคราะห์ได้ แต่ไม่ทำ กลับมากำหนดคุณสมบัติทางเทคนิคเป็นตัวตั้ง ซึ่งเรามองว่าเอาเรื่องทางเทคนิคมาเป็นตัวตั้งไม่ได้ ต้องเอาคุณภาพเป็นตัวตั้ง ถึงจะมาย้อนสู่ทางเทคนิค เมื่อถามว่า เคยสอบถาม กสทช.ถึงเหตุผลว่าทำไมต้องลดคุณสมบัติลง พระครูอรรถกิจนันทคุณ กล่าวว่า กสทช.อ้างว่า มีคลื่นเยอะ ซึ่งเราก็บอกแล้วว่าต้องพิจารณาความจำเป็น อะไรที่เป็นเรื่องจำเป็นต่อสังคม ซึ่งคลื่นที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมมีน้อยมาก ไม่ถึงร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับภาคธุรกิจที่มีมากกว่า 6 พันสถานี หรือกว่าร้อยละ 80 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องบันเทิง ตรงนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับการส่งเสริมให้พวกเขาอยู่รวมกัน ทำไม กสทช.ไม่คิดทำตรงนี้

พระครูอรรถกิจนันทคุณ กล่าวอีกว่า หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโณ อดีตเจ้าอาวาสวัดป่าบ้านตาด ผู้ล่วงลับเคยเทศน์ไว้ว่า วิทยุเป็นประโยชน์แก่โลก เสียงธรรมไม่ค่อยจะได้ยินกัน แต่ในวิทยุอื่นๆ มีแต่จะเสียงกิเลสท่วมท้น พูดง่ายๆ ว่าเสียงดนตรี เสียงเพลง เสียงธรรมไม่ค่อยมี แต่เสียงความบันเทิงท่วมท้นไปหมด เพราะฉะนั้นพอจะมีเสียงธรรมก็ถูกกลั่นแกล้ง กีดกัน อ้างร่างกฎหมายมาบังคับไม่ให้ออกอากาศ ต่อมาก็บังคับความสูง ความต่ำของวิทยุ ท่านบอกว่าเรื่องเหล่านี้ท่านสังเวชมาก เพราะเสียงธรรมที่จะเป็นประโยชน์แก่โลกไม่ค่อยมี กลีบมีแต่เสียงกิเลสตัณหา เสียงฟืนเสียงไฟทั่วไปหมด เป็นอันตรายต่อโลกกลับไม่ประกาศ กฎหมายข้อใดก็ไม่แสดงออกมาที่จะคอยบอกว่าให้มีความพอดีหรือไม่ กสทช.กลับมาตั้งมาตรฐานเช่นนี้ ตนในฐานะลูกศิษย์หลวงตามหาบัว เห็นว่า กสทช.กำลังทำสิ่งที่เป็นอันตรายแก่โลกอย่างมาก

ทั้งนี้ มูลนิธิเสียงธรรมเพื่อประชาชนและเครือข่ายฯ จะมีการประชุมกันในวันที่ 12 ส.ค.นี้ ที่วัดป่าบ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี เพื่อที่จะวางนโยบายเรื่องนี้ ว่า จะคัดค้าน กสทช.อย่างไร โดยไม่ยอมรับในเรื่องของกฎเกณฑ์ตรงนี้ ซึ่งตนเห็นว่ามีความคิดที่ดีกว่านี้ และบรรดาลูกศิษย์หลวงตามหาบัวทั่วประเทศก็จะไม่ยอมรับเรื่องนี้ ถือว่าเป็นการออกมาตรฐานที่ไม่เป็นธรรมซ้ำรอยเมื่อปี 2548 ซึ่งกรมประชาสัมพันธ์ได้ออกมาลดกำลังส่งและเสาส่งสัญญาณลง ซึ่งหลวงตามหาบัวไม่ยอม และเคยเทศนาว่า ถ้าออกกฎเกณท์แบบนี้แล้วจะต้องติดคุก หลวงตามหาบัวก็จะไปติดคุกเอง ซึ่งศาลปกครองพิสูจน์มาแล้วว่ากรมประชาสัมพันธ์ไม่มีอำนาจ แต่ กสทช.มีอำนาจเต็ม แต่กลับใช้อำนาจไม่เป็นธรรม ตนไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นถ้า กสทช.จะทำเช่นนี้ก็ออกไปเสีย อย่ามาอยู่ ถ้าจะออกร่างกฎหมายนี้เราก็ไม่รับ ประกาศบังคับใช้ก็จะไม่ทำ ซึ่งการประชุมวันที่ 12 ส.ค.ทิศทางการเคลื่อนไหวอาจจะหนักกว่านี้ก็ได้ นอกจากนี้ยังมีการเปิดโอกาสให้ประชาชนลงรายชื่อเพื่อคัดค้านร่างกฎหมายดังกล่าว โดยจะรวบรวมรายชื่อเพื่อยื่นต่อ กสทช.อีกด้วย

นางสาวจุฑารส กล่าวทิ้งท้ายว่า คิดว่าตอนนี้ยังไม่สายเกินไปที่ กสทช.จะได้ทบทวน เพราะเมื่อวันที่ 20 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีการทำประชาพิจารณ์ มีกระแสคัดค้านอย่างรุนแรงมาก คือ ทุกคนเข้าใจว้าคลื่นวิทยุชุมชนมันเยอะ แต่ต้องกลับไปดูว่าทำไมสถานีวิทยุถึงมีเยอะ เมื่อปี 2552 ได้มีการเปิดโอกาสให้ใครก็ได้เข้ามาขึ้นทะเบียน ทุกคนก็ไปจองล็อกคลื่น และมาลงทะเบียนก็ได้ทดลองออกอากาศ ซึ่งลักษณะเช่นนี้ทำให้วิทยุชุมชนเติบโตออกไป แต่ตอนนี้ กสทช.มีอำนาจเต็มที่ สามารถจะคัดกรองได้จากความจำเป็นในการถือครองคลื่น ซึ่งอยากให้คัดกรองกันมาเลยแล้วมารวมกลุ่มกันก้ได้ ซึ่งมีวิธีการดังกล่าว ดังนั้นอยากให้ทบทวน ก็จะอ้างว่าคลื่นเยอะ ซึ่งก็มีวิธีการจัดการ ซึ่งการกำหนดให้ส่งสัญญาณเพียง 100 วัตต์ ก็เท่ากับฆ่ากันเลย เพราะในส่วนของคลื่นหลักไม่ได้ห้ามว่าจะต้องเพิ่มคลื่นส่ง ตอนนี้ก็มีอีกหลายรายที่พร้อมจะเพิ่มคลื่นส่ง แม้จะอ้างว่ามาตรการนี้บังคับใช้แค่ 3 ปี ประชาชนก็ตายกันหมดแล้ว ทำให้ทุกคนสงสัยว่า กสทช.จะเอื้อประโยชน์ให้กับใคร ก็อยากให้ทบทวนวิธีการทำงานกันใหม่






กำลังโหลดความคิดเห็น