รายงานการเมือง
สุภาษิตโบราณที่ใช้กันจนมาถึงทุกวันนี้เพื่อเตือนสติผู้หญิง คือ “มีผัวผิดคิดจนตัวตาย” น่าจะนำมาปรับใช้กับคนไทยในยุคปัจจุบันได้ว่า “เลือกพรรคผิดคิดจนประเทศพัง” เพราะเพียงแค่ 1 ปีความฉิบหายก็มาเคาะประตูบ้านจนคนไทยแทบตั้งรับไม่ทัน
เรียกว่าเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า แต่น่าแปลกที่สื่อยักษ์ใหญ่เงียบกริบ ไม่สนใจนโยบายแหกตาโกหกเอาคะแนนเสียงสุดท้ายทำไม่ได้ก็ไม่มีการทวงถาม เหลือสื่ออยู่เพียง “ASTVผู้จัดการ” ที่ยังปักหลักสู้กับทุนสามานย์อย่างทรหด
ก็เพียงพอที่จะทำให้คนบางกลุ่มตาสว่างมองเห็นอันตรายที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กำลังขับรถพาคนไทยลงสู่หุบเหวแห่งหายนะ จากนโยบายประชานิยมบ้าคลั่งที่กำลังจะสะสมเป็นหนี้ท่วมบ้านเมือง รวมถึงการจำนำข้าวกำลังจะเป็นจำนำประเทศในไม่ช้านี้
ประเด็นที่กำลังจะกลายเป็นทุกข์หนักของคนไทย คือ การลอยตัวแก๊สหุงต้มในปีหน้า และการทยอยลอยตัวแอลพีจีภาคขนส่ง ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2555 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน หรือ กบง.มีมติปรับขึ้นราคาแอลพีจีภาคขนส่ง 25 สตางค์ต่อกิโลกรัม จาก 21.13 เป็น 21.38 บาทต่อกิโลกรัม และจากนี้ไปจะทยอยปรับขึ้นทุกเดือนจนเท่ากับราคาตลาดโลก
ในวันเดียวกัน กบง.ยังปรับลดการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันในส่วนของเบนซิน 95 ปรับลด 60 สตางค์ต่อลิตร เหลือ 6.50 บาทต่อลิตร เบนซิน 91 ลด 1.50 บาทต่อลิตร เหลือ 5.20 บาทต่อลิตร น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 ปรับลด 50 สตางค์ เหลือ 1.30 บาทต่อลิตร แก๊สโซฮอล์ 91 ปรับลด 1.20 บาทต่อลิตร ทำให้ต้องนำเงินไปชดเชย 1 บาทต่อลิตร น้ำมันแก๊สโซฮอล์อี 20 ชดเชยเพิ่ม 30 สตางค์ต่อลิตร รวมเป็นการชดเชยเพิ่ม 1.30 บาทต่อลิตร แก๊สโซฮอล์อี 85 ชดเชยเพิ่ม 20 สตางค์ต่อลิตร เป็นชดเชยรวม 12.70 บาทต่อลิตร
ขณะที่ดีเซลไม่เก็บเข้ากองทุนน้ำมัน ส่งผลให้กองทุนน้ำมันติดลบเพิ่มจาก 15 ล้านบาทต่อวัน เป็นติดลบ 37 ล้านบาทต่อวัน
ที่หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาเพื่อจะชี้ให้เห็นถึงความผิดปกติในการบริหารกองทุนน้ำมัน ทั้งเรื่องหลักคิดและวิธีปฏิบัติ ซึ่งประโยชน์มิได้ตกอยู่กับประชาชน แต่คนที่ได้รับประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย คือ “ผู้ถือหุ้น ปตท.!”
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม กบง.ก็เพิ่งจะปรับลดการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันในส่วนของน้ำมันเบนซิน 91 ลง 40 สตางค์ แทนที่จะทำให้ราคาขายปลีกลดลงกลับพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ทำลายสถิติในยุคอภิสิทธิ์ซึ่งสูงสุดในวันที่ 30 เมษายน 2554 ราคา 44.34 บาท แต่ยุคยิ่งลักษณ์10 สิงหาคม 55 ทุบสถิติไปอยู่ที่ 44.55 บาทแพงกว่ายุคอภิสิทธิ์ 21 สตางค์ ทั้งๆ ที่ราคาน้ำมันดิบถูกกว่าถึง 22 ดอลลาร์สิงคโปร์
แต่ที่แพงขึ้นคือ การเพิ่มค่าการตลาดของ ปตท.ที่เพิ่มจากเดิม 0.4125 บาท เป็น 1.3178 บาท เพิ่มขึ้น 0.9053 บาท หรือ 219.46%
คำถามคือ ราคาน้ำมันดิบในตลาดสิงคโปร์ที่ ปตท.ใช้อ้างอิงมันนิ่งคงที่ แต่ ปตท.ปรับขึ้นราคาเพราะต้องการกำไรเพิ่มโดยที่ต้นทุนเท่าเดิม และรัฐบาลผ่าน กบง.ก็ใช้กองทุนน้ำมันไปรองรับการแสวงหากำไรของ ปตท.ด้วยการปรับลดการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน เพื่อให้คนไทยไม่รู้สึกว่าน้ำมันแพงสวนทางราคาตลาดโลก จนทำให้กองทุนน้ำมันติดลบ 15 ล้านบาทต่อวัน แต่ ปตท.ได้กำไรจากค่าการตลาดเพิ่ม 219.46%
เป็นการใช้กองทุนน้ำมันมาบริหารเพื่อ ปตท. ไม่ใช่เพื่อประชาชน
ไม่ต่างจากกรณีล่าสุดที่มีการปรับลดเงินเข้ากองทุนน้ำมันยกตัวอย่างเบนซิน 91 ลดการจัดเก็บ 1.50 บาท ทำในวันเดียวกับการประกาศขึ้นราคาแอลพีจีอีก 25 สตางค์ ซึ่งคนที่ได้ประโยชน์คือ ปตท.ที่จะได้กำไรเพิ่มขึ้น กบง.ก็ใช้วิธีบริหารอารมณ์คนไทยด้วยลดการจัดเก็บเงินในส่วนเบนซินและอีกหลายชนิดลงอีก ทั้งที่เพิ่งปรับลดไปเพียงแค่ 4 วัน ไม่มีเรื่องราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกใด ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง นอกจากทำให้คนไทยส่วนหนึ่งรู้สึกว่าจ่ายเบนซินน้อยลง
ส่วนแอลพีจีภาคขนส่งขึ้นก็ช่างมันเพราะไม่ได้เติม โดยไม่ทันคิดว่าสุดท้ายนโยบายลอยตัวแอลพีจีภาคขนส่งจะวนกลับมาเป็นภาระของประชาชนในที่สุด คือ ราคาสินค้าจะขยับขึ้นอีกระลอกจากภาระต้นทุนภาคขนส่งที่สูงขึ้น นอกจากนี้กองทุนน้ำมันยังติดลบเพิ่มอีก 38 ล้านบาทต่อวันด้วย
สุดท้ายแล้วคนใช้เบนซินที่ดีใจว่าราคาน้ำมันลด ก็จะต้องไปจ่ายเพิ่มเป็นค่าข้าวแกงที่แพงขึ้น และสินค้าอื่นๆ ที่จะทยอยปรับราคาตามมา อีกทั้งยังต้องแบกภาระจากหนี้กองทุนน้ำมันที่จะเพิ่มสูงขึ้น
เพราะรัฐบาลจะต้องกู้เงินเพิ่มเพื่อไปโปะกองทุนน้ำมันที่ติดลบ โดยในปัจจุบันมีการเปิดวงเงินกู้เอาไว้แล้ว 3 หมื่นล้านบาท แต่คนที่มีแต่ได้กับได้คือ “ผู้ถือหุ้น ปตท.” ที่จะได้กำไรเพิ่มขึ้นจากการลอยตัวก๊าซทุกชนิดตามนโยบายของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
การบริหารงานแบบนี้เท่ากับทำลายกองทุนน้ำมันซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการรักษาเถียรภาพด้านราคาเพื่อให้มีความผันผวนน้อยที่สุด และอุดหนุนพลังงานทดแทนแอลพีจี และเอ็นจีวี อย่างชัดเจน เพราะนอกจากจะไม่สามารถอุดหนุนแอลพีจีได้อย่างที่เคยทำแล้ว กองทุนยังติดลบ จากการบริหารด้วยการนำการเมืองมานำหน้านโยบายพลังงาน และการนำกำไรของ ปตท.มานำหน้าชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน
คนไทยกำลังต้องเผชิญกับภาวะสินค้าที่แพงขึ้นจากต้นทุนภาคขนส่งที่สูงขึ้น คนไทยกำลังต้องเผชิญกับการกินข้าวแกงในราคาที่แพงขึ้น เพราะก๊าซหุงต้มจะเพิ่มขึ้นประมาณ 178 บาทต่อถังในปีหน้า
ขณะที่กองทุนน้ำมันกลับติดลบ สร้างหนี้ให้คนไทยต้องแบกภาระแล้ว 3 หมื่นล้านบาท เงินส่วนนี้หายไปไหน ในเมื่อคนไทยยังใช้น้ำมันแพงแทบจะไม่แตกต่างจากเดิม แถมกำลังจะต้องใช้แอลพีจี เอ็นจีวี ในราคาตลาดโลก กองทุนน้ำมันก็ติดลบ แล้วใครที่ได้ประโยชน์จากการบริหารที่ผิดพลาดอย่างตั้งใจในเรื่องนี้ ถ้าไม่ใช่ ปตท.
ปตท.กำลังรุดหน้าเติบโตแบบก้าวกระโดดมีกำไรในปี 2554 กว่าแสนล้านบาท และในปี 55 เพิ่งติดอันดับ 1 ใน 100 บริษัทใหญ่ที่สุดของโลก โดยนิตยสารธุรกิจชื่อดัง “ฟอร์จูน” ได้เปิดเผยว่า ปตท.ติดอันดับ 95 ปรับจากปีที่แล้วซึ่งอยู่อันดับ 128 และเป็นบริษัทเดียวของประเทศไทยที่ติดอันดับ 1 ใน 500 ของการจัดอันดับบริษัทขนาดใหญ่ที่สุดของโลกจากนิตยสารฟอร์จูน
ร่ำรวยปันผลกันไม่หวาดไม่ไหว จนลืมไปว่า ปตท.คือรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลกำต้องดูแลให้มีการส่งกำไรคืนกลับให้ประเทศและประชาชน แต่วันนี้รัฐบาลสนับสนุนให้ ปตท.เป็นรัฐวิสาหกิจเพื่อนายทุน
ขูดรีดคนไทยไปเพิ่มกำไรให้ ปตท.อย่างน่ารังเกียจที่สุด