xs
xsm
sm
md
lg

โฆษก ทบ.บอกอย่าตกใจ “เคอร์ฟิว” ใต้ ถ้าประกาศจะทำเฉพาะบางพื้นที่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด (แฟ้มภาพ)
โฆษกกองทัพบก ระบุ อย่าตกใจ “เคอร์ฟิว” ใต้เป็นแค่แนวคิด แต่หากประกาศจริงจะพิจารณาเฉพาะบางพื้นที่ที่กำลังทหารไม่พอเพื่อความปลอดภัยของประชาชน เผย กองทัพจำเป็นต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะมีความคล่องตัวต่อการแก้ปัญหา ยันทหารที่ลงปฏิบัติหน้าที่ภาคใต้ฝึกมาอย่างดีแล้ว

วันนี้ (3 ส.ค.) พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก ให้สัมภาษณ์ถึงแนวความคิดที่จะประกาศเคอร์ฟิวในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า ขณะนี้ยังไม่ได้มีการประกาศเคอร์ฟิว อย่าเพิ่งตื่นเต้นหรือตกใจ เพราะเป็นเพียงแนวความคิดเท่านั้น แต่ถ้าจะพิจารณาประกาศใช้เคอร์ฟิว หรือการห้ามออกนอกพื้นที่ในยามวิกาล ก็จะพิจารณาเฉพาะบางพื้นที่บางเส้นทางเท่านั้นเพื่อให้ความปลอดภัยแก่ประชาชน

ส่วนพื้นที่อื่นที่กองทัพสามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ไม่ทำให้ประชาชนเกิดความเดือดร้อนมากจนเกินไป เพราะพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มันกว้างจะเอากำลังทหารลงไปจำนวนมากมันก็คงไม่มีทางเต็ม แต่คิดว่าขณะนี้มีกำลังพลเพียงพอต่อการปฏิบัติการ ทั้งนี้ หากมีการประกาศใช้เคอร์ฟิวในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในบางพื้นที่ หรือบางเวลา ก็จะทำให้มีกำลังส่วนเหลือที่จะนำไปให้ความสำคัญต่อพื้นที่ที่อ่อนไหวรองๆ ลงมาได้เท่านั้น

ส่วนที่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาเสนอแนะให้ยกเลิกกฎหมายพิเศษในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และให้ใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง และมาตรา 21 พ.อ.สรรเสริญ กล่าวว่า ทั้งกฎหมาย พ.ร.บ.ความมั่นคง และมาตรา 21 ทางกองทัพภาคที่ 4 ใช้อยู่ทั้งหมด รวมถึง พ.ร.ก.ฉุกเฉินก็ได้นำมาใช้ด้วยเช่นกัน อยากถามว่า พ.ร.บ.ความมั่นคงเพียงพอต่อการปฏิบัติงานหรือไม่ ซึ่งความจริงมันไม่เพียงพอ เพราะ พ.ร.บ.ความมั่นคงมีจุดอ่อน หรือน้อยกว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คือ ความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน พ.ร.บ.ความมั่นคงจะต้องประกาศพื้นที่ และระยะเวลาที่ชัดเจนแน่นอน ส่วนจุดอ่อนอีกอันหนึ่งคือ เวลาสงสัยพื้นที่ไหนมีการซ่องสุม หรือพื้นที่ไหนมีอาวุธร้ายแรง หรือมียาเสพติด หรือมีอะไรที่เป็นส่วนสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดเหตุร้ายในพื้นที่เราไม่สามารถเข้าไปตรวจค้นได้ทันที ถ้าใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงจะต้องขอหมายศาล รวมถึงตำรวจ แต่ถ้าเป็น พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะเข้าไปทำงานได้ทันท่วงทีตามสิทธิ พร้อมกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง โดยกองทัพป้องกันทุกอย่างที่จะทำให้เกิดความโปร่งใสเพื่อให้ความปลอดภัยแก่ประชาชนโดยรวม

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) พ.อ.สรรเสริญกล่าวว่า ได้มีการติดต่อประสานงานกัน ส่วนจะมาถามว่าการทำงานของ ศอ.บต.เป็นอย่างไร ทางกองทัพบกคงตอบไม่ได้ ดังนั้น ต้องไปถาม ศอ.บต.เองดีกว่า ส่วนกำลังทหารที่ลงไปจะปฏิบัติในพื้นที่ก็เป็นงานในลักษณะการรับผิดชอบในเขตพื้นที่ โดยกองทัพภาคที่ 1 รับผิดชอบในพื้นที่ จ.นราธิวาส กองทัพภาคที่ 2 รับผิดชอบ จ.ปัตตานี และกองทัพภาคที่ 3 รับผิดชอบในพื้นที่ จ.ยะลา ส่วนรอยต่อก็มีการประสานงานกันอย่างแน่นแฟ้นเพื่ออุดช่องโหว่ทั้งหมด

“ทหารที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มาจากกองทัพภาคที่ 1-2-3 และกองทัพเรือส่วนหนึ่ง ซึ่งการปฏิบัติการไม่ใช่เฉพาะทหารในพื้นที่กองทัพภาคที่ 4 เพียงอย่างเดียว เพราะมีไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติงาน ทั้งนี้ กำลังพลที่ลงไปในพื้นที่ได้มีการฝึกอบรม และเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ ที่มีความจำเป็นในพื้นที่ ทั้งวัฒนธรรม ประเพณี และภูมิประเทศ และก่อนปฏิบัติงานจริงก็จะต้องลงไปทำความคุ้นเคยในพื้นที่ 2-3 เดือน ซึ่งเชื่อมั่นว่าเพียงพอต่อการปฏิบัติงาน”

ส่วนที่มองว่า ทำไมส่งกำลังพลไปปฏิบัติงานเพียงแค่ 1 ปีเท่านั้น พ.อ.สรรเสริญ กล่าวว่า ทางกองทัพบกได้มีการพิจารณา และคิดว่า มาตรการที่ทำไปทั้งเรื่องการศึกษาพื้นที่ หรือการทำความคุ้นเคยเป็นสิ่งที่ดีที่สุด และเราทราบดีว่าปัญหาในพื้นที่มันมีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น ดังนั้น ทหารที่ลงไปทำงานตลอดวันตลอดคืนจะต้องมีความเครียดเกิดขึ้น ดังนั้นระยะเวลา 1 ปีถือว่าเป็นเวลาที่เหมาะสมมากที่สุดแล้วที่อยู่ในช่วงสดในการปฏิบัติงาน แต่จะให้อยู่ 2-3-4 ปีก็สามารถทำได้ แต่มันไม่มีความสดเพราะอ่อนล้ามันก็ไม่มีประโยชน์ ดังนั้น มาตรการที่ทำอยู่ถือว่าเหมาะสมที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น