xs
xsm
sm
md
lg

3G - จอดำ - ปิดกั้นคลื่นธรรมะ ตอกย้ำ “กสทช.” ไร้น้ำยา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กสทช. หรือ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ องค์กรที่เพิ่งดำเนินงานมาได้แค่ไม่กี่ปี แต่จากผลงานที่ผ่านมา หลายๆกรณีก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงควาไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค ตั้งแต่ครั้ง 3G ที่ยืดเยื้อ กรณีจอดำการแข่งขันบอลยูโร จนมาถึงล่าสุดกับกรณีลดกำลังส่งของวิทยุชุมชนให้เหลือเพียง 100 วัตต์ เลยทำให้เกิดคำถามว่า ตกลงแล้วกสทช.มีหน้าที่ดูแลผลประโยชน์ให้ใครกันแน่ ผู้บริโภค หรือ นายทุน ??

คลื่นวิทยุชุมชน ตกลงใครเป็นเจ้าของ

ประเด็นล่าสุดที่ทำให้กลุ่มประชาชนคลางแคลงใจต่อการทำงานของกสทช. คือเรื่องของร่างประกาศหลักเกณฑ์การอนุญาตทดลองประกอบกิจการกระจายเสียงที่จะส่งผลให้คลื่นเล็กๆ อย่างวิทยุชุมชนถูกกลืนหายไปเพราะแรงกระทบจากสัญญาณคลื่นวิทยุหลักบดบังนั่นเอง หลังจากที่ กสทช. ได้กำหนดลดสเปกให้กำลังส่งของวิทยุกระจายเสียง สำหรับกิจการบริการสาธารณะ กิจการบริการชุมชน และกิจการทางธุรกิจ เหลือน้อยลงเพียง 100 วัตต์ จึงทำให้เมื่อวาน (22 ส.ค.) กลุ่มพระสงฆ์นับร้อยรูป กับผู้ชุมนุมอีกจำนวนหนึ่งได้มารวมตัวกันที่หน้าที่สำนักงานกสทช. เพื่อยื่นหนังสือเรื่องรายชื่อประชาชนที่ไม่ยอมรับ เพราะไม่เป็นธรรมเมื่อเทียบกับคลื่นหลัก และกังขาว่าเอื้อประโยชน์ต่อนายทุนหรือไม่

ในส่วนของการชุมนุมครั้งนี้ ผู้นำคือ พระครูอรรถกิจนันทคุณ วัดป่าคอยสืบงา จ.กำแพงเพชร ในนามของกรรมการมูลนิธิเสียงธรรมเพื่อประชาชน ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พระครูก็เคยเดินทางมาที่บ้านพระอาทิตย์เพื่อเรียกร้องขอความเป็นธรรมในกรณีที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ออกร่างประกาศ กสทช.เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง ที่พบว่า ได้กำหนดให้กำลังส่งของวิทยุกระจายเสียง สำหรับกิจการบริการสาธารณะ กิจการบริการชุมชน และกิจการทางธุรกิจ ไม่เกิน 100 วัตต์ และความสูงของเสาอากาศ วัดจากระยะพื้นดินที่ตั้งเสาอากาศไม่เกิน 40 เมตร ซึ่งเห็นว่าไม่เป็นธรรม เพราะสัญญาณจะกระจายในวงแคบเพียงไม่กี่ร้อยเมตร และจะถูกคลื่นวิทยุหลักบดบังสัญญาณ ซึ่งอาจกลายเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับวิทยุภาคธุรกิจที่ได้รับสัมปทาน

อีกมุมองหนึ่งจาก นางสาวจุฑารส พรประสิทธิ์ ตัวแทนศูนย์ประสานงานเพื่อการปฏิรูปสื่อกล่าวว่า “กระแสการปฏิรูปสื่อเกิดขึ้นจากการเคลื่อนไหวของประชาชน ตั้งแต่เหตุการณ์พฤษภา 35 ซึ่งเราต่อสู้ขึ้นมา ดังนั้น รัฐธรรมนูญจึงเปิดช่องให้คลื่นความถี่เป็นทรัพยากรของชาติ เพื่อประโยชน์ของสาธารณะทั้งระดับชาติและท้องถิ่น ดังนั้น จึงเกิดวิทยุที่เกิดใหม่ ไม่ใช้วิทยุเถื่อน ไม่อยากให้เรียกวิทยุเถื่อน เพราะว่าเราเกิดมาในภาวะตรงนี้เป็นสมบัติของชาติ เป็นสมบัติของประชาชน ที่ผ่านมาไปผูกขาดอยู่ที่นายทุนกลุ่มๆ หนึ่งมานานแล้ว แล้วภาครัฐก็ไปเอื้อกับกลุ่มนายทุนผูกขาด ในวันนี้ประชาชนส่วนหนึ่งก็พยายามขึ้นมาทำประโยชน์สาธารณะที่อาจอยู่ในบริการของสาธารณะหรือในบริการชุมชนก็ตาม ก็ไม่ได้แสวงหากำไร

เพราะฉะนั้น เพื่อความเท่าเทียมกัน วิทยุหลักซึ่งเป็นผู้ที่จะต้องคืนคลื่นความถี่ให้กับประชาชน จะต้องเอาคืนคลื่นได้แล้ว แต่มีการผ่อนผันให้ถึง 5 ปี ตรงจุดนี้คุณจะต้องคืนแต่ยังไม่ได้คืน เมื่อมีการปฏิบัติต่อเขาต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง ซึ่งยังอยู่ในกระบวนการเราไม่ว่ากัน แต่พออยู่ในกระบวนการแล้วมากดดันภาคประชาชน แทนที่จะเป็นกลุ่มนายทุนที่ถือครองคลื่นวิทยุมานานแล้ว”

ตอนนี้ก็ยังต้องรอฟังผลกันต่อไปว่ากสทช.จะมีเปลี่ยนแปลงร่างฉบับนี้หรือไม่ ตามความคิดเห็นของกลุ่มเสียงธรรมะกลุ่มเล็กๆที่หวังว่าจะมีช่องทางในการสื่อสารกระแสธรรมเหมือนสถานีเพลงบันเทิงตามคลื่นใหญ่ๆ บ้าง

ขนานนาม “เสือกระดาษ” กรณีจอดำ

เหตุการณ์ครั้งใหญ่ที่ทำให้กสทช. ถูกขนานนามว่า “เสือกระดาษ” (ประเทศ องค์การ หรือผู้ที่ทำท่าทีประหนึ่งมีอำนาจมาก แต่ความจริงไม่มี) กับเหตุปัญหาจอดำ ที่แม้จะยื่นมือเข้ามาช่วยแก้ปัญหาช่วยผู้บริโภคให้ได้กลับมาดูการถ่ายทอดสดบอลยูโร แต่พอถึงเวลาก็กลับทำอะไรไม่ได้ ซึ่งก็เป็นกรณีครั้งแรกของประเทศไทยที่ว่าประชาชนต้องซื้อกล่องใหม่ของผู้ได้ลิขสิทธิ์เพื่อจะได้ดูรายการนั้นๆ ซึ่งก็หวั่นใจว่าจบปัญหากล่องเจ้ากรรม GmmZ ไปแล้วในอนาคตอาจจะปวดหัวกับกล่องจากค่ายอื่นๆอีกหรือเปล่า

หลังผ่านมาสดๆร้อนๆ แถมได้คำด่าตลบไล่หลังไปจนปวดหูกับ กล่องเจ้าปัญหา GmmZ ที่ทำให้คอบอลอดดูบอลยูโรไปหลายล้านครัวเรือน โดยต้องทนดูจอดำมืดสนิทอยู่หลายวันจนคนใช้จานแดงต้องยอมกดรีโมตไปดูหลินปิงแทนแก้เซ็ง

ตอนแรกทาง กสทช. ก็กระตือรือร้นเป็นอย่างดีที่จะเข้ามาช่วยไกล่เกลี่ยให้ครัวเรือนที่ใช้กล่องอื่นๆที่ไม่ใช่ GmmZ สามารถรับชมถ่ายทอดสดฟุตยอลยูโรผ่านทางช่องฟรีทีวี แต่ผ่านไปหลายนัดก็ไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้ จนกระทั่งปิดฤดูกาล ในครั้งนั้น เมื่อหาทางออกไม่ได้ น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านคุ้มครองผู้บริโภค จึงออกมากล่าวชี้แนะถึงปัญหากล่องรับสัญญาณว่า

“อนาคตเราอาจซื้อกล่องมาเพียงกล่องเดียว แล้วไปซื้อสัญญาณมาลงกล่อง สามารถรับสถานีได้เป็นร้อยสถานี อาจจะทำอย่างนั้นก็ได้ ซึ่งต้องขอเวลาแก้ไข รวมทั้งการจัดทำร่างประกาศจะทำให้ครอบคลุมการนำเข้ากล่องที่บังคับให้สามารถเข้ารหัสสัญญาณได้ หรือมีช่องให้สามารถเข้ารหัสได้ด้วยการนำการ์ดเสียบ” แต่มันก็เป็นเพียงความคิดในอนาคตที่ออกมาแก้ต่างความผิดในครั้งนั้นนั่นเอง

จากนั้น สุภิญญา ได้กล่าวถึงทิศทางในอนาคตต่อไปว่า กสทช.จะออกหลักเกณฑ์เพื่อรองรับการนำพาสัญญาณดาวเทียมให้ถูกกฎหมาย และจัดทำประกาศพิเศษที่เรียกว่า "มัสต์ แครี" ซึ่งประกาศนี้จะบอกชัดเจนเลยว่าการนำพาสัญญาณฟรีทีวีไปบริการผ่านเคเบิลและดาวเทียมเป็นสิ่งที่ชอบธรรมด้วยกฎหมาย ก็จะทำให้มั่นใจถ้าจะเอาสัญญาณไปออก

หลังจากการเจอมรสุมปัญหาที่ล้มเหลวครั้งนั้น กสทช.ก็ทำได้แค่ตามไล่บี้ค่าปรับกับทางทรูวิชั่นส์ โทษฐานขัดคำสั่งทางปกครองกรณีดังกล่าวเป็นจำนวนเงินวันละ 20,000 บาท หรือรวมเป็นเงินประมาณ 500,000 บาทตลอดระยะเวลาการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2012 ซึ่งหากไม่จ่ายค่าปรับตามคำสั่งปกครองดังกล่าวภายใน 1 เดือน ทรูวิชั่นส์จะต้องเสียค่าปรับเพิ่มอีก 2% ของเงินค่าปรับ 500,000 บาท ส่วนกรณีมีผู้บริโภค และสมาชิกทรูวิชั่นส์ประมาณ 200 รายที่ยื่นเรื่องร้องเรียนมายังกสทช.ในกรณีเดียวกัน ทาง กสทช.ได้สั่งให้ทรูวิชั่นส์จะต้องเป็นผู้ไปดำเนินการเยียวยาทั้งหมดภายใน 2 เดือนนับจากนี้ ก็หวังว่าการลงดาบคาดโทษแบบเอาจริงเอาจังและนโยบายผลงานชิ้นโบแดงอย่าง “มัสต์ แครี” จะช่วยแก้ปัญหาในระยะยาวให้กับผู้บริโภคได้อย่างแท้จริง ไม่ใช้สักแต่ว่าแก้ปัญหาเอาหน้าประชาชนแค่ตอนนี้เท่านั้น

กว่าจะได้ฤกษ์คลอด 3G

อีกหนึ่งปัญหายืดเยื้อลากยาวน่าเบื่อจนพาประเทศถอยหลังลงคลองกับปัญหา 3G ที่ยังประมูลไม่ได้ แถมฟ้องกันไปมาอีนุงตุงนัง จนคนดูนั่งเซ็งว่าเมื่อไหร่จะได้ใช้ 3G เสียที

โดยเมื่อวันที่ 15 สิงหาที่ผ่านมา มีการประชุมหารือโดยสรุปได้ว่ามีการลดเพดานการถือครองคลื่นความถี่ลง สำหรับใบประมูลอนุญาตโครงข่ายโทรศัพท์ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ ด้วยคลื่นความถี่ 45 เมกะเฮิรตซ์ จะแบ่งเป็น 9 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 5 เมกะเฮิรตซ์ และสามารถประมูลคลื่นความถี่ได้สูงสุด ไม่เกิด 15 เมกะเฮิรตซ์ หรือจำนวน 3 ใบอนุญาต ซึ่งลดจากเดิมซึ่งถือให้ไม่เกิด 20 เมกะเฮิร์ตซ เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกัน ในการประมูล มีความเป็นธรรม ในการถือครองคลื่นความถี่ เพื่อการแข่งขัน ทั้งการประมูลและการดำเนินธุรกิจ ส่วนราคาของใบอนุญาต 3G ยังคงมีการยืนยันในราคาเดิมที่ 4,500 ล้านบาทต่อคลื่นความถี่ 5 เมกะเฮิรตซ์ เนื่องจากเป็นราคาที่เหมาะสมแล้ว โดยคำนวณจากกลไกของราคาตลาดและอัตราเงินเฟ้อ

สำหรับการเสนอราคาในการประมูลจะขยับขึ้นครั้งละ 5% หรือ 200 ล้านบาท และจะเสนอให้ที่ประชุม กสทช.พิจารณาอนุมัติวันที่ 22 ส.ค.55 จากนั้นจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายในสิ้นเดือน ส.ค.55 และเปิดประมูลกลางเดือน ต.ค.55 ซึ่งคาดว่าครั้งนี้น่าจะเป็นการสรุปทางออกเพื่อนำไปสู่การใช้ 3G อย่างเป็นรูปธรรม

เมื่อมาเรียบเรียงลำดับเหตุการณ์ใหญ่ที่อยู่ในหน้าที่การดูแลของ กสทช.แล้ว เราก็พอจะเห็นข้อบกพร่องและช่องโหว่ของกฎหมายที่ไม่สามารถรักษาสิทธิของผู้บริโภคแบบเต็มร้อยได้ ดร.อานุภาพ ถิรลาภ นักวิชาการอิสระด้านการสื่อสารและโทรคมนาคม จึงเป็นอีกหนึ่งคนที่มองว่า กสทช.อาจไม่ใช่องค์กรที่เข้าข้างประชาชนสักเท่าไหร่ และหลายครั้งที่ผลการตัดสินของ กสทช.เอื้อต่อภาคธุรกิจและภาครัฐ แต่ไม่เคยเหลือตกถึงมือประชาชน

“องค์กรนี้ไม่เคยช่วยอะไรประชาชนเลย ตั้งแต่ยังเป็น กทช.แล้ว มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม 11 ประการ ที่ผ่านไป 6 ปีแล้ว ก็ยังไม่ได้บังคับใช้ วงโคจรดาวเทียมก็เกือบเสียไป เพราะมัวแต่โยนกันไปโยนกันมากับไอซีที บอกว่าไม่ใช่ส่วนที่ดูแล

การประมูลคลื่อนความถี่ 3G ประมูลไปในราคาแพงๆแล้วประชาชนได้อะไร บอกแต่ว่ารัฐได้ประโยชน์มากขึ้น ผมว่าน่าจะเป็น รัฐได้เงินมากขึ้นมากกว่า แต่ไม่เห็นว่าจะออกมาระบุชัดเจนว่าประชาชนได้ประโยชน์อะไรจากตรงนี้ อย่างราคาเพิ่มทุกล้านบาท ประชาชนได้ส่วนลดสิบสตางค์ หรือราคาเพิ่มอีกร้อยล้านบาท ทั้งหมู่บ้านได้รับสิทธิ์โทรฟรี แต่ก็ไม่เห็นมี ไม่เคยชี้แจงว่าได้ประโยชน์อะไร แล้วพอยิ่งแพง ภาระก็มาตกที่ผู้บริโภค ประชาชนก็ซวย ต้องจ่ายแพงมากขึ้น ตามต้นทุนที่เขาจ่ายไป

ความถี่เป็นของประชาชน เหมือนเรามีที่นาอยู่ให้นายทุนเช่าไป พอได้ผลก็ต้องแบ่งข้าวกันคนละครึ่งถึงจะถูก แต่เปล่าเลยกลายเป็นว่านายทุนเอาที่นาเราไปทำ แต่เก็บผลประโยชน์ไว้กับนายหน้า ไม่ได้มาแบ่งให้เจ้าของนา ต้นทุนไม่เกิน 10 สตางค์ เอามาขายประชาชนเมกฯละบาท ได้กำไรเป็นสิบเท่า แต่ประชาชนไม่รู้ ตรงนี้ กสทช.นี่แหละต้องมากำกับดูแลไม่ให้ประชาชนโดนเอารัดเอาเปรียบ แต่นี่ก็เห็นเงียบเฉย”

ถึงแม้ กสทช. เพิ่งจะเข้ามาทำงานแต่ก็สร้างผลงานและชื่อเสียงให้ประชาชนได้จดจำว่าเป็นองค์กรที่ดูแลกำกับในด้านวิทยุ โทรทัศน์ และการสื่อสาร ที่ครอบคลุมผลประโยชน์หลักๆของประเทศ ก็ไม่อยากจะด่วนสรุปตัดสินว่าองค์กรนี้ดีหรือไม่ดี เพราะคิดว่าประชาชนทุกคนคงรู้ดีว่าผลประโยชน์นั้นตกอยู่ที่ใครกันแน่

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE




กำลังโหลดความคิดเห็น