xs
xsm
sm
md
lg

ไต่สวนคดี “รีสอร์ตทับลาน” อ้างเกาะเสม็ดเช่าได้ กรมอุทยานฯ ยันธนารักษ์ไม่รับขึ้นทะเบียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศาลปกครองไต่สวนคดีรีสอร์ตทะเลหมอก อุทยานแห่งชาติทับลาน ร้องขอให้สั่งกรมอุทยานฯ ชะลอรื้อถอน หุ้นส่วนรีสอร์ต ระบุ เจ้าหน้าที่รื้อถอนไม่ได้แจ้งก่อนเข้าทุบ อ้างเกาะเสม็ดเอกชนยังทำรีสอร์ตได้ ด้านกรมอุทยานฯ ยันมีอำนาจรื้อ แจงเหตุรื้อช้ากว่า 6 ปี เพราะรอความชัดเจนให้เป็นพื้นที่เช่าได้หรือไม่ ระบุ หากศาลสั่งชะลอรื้ออาจถูกถอดจากมรดกโลก

วันนี้ (7 ส.ค.) ศาลปกครองกลางได้ออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนเพื่อพิจารณากำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาในคดีที่ นางวไลลักษณ์ วิชชาบุญศิริ และพวก ซึ่งเป็นเจ้าของรีสอร์ตบ้านทะเลหมอก ใน อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี ขอให้ศาลกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราว โดยสั่งให้กรมอุทยานแห่งชาติทับลาน ระงับการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างภายในรีสอร์ต โดยในการไต่สวนครั้งนี้ใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมง

นายสมชาย เพ็ญพัธนกุล หุ้นส่วนรีสอร์ต ในฐานะผู้รับมอบอำนาจ ให้ถ้อยคำต่อศาลว่า แม้ศาลกบินทร์บุรี จะมีคำพิพากษาว่า ทางรีสอร์ตมีควาผิดฐานบุกรุกที่อุทยานฯแล้วในปี 2543 แต่ก็ได้มีการขอชะลอการบังคับคดี ประกอบกับทางรีสอร์ตได้มีการฟ้องคดีแพ่ง และมีการนำสิ่งปลูกสร้างไปขอขึ้นทะเบียนกับกรมธนารักษ์ เพื่อจะได้ยังทำประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าวได้โดยจ่ายเป็นค่าเช่า จึงทำให้รีสอร์ตยังคงสามารถประกอบกิจการได้ต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน

แม้ว่า ล่าสุด กรมอุทยานฯ จะมีการไปปักป้ายให้มีการรื้อถอน และห้ามทำประโยชน์ แต่ทางรีสอร์ตก็ยังไม่ได้มีการเตรียมตัว หรือเก็บของใด เพราะคิดว่า จะชนะในคดีแพ่งที่ศาลแพ่งได้นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 11 ก.ย.นี้ และยังเชื่อว่า จะได้รับการพิจารณาให้เช่าพื้นที่ต่อ รวมทั้งเห็นว่าในพื้นที่อุทยานเขาแหลมหญ้า (เกาะเสม็ด) จ.ระยอง ก็ยังอนุญาตให้เอกชนสามารถประกอบกิจการได้ แต่กรมอุทยานก็กลับสนธิกำลังเจ้าหน้าที่เข้ารื้อถอนทันที ทำให้เกิดความเสียหายกลับสิ่งปลูกสร้างบางส่วน ซึ่งถ้าหากศาลปกครองมีคำสั่งให้กรมอุทยานระงับการรื้อถอน ก็ยังเชื่อว่า จะสามารถฟื้นฟูและปรับปรุงอาคารต่างๆ ได้น่าจะใช้งบประมาณ 150 ล้านบาท

นายสมชาย ยังกล่าวด้วยว่า การเข้ารื้อถอนครั้งนี้ มีข้อน่าสังเกตว่า อาจเป็นการออกคำสั่งไม่ชอบ เพราะในคำสั่งรื้อถอนครั้งแรกกำหนดรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างของผู้ประกอบการรีสอร์ตรวม 38 ราย ไม่มีรายของบ้านทะเลหมอก แต่ต่อมามีคำสั่งลงวันที่ 23 ก.ค.2555 เข้ารื้อถอนรีสอร์ตจำนวน 9 ราย ในจำนวนนี้ 8 ราย มีชื่ออยู่ในบัญชี 38 รายเดิม แต่อีก 1 ราย คือ บ้านทะเลหมอก ซึ่งไม่เคยมีชื่อใน 38 รายมาก่อน รวมทั้งในหนังสือคำสั่งสนธิกำลังเจ้าหน้าที่ ยังระบุเหตุของการสนธิกำลัง ว่า เพื่อเข้าปราบปรามไม้กฤษณา และระบุว่า หากพบว่า มีการกระทำผิดเจ้าหน้าที่จะรื้อถอนต้องมีการแจ้งให้กับผู้ประกอบการรับทราบก่อน แต่สิ่งที่กรมอุทยานปฏิบัติ คือ กลับเข้ารื้อถอนทันทีไม่มีการแจ้งผู้ประกอบการ อีกทั้งกระทำในยามวิกาล

ขณะที่ฝ่ายกรมอุทยานได้มอบหมาย นายจงเจริญ กิจสำราญกุล ผอ.กองนิติการ กรมอุทยาน และ นายเทวินทร์ มีทรัพย์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน ให้ถ้อยคำว่า การเข้ารื้อถอนดังกล่าวใช้อำนาจตามมาตรา 22 ของ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ปี 2504 แม้ศาลกบินทร์บุรี จะมีคำพิพากษาว่า รีสอร์ตมีความผิดตั้งแต่เมื่อวันที่ 18 ม.ค.2544 แต่เหตุที่กรมอุทยานเพิ่งจะออกคำสั่งและดำเนินการรื้อถอนในปี 2555 ก็เนื่องจากคำพิพากษาในขณะนั้นสั่งแค่จำเลยมีความผิดให้ออกจากพื้นที่ ไม่ได้สั่งให้รื้อถอน รวมทั้งผู้ประกอบการได้รับอนุญาตเข้าทำประโยชน์ในอาคาร และสิ่งปลูกสร้างตามคำขอทุเลาบังคับคดี ประกอบกับมีการขอยกสิ่งปลูกสร้างให้กรมธนารักษ์ รวมทั้งมีปัญหาระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่า ตกลงแล้วจะสามารถให้ผู้ประกอบการเช่าพื้นที่ทำประโยชน์ได้หรือไม่ การรื้อถอนจึงยังไม่ได้ดำเนินการตลอด 6 ปีหลังมีคำพิพากษา แต่เมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกามีคำวินิจฉัยว่า กรมธนารักษ์ ไม่สามารถรับขึ้นทะเบียนราชพัสดุสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่ดังกล่าวได้ และกรมธนารักษ์ มีคำสั่งเพิกถอนการรับทรัพย์สินเมื่อปี 2554 ทางอุทยานฯจึงต้องเข้าดำเนินการรื้อถอน

ทั้งนี้ การที่อุทยานเขาแหลมหญ้าสามารถให้เอกชนเข้าประกอบกิจการได้ต่างจากกรณีนี้ก็เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นทั้งที่ราชพัสดุ กรมธนารักษ์ และที่อุทยานฯ ซึ่ง 2 หน่วยงานจะพิจารณาร่วมกันโดยยึดตามระเบียบของกรมอุทยานที่ว่าหากพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในโซนบริการเกี่ยวกับการท่องเที่ยว สามารถอนุญาตได้หากไม่กระทบต่อการบริหารจัดการพื้นที่ของอุทยาน แต่ในส่วนอุทยานอื่นนั้น ส่วนใหญ่ก็จะมีเพียงร้านสวัสดิการของเจ้าหน้าที่อุทยานขายสิ่งของจำเป็นแก่นักท่องเที่ยว และให้เอกชนเข้าใช้ประโยชน์ในบางกรณีเช่นการล่องแก่ง ล่องแพ เท่านั้น

นอกจากนี้ เห็นว่า หากศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์โดยให้ระงับการรื้อถอน ก็จะทำให้เกิดผลกระทบต่อการปฏิบัติงานของกรมอุทยาน เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นป่าอนุรักษ์ ประชาชน และผู้ประกอบการรายอื่น ก็จะไม่เกรงกลัว หรือเห็นว่า กรมฯ ไม่เคร่งครัดในการอนุรักษ์และการบังคับใช้กฎหมาย อีกทั้งทำให้อุทยานแห่งชาติทับลาน ถูกถอนออกจากการเป็นมรดกโลก เพราะตามหลักเกณฑ์การบริหารจัดการมรดกโลกในการประชุมครั้งล่าสุด ระบุว่า รีสอร์ตถือเป็นสิ่งแปลกปลอม ซึ่งจะทำให้พื้นที่ดังกล่าวไม่เป็นพื้นที่ป่าอย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตาม หลังการไต่สวนแล้ว ศาลฯได้แจ้งให้คู่กรณีทราบว่าศาลจะมีการพิจารณาว่าจะกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวตามที่มีการร้องขอหรือไม่ และจะแจ้งคู่กรณีทราบโดยเร็ว
กำลังโหลดความคิดเห็น