ประธาน คอป.เผยกลางวงเสวนาวันรพี มธ. ชี้กฎหมายไทยออกหมายจับง่าย ใช้มาตรการฟุ่มเฟือย เป็นประเทศเดียวที่ไม่ผ่านอัยการกลั่นกรอง ส่งผลคนติดคุกมาก เรือนจำแออัด เกิดการเรียกเงินประกัน ถูกเอารัดเอาเปรียบ ด้านศาลเผยเหตุต้องใช้หลักทรัพย์ประกันตัว ชี้ยังหาหลักค้ำประกันอื่นที่ดีกว่าไม่ได้ หวั่นผู้ต้องหาหลบหนี-คดีไม่คืบหน้า
วันนี้ (8 ส.ค.) ที่ห้องประชุมจี๊ด เศรษฐบุตร (LT1) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ได้จัดงานเสวนาวิชาการวันรพี หัวข้อ “หรือคุกไทย มีไว้ขังคนจน” ที่มหาวิทยาลัยจัดขึ้นเพื่อสะท้อนปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสิทธิที่จะขอประกันตัวเพื่อปล่อยตัวชั่วคราวของผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ยังไม่ได้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก หรือในกรณีที่ศาลเห็นสมควรว่าบุคคลผู้นั้นสามารถปล่อยตัวชั่วคราวได้โดยให้วางหลักประกัน แต่ผู้ที่มีฐานะยากจนและไม่มีฐานะทางสังคมก็ยังไม่สามารถหามาเป็นประกันแก่ศาลได้
โดยงานเสวนาทางวิชาการครั้งนี้ มีวิทยากรที่น่าสนใจ ได้แก่ ศ.ดร.คณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายและประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ หรือ คอป., รศ.ณรงค์ ใจหาญ รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นางนงภรณ์ รุ่งเพ็ชรวงศ์ ผู้อำนวยการกองพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพ, นายวิทยา แก้วไทรหงวน กรรมการบริหารสภาทนายความภาค 7 และ นายสุรพล ศุขอัจจะสกุล เลขานุการศาลอุทธรณ์ภาค 7
ศ.ดร.คณิต เริ่มปาฐกถานำถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคมและทางการเงินของผู้ต้องหาหรือจำเลยส่งผลโดยตรงต่อสิทธิการปล่อยตัวชั่วคราว โดยสะท้อนให้เห็นถึงเครื่องมือในการดำเนินคดีอาญา ที่มีอยู่ 2 แบบ คือ พยานหลักฐาน และมาตรการบังคับ ทุกวันนี้ประเทศไทยสอนเรื่องพยานหลักฐานแยกไปจากการศึกษาวิธีพิจารณาความอาญา และละเลยต่อการศึกษาเรื่องจิตวิทนาคำให้การพยานบุคคล ทั้งนี้ มาตรการบังคับก็นำจำเป็นต้องมีการตรวจสอบเช่นกัน โดยชนิดของมาตรการบังคับก็มีหมายประการ อย่างในคดีอาญามีการเรียก การจับ การค้น การควบคุมตัว การขัง และการนำตัว ซึ่งเป็นมาตรการบังคับเกี่ยวกับการเอาตัวบุคคลไว้ในอำนาจรัฐ ซึ่งบางครั้งมีการใช้มาตรการบังคับอย่างฟุ่มเฟือย
โดยการใช้มาตรการบังคับช่วงก่อนปี 2540 เจ้าพนักงานสามารถออกหมายค้นได้เองโดยปราศจากการตรวจสอบ และเมื่อรัฐธรรมนูญปี 2540 บังคับใช้ก็เริ่มมีการตรวจสอบที่ดี โดยให้การออกหมายค้นเป็นอำนาจของศาลหรือผู้พิพากษา และอีก 5 ปีต่อมากระบวนการออกหมายจับก็เป็นอำนาจของศาลหรือผู้พิพากษาเช่นเดียวกัน ทำให้กระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทยมีความสมบูรณ์ แต่แม้ว่ากติกาจะเปลี่ยน แต่ในทางปฏิบัติไม่เปลี่ยน เพราะการออกหมายค้นและหมายจับก็ยังออกมาง่ายเกินไป จนเหมือนเป็นเพียงแค่การเปลี่ยนผู้มีอำนาจลงนามในหมายเท่านั้น และการออกหมายอาญาตามกฎหมายปัจจุบันก็ไม่สมบูรณ์ เพราะประเทศไทยประเทศเดียวที่การออกหมายอาญาไม่ต้องผ่านการกลั่นกรองจากอัยการ
ทั้งนี้ การเรียกของตำรวจหลายกรณีก็ไม่ได้มีความจำเป็นแต่กระทำเพื่อให้เป็นเงื่อนไขที่จะขอให้ศาลออกหมายจับ ซึ่งการควบคุมตัวบุคคลที่ตกเป็นผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัย ก็มีมากเกินความจำเป็น แม้ผู้ต้องหาดังกล่าวจะมีเหตุให้ควบคุมตัวเพียงแค่เหตุรอง หรือเหตุป้องกันอันควรเชื่อว่าจะก่อเหตุอันตรายประการอื่น หรืออยู่เบื้องหลัง ซึ่งสามารถปล่อยตัวชั่วคราวได้ ไม่ใช่เหตุหลักที่ร้ายแรง หรือก่อความยุ่งเหยิง แต่ทุกวันนี้ก็มีการใช้เหตุรอง หรือเหตุป้องกัน มาควบคุมตัวมากกว่าเหตุหลัก ทำให้ไม่มีการแยกแยะ และเกิดการควบคุมตัวโดยไม่จำเป็นหลายคดี เรือนจำทุกวันนี้จึงแออัด เต็มไปด้วยผู้ต้องหา ที่สำคัญคือ ทำให้เกิดการเรียกเงินประกันที่สูง และเป็นช่องทางให้เกิดการเอาเปรียบคนจนจากนายประกันได้
ด้าน รศ.ณรงค์ร่วมเสวนาว่า การประกันหรือปล่อยตัวชั่วคราว จะเริ่มขึ้นเมื่อมีการควบคุมหรือขัง ซึ่งการปล่อยตัวจะต้องสร้างความมั่นใจให้กับรัฐ ดังนั้น การประกันตัวจึงต้องมีขึ้นเพื่อป้องกันการหลบหนี หรือการออกไปกระทำผิดอีกครั้ง ซึ่งประเด็นที่เป็นข้อสงสัยขณะนี้คือ หากบุคคลใดไม่มีหลักประกันก็ต้องอยู่ในคุกหรือไม่ เมื่อย้อนไปดูที่ตัวบทกฎหมายก็จะพบว่า กฎหมายไม่ได้เขียนไว้ว่า การปล่อยตัวชั่วคราวจะต้องมีหลักประกัน เพียงแต่ระบุไว้ว่า ผู้ที่กระทำผิดในคดีใหญ่ต้องโทษเกิน 5 ปี ต้องมีสัญญาประกัน คือสัญญาที่ระบุว่ายินดีที่จะมาตามการเรียก แต่ไม่จำเป็นต้องมีหลักประกัน และคดีเล็กๆก็กระทำเพียงแค่การสาบานตัวเท่านั้น
ขณะที่ หลังปี 2540 มีการเปิดให้ใช้ตำแหน่งแทนทรัพย์สินประกันตัวได้ ทำให้เกิดการผ่อนคลายให้กับคนจน ต่อมามีเขียนไว้ในกฎหมายว่า ทุกคนมีสิทธิการประกันตัว และยังเขียนไว้ว่า ต้องให้ประกันตัวเป็นหลัก หากไม่ให้ประกันต้องให้เหตุผลที่เหมาะสม โดยหากยึดตามข้อกฎหมายจึงสรุปได้ว่า ประชาชนทุกคนควรได้รับการประกันตัว มากกว่าการปฏิบัติในปัจจุบัน
ด้าน นายสุรพล ศุขอัจจะสกุล เลขานุการศาลอุทธรณ์ภาค 7 ยืนยันว่า ไม่ใช่เพราะความยากจนที่ทำให้ต้องติดคุก แต่เป็นเรื่องปกติที่คนที่มีฐานะด้อยกว่าจะไม่สามารถหาเงินมาประกันตัวได้ พร้อมย้ำว่า ไม่มีการเลือกปฏิบัติในการปล่อยตัวชั่วคราว เพราะศาลต้องมีการพิจารณาเหตุผลหลายประการ และแม้จะไม่เห็นด้วยต่อการให้ประกันตัวโดยต้องใช้หลักทรัพย์ แต่ก็ยังไม่เห็นหนทางใดที่จะเป็นเงื่อนไขรับรองว่าผู้ถูกกล่าวหาจะไม่หลบหนี ซึ่งจะทำให้กระบวนการพิจารณาคดีเดินหน้าไปไม่ได้