“เฉลิม” เป็นประธานลงนามเอ็มโอยูตามโครงการ 1 ตำรวจ 1 โรงเรียน ตามยุทธศาสตร์พลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด เผยนำร่องในพื้นที่ภูธรภาค 7 ได้ผลตอบรับดี ฝากทุกฝ่ายร่วมมือทำงานจริงจัง เผยประสานฝ่ายความมั่นคงบีบพม่ากดดันพวกว้าไม่ให้ผลิตยาเสพติด ด้านผู้บัญชาการปราบปรามยาเสพติด เผยตำรวจจับมือครู รับมือกลุ่มอิทธิพล ผู้ค้ายา ล้างปัญหายาเสพติดในเด็กนักเรียน
วันนี้ (25 ก.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในโครงการตำรวจประสานโรงเรียน 1 ตำรวจ 1 โรงเรียน ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 3 ระดับ คือ ระดับนโยบาย ระดับอำนวยการ และระดับปฏิบัติการ เพื่อขับเคลื่อนการแก้ปัญหายาเสพติด ตามยุทธศาสตร์พลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด มีตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม อาทิ พล.ต.อ.วัชพล ประสานราชกิจ รองผบ.ตร.พล.ต.ท.ชัยวัฒน์ โชติมา ผู้บัญชาการปราบปรามยาเสพติด นายประชา เตรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นางทยา ทีปสุวรรณ รองผู้ว่าฯ กทม.และผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ ตัวแทนกองบัญชาการตำรวจภูธร 1-9 เป็นต้น
โดย ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวมอบโนบาย ว่า ที่ผ่านมาสถานการยาเสพติดที่ระบาดรุนแรง เพราะข้าราชการไทยประพฤติไม่ดีงาม แต่เมื่อรัฐบาลนี้เข้ามาได้ประกาศให้การปราบปรามยายเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ และนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ตนเป็น ผอ.ศูนย์อำนวยการพลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด ดังนั้นโครงการนี้ถือเรื่องที่ดี และจากการดำเนินการโครงการนี้โดยนำร่องในพื้นที่ภูธรภาค 7 พบว่ารับการตอบรับจากทุกภาคส่วนเป็นอย่างดี รวมทั้งพื้นที่อื่นๆ ในต่างจังหวัด ซึ่งผู้ว่าฯ ไปประชุมหารือร่วมกับตำรวจและสถานศึกษา เหลือเพียง กทม. ที่ยังไม่เริ่มดำเนินการ จึงขอฝากให้ผอ.เขตทั้ง 50 เขต ประชุมร่วมกับ 88 สถานีตำรวจในกทม. เพื่อเร่งแก้ปัญหาต่อไป นอกจากนั้นขอฝากให้ตำรวจ ครู และ ผู้ว่าฯร่วมมือกันทำงานอย่างจริงจัง เชื่อว่านับจากนี้ 1 ปี ยาเสพติดจะลดลง และอย่าไปอิจฉากันเองเพราะขณะนี้เราเป็นรัฐบาลพรรคเดียวไม่น่าจะมีปัญหา ที่ผ่านมาตนเข้าใจว่าเจ้าหน้าที่หนักใจ เพราะคนที่กำกับดูแลเรื่องนี้เป็นคนละส่วนกัน
ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ปัญหายาเสพติด ไม่ได้ผลิตในบ้านเรา แต่มาจากชนกลุ่มน้อยหรือพวกว้าของพม่า เมื่อตนพูดไปก็ถูกวิจารณ์ ว่าสร้างความแตกแยก แต่ถ้าเราสกัดการนำเข้าจากพม่า ที่ผ่านเข้ามาทางภาคเหนือได้ ก็จะลดปัญหาได้ ทั้งนี้ในเร็วๆนี้ ตนจะลงพื้นอีสานเพื่อติดตามสถานการณ์ เพราะทราบว่าเริ่มมีการเคลื่นอไหวไปในพื้นที่ภาคอีสาน อย่างไรก็ตามตนได้รับมอบให้เป็นประธานสืบสวนสอบสวนการทุจริตคอรัปชั่น เรื่องงบเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ทางการเมือง ,งบน้ำท่วม, และงบท้องถิ่น ที่พูดไม่ใช่การจับผิดแต่ขอให้ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาตามมาภายหลัง
“ผมจะประสานรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคงของไทย ไปบีบพม่า ให้ไปกดดันพวกว้า เมื่อเรากดดันได้ก็จะแก้ปัญหาไม่ให้เข้ามาในบ้านเราได้ และหากทางพม่าต้องการจะพบกับตนก็จะพร้อมจะพบ และยอมรับว่าว่าตนทำงานแรง เพราะถ้าไม่แรงก็แก้ปัญหาไม่ได้ ผมยืนยันว่าเอาจริงในเรื่องนี้ และจะฝากผลงานเรื่องนี้เป็นครั้งสุดท้ายก่อนเลิกเล่นการเมือง และถ้าไม่ถูกปรับออกก่อนก็จะทำงานต่อไป” ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว
ด้าน พล.ต.ท.ชัยวัฒน์ โชติมา ผู้บัญชาการปราบปรามยาเสพติด ให้สัมภาษณ์ถึงโครงการ ”ตำรวจประสานโรงเรียน 1 ตำรวจ 1 โรงเรียน” ว่า โครงการนี้จะเน้นการปฏิบัติงานแก้ไขปัญหาสำหรับเด็กมัธยมศึกษาและเด็กอาชีวะ เพื่อช่วยให้โรงเรียนสามารถคัดกรองเด็ก จะได้รู้ว่าเด็กไปยุ่งกับยาเสพติดจำนวนเท่าไหร่ อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเท่าไหร่และไม่ยุ่งเกี่ยวเท่าไหร่ เพื่อจะหากิจกรรมที่เหมาะสมกับเด็ก ซึ่งพอโรงเรียนรู้จำนวนเด็กว่ามีเท่าไหร่บ้างที่ไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ตำรวจและเจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมืองเข้าไปช่วยเหลือสนับสนุนโรงเรียน เป็นแบ๊คอัพให้โรงเรียน เพราะพอโรงเรียนไปเจอผู้ค้าผู้มีอิทธิพลก็อาจจะสู้ไม่ไหวอาจะถูกข่มขู่เช่น การกรีดรถ ราดน้ำมันเบรก ตำรวจต้องเข้าไปช่วย ถ้าเราทำโครงการนี้ไปได้ก็จะช่วยแก้ไขปัญหายาเสพติดในเยาวชนได้
พล.ต.ท.ชัยวัฒน์ กล่าวต่อว่า สำหรับการแพร่ระบาดของยาเสพติดตอนนี้ ก็มีแพร่กระจายในประเทศไทยมากพอสมควร เคยมีการพูดคุยกับกระทรวงศึกษาธิการว่าตอนนี้มีเด็กไปเกี่ยวข้องเท่าไหร่ เพื่อหามาตรการมารองรับ เพราะหากเราทำไม่ถูกกลุ่มเราจะไม่บรรลุวัตถุประสงค์ สำหรับโครงการนี้เราต้องทำต่อเนื่อง โดยจะต้องมีการประสานงานระหว่างตำรวจ ครู และฝ่ายปกครองให้มากขึ้นกว่าที่ผ่านมา ส่วนกำลังพลในการปฏิบัติงานของตำรวจคิดว่าน่าจะพอเพียง เพราะเราจะให้ตำรวจลงไปประสานงานกับโรงเรียนแห่งละ1 คน ซึ่งอาจจะเป็นตำรวจที่มีความเกี่ยวข้องกับโรงเรียนเช่นเป็นศิษย์เก่า หรือเป็นผู้ปกครอง แล้วหากมีอะไรก็ให้ประสานงานมาที่ส่วนกลาง เพื่อเราจะส่งตำรวจหลักลงไปดู ว่าจะช่วยเหลืออะไรได้บ้าง ที่สำคัญตำรวจจะต้องไม่เป็นผู้ไปค้าเสียเอง โครงการนี้ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน ที่ต้องเน้นในเยาวชนเพราะเป็นกลุ่มสำคัญ เราจะต้องทุ่มเทให้กับกลุ่มนี้ให้มาก
“หากเราพบเยาวชนไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด เราจะให้ไปเรียนตามปกติและมีการบำบัดไปพร้อมกัน และในช่วงปิดเทอมจะมีการจัดกิจกรรมที่เหมาะสม เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเยาวชน โดยโครงการของตำรวจจะไม่เหมือนกับทหารที่จัดค่ายวิวัฒน์พลเมือง แต่เราจะทำให้เหมาะสมในแต่ละกลุ่ม เพราะเด็กบางคนไม่ได้ติดมากหากไปส่งเข้ากลุ่มที่เสพมากก็ไม่เหมาะสม เราต้องหากิจกรรมที่เหมาะสมในแต่ละกลุ่ม เพื่อจะได้สำเร็จตามวัตถุประสงค์” พล.ต.ท.ชัยวัฒน์ กล่าว