เปิดคำวินิจฉัยส่วนตน ส่อมีปัญหาไม่ใช่เสียงเอกฉันท์ เหตุพบวินิจฉัยประเด็นแก้ม.291 เพื่อแก้รธน.ทั้งฉบับได้หรือไม่ เสียงกลายเป็น 4 ต่อ 2 ต่อ 2 โดย 4 เสียงเห็นแก้รธน.ทั้งฉบับไม่ได้ 2 เสียงให้แก้ได้ ส่วนอีก 2 เสียงเห็นว่าศาลไม่มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบ ด้านตุลาการชี้ให้ยึดผลของคดีที่ยกคำร้องเป็นหลัก
วันนี้(27ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคำวินิจฉัยส่วนตนของ 8 ตุลาการที่มีการเผยแพร่แล้วนั้น น่าเชื่อว่าจะถูกวิพากษ์วิจารณ์และอาจมีปัญหาในเรื่องการตีความ โดยเฉพาะในประเด็นที่ 2 คือการแก้ไขเพิ่มเติมของรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 291 สามารถ แก้ไขเพิ่มเติมโดยยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้หรือไม่นั้น น่าจะถูกมองว่าไม่ได้เป็นมติเสียงข้างมากตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 216 บัญญัติว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ถือเสียงข้างมาก
เนื่องจาก ในคำวินิจฉันส่วนตัวที่ออกมานั้น พบว่า มีเสียงกความเห็นต่างกันแตกเป็น 4 ต่อ 2 ต่อ 2 โดย 4 เสียงแรกคือนายสุพจน์ ไข่มุกด์ นายจรูญ อินทจาร นายนุรักษ์ มาประณีต นายเฉลิมพล เอกอุรุ เห็นว่ารัฐธรรมนูญ50มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมอยู่ในมาตรา 291 โดยในมาตราดังกล่าวได้กำหนดวิธีของการแก้ไขด้วยการใช้ถ้อยคำว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้กระทำได้ตามหลักเกณฑ์วิธีการดังต่อไปนี้...ซึ่งเท่ากับว่า ไม่เปิดช่องให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้ในลักษณะยกเลิกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้ซึ่งจะไม่สอดคล้องกับมาตรา 291
ส่วนอีก 2 เสียงต่อมาคือ นายบุญส่ง กุลบุปผา และนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ เห็นว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจของรัฐสภา กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจศาลเข้าไปตรวจสอบ ขณะที่อีก 2 เสียงสุดท้าย คือนายชัช ชลวร และนายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี ที่เเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจของรัฐสภา และในรัฐธรรมนูญไม่มีบทบัญญัติใดที่ห้ามมิให้มีการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แต่หากจะมีการแก้ไขทั้งฉบับก็ควรมีการทำประชามติสอบถามความเห็นประชาชนในฐานะที่เป็นผู้สถาปนารัฐธรรมนูญฉบับนี้เสียก่อน
ทั้งนี้มีรายงานว่า ในชั้นการประชุมแถลงคำวินิจฉัยส่วนตนเมื่อวันที่ 13 ก.ค.นั้น เมื่อมติที่ออกมาเป็นดังนี้ ทำให้ที่ประชุมตุลาการฯ ต้องถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ที่ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมขณะนั้นจึงก็ได้ขอให้คณะตุลาการหาจุดรวมกันเพื่อให้ได้เสียงข้างมาก จนในที่สุดคณะตุลาการก็เห็นร่วมกันว่า จริงอยู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจของรัฐสภา และรัฐธรรมนูญ 50 ได้กำหนดบทบัญญัติเรื่องของการแก้ไขไว้ในมาตรา 291 แต่หากฝ่ายการเมืองประสงค์ที่จะแก้รัฐธรรมนูญ โดยให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 50 ก็ควรมีการทำประชามติ สอบถามประชาชนซึ่งเป็นผู้ให้ความเห็นชอบเสียก่อน ว่าสมควรที่จะยกเลิกรัฐธรรมนูญ 50 แล้วมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่
อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้หลังจากศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยในวันที่ 13 ก.ค.แล้ว วันรุ่งขึ้นก็ปรากฏว่ามีนักวิชาการออกมาตั้งข้อสังเกต ว่าการลงมติในประเด็นที่ 2 นี้อาจมีปัญหาโดยหยิบยกเอกสารข่าวของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ฉบับลงวันที่ 13 ก.ค. ที่เผยแพร่รายละเอียดสรุปคำวินิจฉัย ว่ามีการระบุจำนวนเสียงในประเด็นแรกคือศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่เท่านั้น ว่า เป็นมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 1 ส่วนประเด็นที่ 3 และประเด็นที่ 4 นั้นก็ระบุว่าเป็นมติเอกฉันท์ แต่ในประเด็นที่ 2เหตุใดจึงไม่ได้มีการระบุจำนวนเสียงหรืออาจเป็นเพราะว่าไม่ได้เป็นเสียงข้างมาก
อย่างไรก็ตามแหล่งข่าวจากตุลาศาลรัฐธรรมนูญ ได้อธิบายในประเด็นนี้ว่า เมื่อเสียงของตุลาการออกมา 4 ต่อ 2 ต่อ 2 ซึ่งในส่วน 2ต่อ 2นี้หากพิจารณาคำวินิจฉัยส่วนตนแล้วก็จะพบว่าเหมือนกันตรงที่เห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจรัฐสภา เพียงแต่ต่างกันที่รายละเอียด ดังนั้นจึงน่าจะถือเป็นส่วนของ 4 เสียงที่เห็นเหมือนกันได้ ทำให้ตุลาการฯ ยอมที่จะลดดีกรีของตนเองลงมาพบกันครึ่งทาง เพื่อที่จะให้ได้เสียงข้างมาก จนเป็นที่มาของคำวินิจฉัยกลางที่มาอ่านให้คู่กรณีฟัง ซึ่งก่อนอ่านตุลาการทั้ง 8 คนได้ตรวจและให้การยอมรับเนื้อหาตามร่างคำวินิจฉัยกลาง จนเป็นเสียงเอกฉันท์
“ประเด็นหลักของคดีนี้ คือการที่ศาลมีคำวินิจฉัยยกคำร้อง คือผู้ร้องขออะไรศาลไม่ให้เลยแม้แต่ข้อเดียวตามที่ผู้ร้องร้องขอ การที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะหยิบคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการคนใดไปเป็นประโยชน์กับตนเองนั้นก็เป็นเรื่องของเขา แต่สิ่งที่มันผูกพันธ์ทุกองค์กรตามกฎหมายนั้นคือคำวินิจฉัยกลาง ที่ระบุว่ายกคำร้อง ซึ่งยกคำร้องแปลว่าอะไรคงไม่ต้องอธิบาย ”