“ขุนค้อน” หนุนมติพรรคร่วมฯ ตั้ง คกก.ศึกษาแก้ รธน. ย้ำไม่เคยพูดให้ถอนร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลใช้เสียงข้างมากแช่ พ.ร.บ.ปรองดองให้สภาเลื่อนร่างกฎหมาย 10 ฉบับขึ้นมาพิจารณาก่อน ประธานสภาฯ ระบุหลังพิจารณาร่างกฎหมายทั้ง 10 ฉบับแล้วจะนำร่าง พ.ร.บ.ปรองดองขึ้นมาพิจารณา
วันนี้(1 ส.ค.) นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวก่อนการประชุมสภาฯ ถึงกรณีที่คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ตั้งคณะกรรมการศึกษาการแก้รัฐธรรมนูญว่า ตนยังไม่ได้คุยกับตัวแทนพรรคร่วมรัฐบาลในเรื่องดังกล่าว แต่ได้รับทราบจากสื่อว่ามีการตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องดีเพื่อที่จะได้มีเวลาหารือร่วมกันจนตกผลึกและนำไปสู่ข้อสรุปที่มีแนวทางเดียวกัน และหากประเด็นใดที่ไม่เข้าใจก็ให้สอบถามไปยังศาลรัฐธรรมนูญ
ส่วนการตั้งคณะกรรมการฯ จะขัดแนวทางของพรรคเพื่อไทยหรือไม่เพราะต้องการให้เป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ นายสมศักดิ์กล่าวว่า เมื่อตั้งคณะกรรมการฯ แล้วต้องให้เขามีเวลาไปหารือ หากเขาต้องการแก้ทั้งฉบับก็คงไม่ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษา ส่วนกรณีของร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาตินั้นควรชะลอการพิจารณาออกไปก่อน พร้อมยืนยันว่าตนไม่เคยพูดคำว่าให้ถอนออกไปก่อน
ต่อมาเวลา 13.00 น. มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดพิเศษ โดยมีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม หลังจากที่ประธานได้แจ้งให้สมาชิกรับทราบ พ.ร.ฎ.เปิดประชุมสภาฯ สมัยสามัญทั่วไปแล้ว นายพิษณุ หัตถสงเคราะห์ ส.ส.หนองบัวลำภู พรรคเพื่อไทย ได้มีการขอเลื่อนระเบียบวาระร่าง พ.ร.บ.ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาเสร็จแล้วขึ้นมาพิจารณาก่อน 10 ฉบับ เช่น ร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพสังคมสงเคราะห์ พ.ศ... ร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพแพทย์แผนไทย พ.ศ... ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ... ร่าง พ.ร.บ.ประกอบโรคศิลปะ พ.ศ... ร่าง พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตร (ฉบับที่..) พ.ศ...
แต่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ขอหารือว่า การขอเลื่อนระเบียบวาระดังกล่าวเพื่อให้มีผลในการประชุมนัดพิเศษนัดนี้หรือให้มีผลต่อการกำหนดระเบียบวาระการประชุมนัดปกติต่อไป ซึ่งตนไม่เห็นด้วยกับการขอเลื่อน เพราะหากขอเลื่อนระเบียบวาระเพื่อแก้ปัญหากฎหมายล้างผิดที่มีการเลื่อนระเบียบวาระครั้งที่ผ่านมา แล้วก็มาเลื่อนมาทับแบบนี้ไปเรื่อยๆ ที่สุด พ.ร.บ.ปรองดองที่เป็นปัญหาก็คาอยู่ในวาระของสภาฯ อยู่ดี
“ตอนที่สภาขอเลื่อน พ.ร.บ.ปรองดองขึ้นมาพิจารณาก่อน แม้ฝ่ายค้านจะทัดทานอย่างไรก็ไม่ฟังจนสภาเดือด มาวันนี้ยังไม่ได้พิจารณาก็มาขอเลื่อนออกไป ครั้งที่แล้วเอาสภาฯ มาสร้างปัญหา แต่ครั้งนี้จะเอาสภาฯ มาแก้ปัญหาที่ท่านสร้าง ดังนั้น อยากทราบเหตุผลว่าการเลื่อนระเบียบวาระเพื่อความสงบของบ้านเมืองหรือเพราะใบสั่งที่เปลี่ยนไป ถึงแม้จะเลื่อนไปอย่างไรปัญหาก็ยังไม่จบ ตราบใดที่กฎหมายยังคาอยู่ในสภาฯ เพราะเมื่อพิจารณาหมดทั้ง 10 ฉบับแล้วท่านก็ต้องเลื่อนวาระมาอีกเรื่อยๆ”
นายจุรินทร์กล่าวว่า ตนเห็นว่ามีคนอยู่ 4 กลุ่มที่สามารถแก้ปัญหานี้ได้คือ ประธานสภาฯ นายกรัฐมนตรี ผู้ที่เสนอร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฉบับนี้ทั้ง 4 ร่าง และเสียงข้างมากในสภาฯ โดยประธานสภาฯ ไปเจรจากับ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ ในฐานะผู้เสนอร่าง และไปหารือกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ของพรรคเพื่อไทย แต่เนื่องจากประธานสภาฯ ไม่รับความปรารถนาดีของตนที่จะไปขอเข้าพบประธานเพื่อสอบถามความคืบหน้าเป็นการภายใน จึงต้องมาถามในสภาฯ ว่าผลการไปเจรจาคืบหน้าเป็นอย่างไร รวมทั้งแนวทางการแก้ปัญหาจากประธานว่าจะใช้วิธีนัดประชุมพิเศษแบบนี้ไปเรื่อยๆ เพื่อเลี่ยง พ.ร.บ.ปรองดองหรือจะใช้วิธีการอย่างอื่น
อีกส่วนคือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไปเจรจากับ พล.อ.สนธิและผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.ปรองดองในฐานะที่เป็นหัวหน้าแกนนำพรรครัฐบาลและเป็น ส.ส.ขอให้ถอนกฎหมายฉบับนี้ออกไป เพราะหากเกิดความไม่สงบในบ้านเมืองความรับผิดชอบก็หนีไม่พ้นตัวนายกฯ เอง การโยนความรับผิดชอบให้สภาฯ เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เป็นการปัดความรับผิดชอบของนายกฯ อย่าทำแบบปากว่าตาขยิบ อย่ามาอ้างว่ารัฐบาลไม่เกี่ยวข้อง เพราะ ครม.เคยมีมติเรื่องนี้ให้ไปจัดสานเสวนารับฟังความเห็นจากประชาชน เพื่อนำมาเป็นประโยชน์สนับสนุน พ.ร.บ.ปรองดองต่อไป โดยมอบให้กระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพดำเนินการ จึงปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับรัฐบาลไม่ได้ ซึ่งตนไม่เห็นด้วย เพราะกระทรวงมหาดไทยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาล ผลที่ออกมาอาจจะไม่เป็นกลางขาดความน่าเชื่อถือ หรือควรประสานไปยัง ส.ส.ที่ร่วมลงชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.ปรองดองให้ถอนรายชื่อออกมา เพราะหากมีรายชื่อไม่ครบ 20 คนร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวจะถือว่าต้องตกไป
“การเลื่อนระเบียบวาระไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา แต่ซื้อเวลาลดกระแสการต่อต้านกฎหมายนี้ชั่วคราว และเมื่อถึงเวลาเหมาะก็เชื่อว่าจะได้เลื่อนขึ้นมาพิจารณาอาละวาดในสภาฯ อีก ยืนยัน ขอให้ถอน พ.ร.บ.ปรองดองนี้ออกไป เพราะจะเป็นการดึงเชื้อไฟออกจากกองเพลิงให้บ้านเมืองสงบ อย่างน้อยก็เป็นช่วงระยะเวลาหนึ่งตราบเท่าที่รัฐบาลไม่เสนอเรื่องที่เป็นปัญหากับประเทศอีก และหากยังพยายามจะมีมติขอเลื่อนระเบียบวาระอีก พวกเราก็จะไม่ร่วมลงมติในเรื่องนี้” นายจุรินทร์กล่าว
ด้านนายสมศักดิ์ชี้แจงว่า ตนไม่เคยให้สัมภาษณ์ว่าให้ถอนปรองดอง และไม่เคยให้สัมภาษณ์ว่าจะไปคุยกับเจ้าของญัตติให้ถอน แต่พูดว่าส่วนตัวเห็นด้วยที่จะมีการยื้อ พ.ร.บ.ปรองดองออกไป และจะไปหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งตนก็ได้ทำตามที่พูด แนวโน้วก็ออกมาดี เท่าที่ฟังสมาชิกก็คล้อยตามว่าต้องยื้อออกไปก่อน ส่วนจะทำรูปแบบใดก็ให้เป็นความเห็นของสมาชิกที่ต้องหารือกันต่อไป
ขณะที่นายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การที่ต้องเลื่อนกฎหมายทั้ง 10 ฉบับขึ้นมาพิจารณาก่อนเพราะอยากจะรอคอยโอกาสให้ฝ่ายค้านเปลี่ยนใจ เพราะพรรคประชาธิปัตย์ก็เคยหาเสียงเลือกตั้งเอาไว้ว่าจะเสนอกฎหมายเข้ามาด้วย ประชาชนจึงตั้งข้อสงสัยว่าคำว่าปรองดองทำไมกลายเป็นเรื่องที่ฝ่ายค้านบอกให้ล้มแต่ไม่ใส่ชื่อบอกให้ล้มกฎหมายปรองดองเพราะจะมีการล้มสถาบัน ตำรวจก็ไปจับ วันนี้ท่านใช้วาทกรรมว่าต้องไปสานเสวนา ขณะนี้รัฐบาลก็กำลังทำอยู่
“เพื่อรอเวลาให้มีการปรึกษาหารือเผื่อจะเปลี่ยนใจฝ่ายค้านที่เคยเสนอกฎหมายปรองดองต่อสาธารณชนได้ เปลี่ยนใจเสนอกฎหมายประกบแล้วมาแก้ไขตามกลไกที่สภาฯ เคยดำเนินการไป ซึ่งการเสนอเลื่อนระเบียบวาระเป็นไปตามข้อบังคับที่ 46 ชัดเจน ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ไม่ต้องไปพาดพิงกับนายกฯ ที่เป็นฝ่ายบริหาร อย่าให้มีการฉุดกระชากไปถึงเก้าอี้ของนายกฯ เลย เอาเท่านี้พอ ท่านกล่าวให้ร้ายบอกนายกฯ ปากว่าตาขยิบ ผมไม่อยากตอบโต้ เป็นผู้ใหญ่ด้วยกันควรใช้ถ้อยคำที่ดีต่อกัน”
นายสุนัยกล่าวว่า ไม่อยากให้ไทยกลายเป็นประเทศที่บอบช้ำที่สุดจากปัญหาความขัดแย้ง หากจะเห็นความสงบบ้านเมืองอย่างน้อยให้เริ่มต้นจากพวกเรา อยากขอให้วันนี้จบลงเพียงว่าให้เลื่อน 10 ฉบับหรือไม่ ไม่ต้องตำหนิกันแล้วไปเปิดวันพุธหน้า วันนี้ถือเป็นปฐมฤกษ์ อยากให้วันนี้เริ่มต้นปรองดองด้วยจิตใจที่ดีต่อกัน
นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การเลื่อนระเบียบวาระในวันนี้จะมีผลในสัปดาห์ถัดไปที่จะเป็นการประชุมวาระพิเศษหรือวาระปกติ การที่ต้องบรรจุระเบียบวาระนัดพิเศษเป็นการหลีกเลี่ยงปัญหาของกฎหมายปรองดองใช่หรือไม่ จึงถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะให้ถอน ซึ่งความเห็นของประธานกับสมาชิกก็ไม่ตรงกัน มาบอกรอฝ่ายค้านเปลี่ยนใจ ที่ต้องถามเพราะทุกฝ่ายเห็นด้วยเรื่องความปรองดอง แต่ความหมายของปรองดองคือ การเห็นพ้องต้องกันของสังคมว่าต้องการความสามัคคีในชาติ แต่ พ.ร.บ.ปรองดอง ตอนเสนอทำให้สถานการณ์การเมืองมันร้อนระอุ มีการชุมนุมกัน บางฝ่ายประกาศว่าวันใดกฎหมายปรองดองเข้าสภา หน้าสภาจะมีคนมาชุมนุมอีก หากประธานสภาฯ นายกฯ และ ส.ส. เห็นพ้องว่าจะสร้างความปรองดองก็ขอให้ถอนออกไป ส่วนต่อไปจะทำอย่างไรก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลและฝ่ายค้านต้องไปหารือกัน แต่หากกฎหมายปรองดองยังไม่เปลี่ยนแปลงยังเปิดช่องให้คืนเงิน มีการล้างผิดความเห็นพ้องของคนในชาติก็คงไม่เกิด เพราะเป็นการทำลายหลักนิติรัฐ นิติธรรม
อย่างไรก็ตาม ส.ส.ฝ่ายค้านยังคงแสดงความเห็นคัดค้าน เพราะเห็นว่าไม่ใช่เป็นการแก้ปัญหา เพราะที่สุดแล้ว พ.ร.บ.ปรองดองก็ค้างในสภาฯ อยู่ดี การแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือถอนออกไป แต่หากยังพยายามจะขอเลื่อนระเบียบวาระแบบนี้ พวกตนก็ขออนุญาตไม่ร่วมลงมติด้วย
หลังจากมีการแสดงความเห็นกันพอสมควร ที่ประชุมได้มีมติเสียงข้างมาก 272 ต่อ 1 ไม่ลงคะแนน 6 และงดออกเสียง 8 เสียง ให้เลื่อนระเบียบวาระนำกฎหมายทั้ง 10 ฉบับขึ้นมาพิจารณาก่อน โดยนายสมศักดิ์ได้ระบุว่า การเลื่อนระเบียบวาระดังกล่าวจะมีผลในการประชุมสภาฯ ตามปกติในสัปดาห์หน้า โดยตามวาระจะมีการพิจารณากฎหมายทั้ง 10 ฉบับก่อน เมื่อเสร็จแล้วก็จะเป็นการพิจารณาเรื่องด่วน คือ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติที่อยู่ในวาระแรกต่อไป