xs
xsm
sm
md
lg

“โภคิน” นั่ง ปธ.ทีมพรรคร่วมแก้ รธน.นัดคุยทุกจันทร์ จ่อเชิญนัก กม.ถก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ทีมพรรคร่วมศึกษาแนวทางแก้รัฐธรรมนูญถกนัดแรก “สามารถ” เผยยังไม่กำหนดกรอบเวลาทำงาน เน้นรอบคอบมากสุด เน้นศึกษาคำวินิจฉัยเป็นหลัก พร้อมดูต้องปฏิบัติตามคำแนะนำหรือไม่ ค้านยึด ม.165 ทำประชามติ จ่อเชิญนักกฎหมายร่วมคุย “โภคิน” โอ่ที่ประชุมตั้งเป็นประธานทีม ให้ “พงศ์เทพ” รองฯ นัดใหม่ทุกจันทร์ แย้มทัวร์พรรคอื่นบ้าง







วันนี้ (7 ส.ค.) ที่พรรคเพื่อไทย นายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย กล่าวภายหลังการประชุมคณะทำงานของพรรคร่วมรัฐบาลศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า ขณะนี้ยังไม่มีการกำหนดกรอบระยะเวลาของคณะทำงานที่ชัดเจน จากกรณีที่กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ออกมาแสดงความกังวลว่าระยะเวลา 3-4 เดือนอาจล่าช้าเกินไป ทั้งนี้ กรอบการทำงานต้องขึ้นอยู่กับเนื้อหาสาระที่จะมีการประชุมถกเถียง ซึ่งต้องดำเนินการให้เกิดความรอบคอบมากที่สุดเพื่อให้เกิดความมั่นใจต่อ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล ส.ว.รวมถึงประชาชนด้วย

นายสามารถ กล่าวต่อว่า การประชุมของคณะทำงานจะเน้นศึกษาคำวินิจฉัยกลางและคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็นหลัก เนื่องจากคำวินิจฉัยมีผลผูกพันทุกองค์กรตามรัฐธรรมนูญมาตรา 216 ส่วนคำแนะนำของศาลรัฐธรรมนูญนั้น ไม่มีผลผูกพันต่อองค์กร ดังนั้น ต้องมีการหารือว่าจะต้องปฏิบัติตามแนวทางคำแนะนำของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ และการจัดทำประชามติที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญระบุไว้ให้จัดทำหลังสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จจะถือเป็นการทำประชามติตามความหมายของศาลรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม เห็นว่า หากมีการจัดทำประชามติไม่ควรยึดตามมาตรา 165 ตามรัฐธรรมนูญปี 50 ที่ระบุให้ใช้เสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง แต่ควรยึดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ที่ระบุให้ใช้เสียงข้างมากของผู้ที่ออกมาใช้สิทธิได้ตามที่เคยมีการจัดทำประชามติรับรัฐธรรมนูญปี 50

นายสามารถ กล่าวอีกว่า การประชุมครั้งต่อไปที่ประชุมของคณะทำงานอาจมีการเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายภายนอก เช่น คณะกรรมการกฤษฎีกา รัฐสภา หรือนักวิชาการด้านกฎหมายมหาชน มาให้คำปรึกษาเพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดความรอบคอบมากที่สุดเพื่อป้องกันการยื่นคำร้องเข้าข่ายล้มล้างการปกครองอีกในอนาคต

ด้าน นายโภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภา แถลงว่า คณะทำงานมีมติให้ตนเป็นประธานคณะทำงานชุดนี้ และให้ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา เป็นรองประธานคณะทำงาน โดยประเด็นหลักๆ ที่คุยกันในครั้งนี้มี 2 เรื่อง คือ 1.คำวินิจฉัยกลางและคำวินิจฉัยส่วนตัวของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีสาระอะไรบ้าง 2.เหตุใดจึงต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 โดยในเรื่องคำวินิจฉัยกลางและคำวินิจฉัยส่วนตัวนั้น คณะทำงานได้ตั้งข้อสังเกต ดังนี้ 1.การที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มีอำนาจรับเรื่องการตีความตามมาตรา 68 โดยตรงได้ว่า อาจทำให้ประชาชนสับสน และเกรงว่า ต่อไปจะเป็นภาระของศาลรัฐธรรมนูญที่จะมีการมายื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง ไม่ผ่านอัยการสูงสุด 2.การที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยมาตรา 291 เป็นเพียงการให้คำแนะนำว่า หากจะแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับควรทำประชามติจากประชาชนก่อน แต่ไม่ได้บอกรายละเอียดว่า จะต้องทำประชามติอย่างไร และส่วนคำแนะนำเรื่องการแก้ไขรายมาตรา ก็ไม่ได้บอกว่า สามารถทำเป็นรายประเด็นหรือไม่ 3.การที่ศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า การแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ไม่ขัดมาตรา 68 ขอตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดศาลรัฐธรรมนูญจึงหยิบมาตรา 291 ที่ว่าด้วยกระบวนการของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาพิจารณาก่อนมาตรา 68 ที่ว่าด้วยขั้นตอนการรับคำร้อง เพราะถ้าวินิจฉัยตามมาตรา 68 ก่อน ซึ่งคำวินิจฉัยกลาง บอกว่า ไม่เข้าข่ายความผิด ก็จะเป็นอันยุติไม่ต้องวินิจฉัยตามมาตรา 291 และมาตราอื่นๆ ต่อ

นายโภคิน กล่าวว่า ส่วนเหตุผลการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 291 นั้น เนื่องจากมีหลายมาตราในรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ขัดแย้งกันเอง เช่น มาตรา 237 มาตรา 68 ที่ว่าด้วยการสั่งยุบพรรค และให้ตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรค 5 ปี โดยใช้อำนาจของประกาศของคณะรัฐประหาร และไม่เปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ต่อสู้ ซึ่งขัดต่อมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ระบุว่า การดำเนินการขององค์กรต่างๆต้องปฏิบัติตามหลักนิติรัฐ นิติธรรม ซึ่งที่ผ่านมารัฐธรรมนูญแต่ละฉบับก็ไม่เคยมีการบัญญัตติเรื่องการยุบพรรค รวมถึงการที่พรรคถูกยุบแต่ไม่สามารถใช้ชื่อเดิม ทั้งที่คนทำผิดเพียง 1-2 คนเท่านั้น ไม่ใช่ทั้งหมด แต่กลับต้องได้รับโทษทั้งหมดทุกคน ซึ่งไม่ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม คณะทำงานยังไม่ได้กำหนดกรอบเวลาว่า จะต้องหาข้อสรุปให้ได้ภายในเวลาเท่าใด เพราะเรื่องนี้ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เป็นที่พอใจของทุกฝ่าย โดยต้องทำให้เสร็จเร็วที่สุด โดยมีคำอธิบายในแต่ละประเด็น ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มอบการบ้านให้พรรคร่วมรัฐบาลแต่ละพรรคไปตรวจสอบรายละเอียดคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในแต่ละประเด็นให้ชัดเจนว่า แต่ละประเด็นมีความหมายอย่างไร แล้วนำมาเสนอต่อคณะทำงานอีกครั้งในวันที่ 20 ส.ค.เพื่อนำมาพิจารณาว่า จะสามารถลงมติในวาระ 3 ต่อไปได้หรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศในห้องประชุมชั้น 9 ของพรรคเพื่อไทย มีคณะทำงานร่วมของรัฐบาลและทีมกฎหมายของพรรคเพื่อไทยเข้าร่วมการประชุม อาทิ นายสามารถ แก้วมีชัย นายอุดมเดช รัตนเสถียร นายวราเทพ รัตนากร นายพีระพันธุ์ พาลุสุข นายพิชิต ชื่นบาน นายชูศักดิ์ ศิรินิล คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคชาติไทยพัฒนา เป็นต้น โดยมี นายโภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภา และหนึ่งในคณะทำงานของพรรคร่วมรัฐบาล นั่งหัวโต๊ะการประชุม ทั้งนี้มีการนัดหมายประชุมครั้งต่อๆไปในทุกวันจันทร์ เวลา 13.30 น.และอาจมีการผลัดเปลี่ยนที่ประชุมไปยังที่ทำการของพรรคร่วมรัฐบาลพรรคอื่น














กำลังโหลดความคิดเห็น