xs
xsm
sm
md
lg

เผยโครงการจัดการน้ำลดวงเงินค่าประสบการณ์เหลือ 10% อ้างเอื้อรายเล็ก-ยันไม่ล็อกสเปก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รองปลัด ทส.เผยโครงการบริหารจัดการน้ำ รัฐบาลปรับลดหลักเกณฑ์ค่าประสบการณ์ย้อนหลังเหลือ 10% อ้างเปิดทางให้บริษัทเอกชนขนาดเล็กมีโอกาสทำโครงการป้องกันน้ำท่วม ยันไม่มีล็อคสเปคเอื้อจีน เหตุใช้เกณฑ์สากล ยึดหลักให้คะแนนต้อง ของดี-ถูก-เร็วที่สุด

วันนี้ (10 ส.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะเลขานุการเลขาธิการสำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) เปิดเผยภายหลังคณะกรรมการพิจารณาแบบการก่อกสร้างระบบบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยว่า การประชุมมีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 3 ชุด ประกอบด้วย 1. คณะอนุกรรมการพิจารณาคุณสมบัติของผู้เสนอกรอบแนวคิด โดยมีตนเป็นประธาน 2. คณะอนุกรรมการพิจารณากรอบแนวคิดและเทคนิควิชาการ โดยมีรศ.ดร.อภิชาต อนุกูลอำไพ เป็นประธาน และ 3. คณะอนุกรรมการกรอบแนวคิดการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม สังคม และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน โดยมีปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธาน

คณะอนุกรรมการทั้ง 3 ชุดจะพิจารณาเห็นชอบคุณสมบัติ 395 บริษัทที่ขอรับกรอบแนวคิดโครงการบริหารจัดการน้ำมูลค่า 3 แสนล้านบาท โดยในวันที่ 24 ส.ค.จะประกาศรายชื่อบริษัทที่สอบผ่านการคัดเลือกที่คณะกรรมการกำหนดไว้ หลังจากนั้นจะเปิดโอกาสให้บริษัทที่สอบผ่านคุณสมบัติ ได้ไปทำร่างกรอบแนวคิดกำหนดภายในเวลา 60 วัน ให้เสนอกรอบแนวคิดจัดทำร่างทีโออาร์ ภายในวันที่ 28 พ.ย. จากนั้นคณะอนุกรรมการทั้ง 3 ชุดจะใช้เวลาอีก 30 วัน ในการสัมภาษณ์และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากบริษัทเอกชน จนถึงวันที่ 28 ธ.ค. และต่อจากนั้นทางคณะกรรมการคัดเลือกชุดใหญ่ที่มีนายปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานกบอ.เป็นประธานและกรรมการอีก 21 คน จะตัดสินว่าบริษัทใดควรจะได้ดำเนินการโครงการเมกะโปรเจ็กต์น้ำของรัฐบาล

ทั้งนี้ หลักเกณฑ์การให้คะแนน มีจำนวน 8 ข้อ ที่คณะกรรมการจะยึดเป็นแนวทางในการให้คะแนน คือ 1.ความถูกต้อง 2.ความสอดคล้องกับแผนแม่บทของคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางแผนการบริหารจัดทรัพยากรน้ำ (กยน.) 3.ความเป็นไปได้ 4.ความเชื่อมโยงทั้งระบบ 5.ความรู้ความชำนาญการ 6.กรอบเวลาที่สั้นที่สุด 7.งบประมาณที่ต่ำที่สุด และ8.ผลสัมฤทธิ์ของโครงการ สำหรับหลักเกณฑ์การให้คะแนนใช้แนวการให้คะแนนเป็นเปอร์เซ็น 100 เปอร์เซนต์ แบ่งเป็น 1.แนวคิดทางวิชาการ 35 เปอร์เซนต์ 2.กรอบวงเงิน ระยะเวลาที่เสนอ 35 เปอร์เซนต์ 3.ประสบการณ์ในการทำงาน 20 เปอร์เซนต์ และ4.ข้อเสนอเพิ่มเติม 10 เปอร์เซนต์ เช่น เรื่องความสอดรับกับสภาวะโลกร้อน เป็นต้น

นายสุพจน์ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบในการลดวงเงินค่าประสบการณ์ของบริษัทเอกชนเหลือ 10 เปอร์เซนต์ต่อ 1 หมวดโครงการ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้ 1.การสร้างอ่างเก็บน้ำ งบประมาณ 50,000 ล้านบาท ผลงานที่ต้องการ 10 เปอร์เซนต์ คือ 5,000 ล้านบาท 2.การจัดผังการใช้ที่ดิน งบประมาณ 50,000 ล้านบาท ผลงานที่ต้องการ 10 เปอร์เซนต์ คือ 5,000 ล้านบาท 3.แก้มลิง งบประมาณ 60,000 หมื่นล้าน ผลงานที่ต้องการ 10 เปอร์เซนต์ คือ 6,000 ล้านบาท 4.ปรับปรุงลุ่มน้ำเจ้าพระยา งบประมาณ 7,000 ล้านบาท ผลงานที่ต้องการ 10 เปอร์เซนต์ คือ 700 ล้านบาท 5.ฟลัดเวย์ งบประมาณ 120,000 ล้านบาท ผลงานที่ต้องการ 10 เปอร์เซนต์ คือ 12,000 ล้านบาท 6.ข้อมูลเตือนภัย งบประมาณ 3,000 ล้านบาท ผลงานที่ต้องการ 10 เปอร์เซนต์ คือ 300 ล้านบาท และโครงการบริหารจัดการพื้นที่ 17 ลุ่มน้ำ ดังนี้ 1.อ่างกักเก็บน้ำ 12,000 ล้านบาท ผลงานที่ต้องการ 10 เปอร์เซนต์ คือ 1,200 ล้านบาท 2.จัดผังที่ดิน งบประมาณ 10,000 ล้านบาท ผลงานที่ต้องการ 10 เปอร์เซนต์ คือ 1,000 ล้านบาท 3.ปรับปรุงสภาพลำน้ำ งบประมาณ 10,000 ล้านบาท ผลงานที่ต้องการ 10 เปอร์เซนต์ คือ 1,000 ล้านบาท และ4.คลังข้อมูล งบประมาณ 2,000 ล้านบาท ผลงานที่ต้องการ 10 เปอร์เซนต์ คือ 200 ล้านบาท

“อย่างไรก็ตาม สำหรับเหตุผลที่ลดวงเงินค่าประสบการณ์ย้อนหลัง 10 ปี เพราะต้องการช่วยเหลือให้บริษัทเอกชนไทยที่มีขนาดเล็กแต่มีประสบการณ์สามารถรวมกลุ่มกับบริษัทอื่นเป็นกลุ่มบริษัทใหญ่เข้ามามีโอกาสเสนอร่างทีโออาร์ให้กับคณะกรรมการได้พิจารณาให้คะแนนได้ ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ดังกล่าวจะนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ในวันที่ 14 ส.ค.พิจารณา” นายสุพจน์ กล่าว

เลขาฯ สบอช.กล่าวยืนยันว่า ทางรัฐบาลไม่ได้ล็อกสเปกบริษัทจากประเทศจีน และยืนยันว่าระบบที่ใช้ดำเนินการสรรหารบริษัทเอกชนเข้ามาดำเนินโครงการขนาดใหญ่ยึดแนวทางนานาชาติ เช่น ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ที่สำคัญหลังจากนี้ไปจนถึงวันที่ 31 ม.ค.56 เท่านั้น ถึงจะทราบว่าบริษัทใดได้สิทธิดำเนินการโครงการ และถึงตอนนั้นทางรัฐบาลจึงจะทราบเช่นกันว่าจะต้องดำเนินการกู้เงินจำนวนกี่ล้านบาทบาทเพื่อมาดำเนินการ และในการดำเนินการครั้งนี้ไม่มีระบบเทิร์นคีย์ที่จ้างเอกชนแบบเบ็ดเสร็จให้ดำเนินการก่อสร้างโครงการหรือการประมูลแบบอี-อ็อกชัน เพราะโครงการเมกะโปรเจ็กต์น้ำครั้งนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนและซับซ้อน ที่สำคัญ กยน.ได้เป็นผู้คิดและรับทราบข้อมูลเป็นอย่างดี เพียงแต่ต้องการเปิดโอกาสให้กับต่างชาติและต้องรับข้อเสนอใหม่พิเศษๆ ที่สำคัญทุกหมวดของโครงการขนาดใหญ่ บริษัทเอกชนจะต้องส่งงานออกแบบให้ครม.รับทราบล่วงหน้าก่อนอย่างน้อย 1 เดือน เพื่อติดตามและตรวจสอบทุกขั้นตอนของโครงการให้เป็นไปตามแนวทางที่ กยน.และรัฐบาลวางไว้
กำลังโหลดความคิดเห็น