xs
xsm
sm
md
lg

“วรินทร์” แนะปฏิรูปกฎหมายให้ศาลมีหน่วยงานจับกุมคนผิดเอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวรินทร์ เทียมจรัส
“วรินทร์” ชี้ “ตำรวจ-อัยการ” ไม่ทำงาน การบังคับใช้กฎหมายเลยไม่ได้ผล แนะให้ศาลมีสำนักงานบังคับคดีอาญา-คดีปกครอง โดยมีกองกำลังจับกุมคนผิดเองได้ ด้าน “สุรชัย” เผยรัฐธรรมนูญ 50 บัญญัติไว้แล้วต้องมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและกฎหมาย แต่กลับไม่ทำตาม มัวแต่จะฉีกทิ้ง ทุกวันนี้เลยไม่พัฒนาไปไหน

วันที่ 7 ส.ค. นายวรินทร์ เทียมจรัส อดีต ส.ว.สรรหา และนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว.สรรหา และอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ได้ร่วมสนทนาในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV ถึงกรณีปฏิรูปกฎหมายไทยเนื่องในวันรพี

โดยนายสุรชัยกล่าวว่า ภาพลักษณ์ของกระบวนการยุติธรรมไทยที่มีแต่เฉพาะคนจนที่ติดคุก ก็จริงบางส่วน แต่บางส่วนก็ไม่จริง เวลาตกเป็นผู้ต้องหา ถ้าเป็นข้อหาเบาก็สามารถประกันตัวได้โดยไม่ต้องมีหลักประกัน อันนี้ก็ไม่เกี่ยวรวยจน แต่ถ้าข้อหาหนักๆ ต้องมีหลักประกันเข้ามาเกี่ยวข้อง คนไม่มีเงิน ไม่รู้จักคนใหญ่คนโต ก็จะต้องเข้าเรือนจำระหว่างต่อสู้คดี

ส่วนวิธีแก้ก็มีแนวทางพอเป็นไปได้ คือ ศาล ตำรวจ อัยการ ต้องพยายามผ่อนคลายให้ใช้หลักทรัพย์น้อยที่สุด แล้วถ้าใครไม่มี ก็ควรมีกองทุนของภาครัฐคอยช่วยเหลือ เช่นเดียวกับที่ประกันตัวพี่น้องเสื้อแดงผ่านกองทุนของกระทรวงยุติธรรม ซึ่งกองทุนนี้ควรเปิดกว้างมากกว่านี้ ไม่ใช่แค่คดีการเมือง หรือส่วนหนึ่งที่ถูกนำไปขังเพราะไม่มีเงินค่าปรับ ก็ยืมเงินกองทุนตรงนี้ได้ ทำให้ภาพลักษณ์กระบวนการยุติธรรมของไทยดีขึ้น

นายวรินทร์กล่าวว่า ปัญหามีแต่คนจนที่ติดคุกนั้น จริงๆ แล้วไม่น่าเกิดขึ้น เพราะกฎหมายต้องบังคับใช้กับทุกคนเท่าเทียม ประเด็นสำคัญคือ วันที่ศาลมีคำพิพากษา ปกติต้องเอาจำเลยมาอยู่หน้าศาล ถ้าศาลสั่งจำคุกก็จับกุมตัวทันที เสร็จแล้วก็เข้าสู่การประกันตัว เพื่อปล่อยตัวชั่วคราว ก็จะเข้าเรื่องคือมีตังค์หรือไม่ ปัจจุบันคนที่จะมาประกันตัวมันหมด คนที่อยู่ใกล้ศาลที่สุดคือตำรวจ สมัยก่อนใช้กฎหมายลักษณะปกครองท้องที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สามารถประกันตัวลูกบ้านได้ เมื่อก่อนมีปล่อยเยอะแยะ แต่วันนี้เราตัดตอนอำนาจมาอยู่ที่ตำรวจ กระบวนการตรงนี้ก็เลยไม่สามารถทำได้

แล้วก็มีอีกกลุ่มโดยเฉพาะนักการเมือง ใช้วิธีหนีก่อนวันอ่านคำพิพากษา พอผิดก็หลบหนีอยู่เมืองนอก วันนี้เครื่องมือของศาลในการจับกุมผู้ต้องหามาส่งศาล คือ ตำรวจ และคนที่จะมารายงานศาล คือ อัยการ แต่วันนี้สังคมไทยไม่ทำงาน ตำรวจเฉย อัยการไม่ร้องขอ แถมตำรวจนั่งเครื่องบินไปคุยกับนักโทษเด็ดขาดอีก ซึ่งประเด็นนี้เคยเกิดขึ้นที่เกาหลี เมื่อตำรวจไม่จับ จึงออกกฎหมายให้ศาลมีกำลังของตัวเองไปจับทั้งตำรวจและจับจำเลยด้วย วันนี้คุกต้องขังทุกคนที่ศาลมีคำพิพากษาว่าผิด ศาลต้องมีกำลังของตัวเองในส่วนนี้

นายวรินทร์กล่าวอีกว่า กรณีนักโทษหนีคดีไปอยู่ดูไบแต่ยังแต่งตั้งทนายฟ้องคนโน้นคนนี้ ซึ่งถ้าจะเอาเรื่องนี้ทางกลไกกฎหมายง่ายมาก ใบแต่งตั้งทนาย ใบมอบอำนาจ ที่ทำในต่างประเทศต้องมีโนตารี่ ถ้าไม่มีโนตารี ตัวทนายผู้ยื่นต้องมายืนต่อศาลว่าไปเซ็นที่ไหน แล้วถ้าศาลบอกว่าไม่เชื่อต้องเอาตัวมา ที่ไปฟ้องคนไว้เยอะแยะงานนี้จบเลย ต้องใช้ขบวนการเรียกทนายมาถามว่าใบแต่งทนายอันนี้ได้มาอย่างไร เซ็นที่ไหน เมื่อไหร่ ก็รู้ๆอยู่ใบแต่งนี้ทำในต่างประเทศแน่นอน แล้วจะใช้หลักอะไร ต้องมีผู้รับรอง แต่เราไม่ได้ทำตรงนี้

นายวรินทร์ยังกล่าวด้วยว่า เนื่องในวันรพี ท่านได้ทรงตัวหนังสือไว้ กินเหล้าไม่ว่าแต่ห้ามกินสินบาทคาดสินบน ถ้าไม่กินสินบาทคาดสินบนกระบวนการยุติธรรมไปได้แน่นอน เครื่องมือมีพอแต่เหลือการบังคับใช้ วันนี้ศาลเรียกตำรวจและอัยการมาถามได้หรือไม่ ถึงกระบวนการดำเนินงานต่างๆ ตรงนี้ถ้าศาลไม่อยากก้าวก่ายมันก็บังคับใช้ไม่ได้ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ศาลต้องมีสำนักงานบังคับคดีอาญา คดีปกครอง และมีเจ้าหน้าที่ทำหน้าที่จับคนที่ศาลพิพากษาแล้ว

นายสุรชัยกล่าวถึงกฎหมาย ป.ป.ช.ฉบับใหม่ที่แก้ให้เรื่องทุจริตไม่มีอายุความว่า มีประเด็นน่าคิด 2 เรื่อง คือ อายุความกำหนดระยะเวลาในการที่จะให้หน่วยงานของรัฐดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิดพร้อมกับเอาตัวมาส่งศาล ไม่เช่นนั้นจะทำให้การกระทำนี้ค้างในระบบตลอดเวลา มันก็จะเป็นภาระ เป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่รัฐขี้เกียจที่จะทำหน้าที่ติดตามคดี มันก็เป็นดาบสองคม แต่ก็มีส่วนหนึ่งที่ตั้งใจให้ขาดอายุความเพื่อช่วยเหลือคนผิด ถึงบอกว่าในคดีใดที่เจ้าหน้าที่รัฐปล่อยให้คดีขาดอายุความ ต้องสอบสวนเพื่อเอาผิด อย่างน้อยต้องสอบให้เห็นว่าขาดอายุความเพราะเหตุผลใด ตนเลยไม่เห็นด้วยให้แก้เป็นไม่มีอายุความ เพราะมันจะมีผลเสีย

ประการที่ 2 อายุความอยู่ที่จิตสำนึกของผู้มีหน้าที่รักษากฎหมาย กับมาตรการในการลงโทษ แต่หลายคดีคนที่ปล่อยขาดอายุความก็ไม่ต้องรับผิดชอบ และไม่มีใครทวงถามความรับผิดชอบ อย่างคดีนำที่วัดมาทำสนามกอล์ฟ ก็ไม่มีใครรับผิดชอบ แล้วสังคมไทยก็ลืมง่ายนี่เป็นปัญหาหนึ่งที่ต้องปฏิรูป ระบบยุติธรรมของไทยมีถูกผิดปนกัน ตนยังยืนยันว่าถูกมากกว่าผิด เพียงแต่ต้องแก้ไขสิ่งที่พลาด

“รัฐธรรมนูญปี 50 มองเห็นปัญหาตรงนี้ จึงบัญญัติไว้ว่าให้มีกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรขึ้นมาอีกสององค์กร 2 องค์กร 1. องค์กรปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมของประเทศ 2. องค์กรปฏิรูปกฎหมาย ฉะนั้น เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่เล็งเห็นตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 50 ว่าเป็นปัญหาสังคมไทยที่มีอยู่ ฉะนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ ที่มีคนกลุ่มหนึ่งพยายามหยิบมาเป็นประเด็น อ้างว่าต้องยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 50 เพื่อสร้างใหม่ ความจริงมีในรัฐธรรมนูญแล้วว่าต้องปฏิรูป แต่เราไม่ไปเดินตามที่เขียนในรัฐธรรมนูญ ถ้าทำเสียโดยไม่มีอคติกับที่มาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ป่านนี้กระบวนการยุติธรรมไทยไปไกลแล้ว แต่เราไม่ทำ มองแต่ต้องรื้อทิ้ง ทำให้กฎหมายต่างๆ ไม่พัฒนาเท่าที่ควร” นายสุรชัยระบุ
นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย
กำลังโหลดความคิดเห็น