xs
xsm
sm
md
lg

ครม.เผย “ปลอด” นั่งหัวโต๊ะคัดผู้รับเหมาจัดการน้ำ 3 แสนล.-เห็นชอบ 6 นิคมฯ กู้สร้างเขื่อนกั้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปลอดประสพ สุรัสวดี
ที่ประชุม ครม.เผย “ปลอดประสพ” นั่ง ปธ.คัดเลือกเอกชนบริหารจัดการน้ำ 3 แสนล้าน รับทราบสถานการณ์น้ำ ยันปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำกรมชลประทานยังปกติ เผยน้ำปีนี้น้ำน้อยกว่าปีที่แล้ว ขณะเดียวกันเห็นชอบให้ 6 นิคมอุตฯ กู้เงินสร้างเขื่อนกันน้ำ 3.5 พันล้าน

วันนี้ (24 ก.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ศันสนีย์ นาคพงศ์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงถึงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมมีมติชอบแต่งตั้งคณะกรรมการโครงการออกแบบก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทยมูลค่า 3 แสนล้านบาท เพื่อคัดเลือกเอกชนจากการเปิดให้เอกชนรับ TOR บริการจัดการน้ำ ตามที่ นายปลอดประสพ สุรัสวดี รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) เสนอ

โดยองค์ประกอบของคณะกรรมการ มีดังนี้ 1.ประธาน กบอ.เป็นประธานคณะกรรมการ 2.กรรมการโดยตำแหน่ง จำนวน 10 คน ได้แก่ ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และประธานคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ

3.กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย นายอภิชาติ อนุกูลอำไพ นายรอยล จิตรดอน นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา นายวัยวุฒิ หล่อตระกูล น.ส.วิลาวรรณ วนดุรงค์วรรณ ทั้งนี้ให้ประธานกรรมการแต่งตั้งเลขานุการหนึ่งคนและผู้ช่วยเลขานุการไม่เกินสองคน

สำหรับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการชุดดังกล่าว ประกอบด้วย 1.การพิจารณาคัดเลือกข้อเสนอกรอบแนวคิดเพื่อออกแบบก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทยที่สอดคล้องกับแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนของประเทศไทยมากที่สุด

2.การเสนอแนะ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการเพื่อให้มีการนำกรอบแนวคิดที่ได้รับการคัดเลือกไปดำเนินการต่อไป 3.การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือดำเนินการในเรื่องที่ได้รับมอบหมาย และให้หน่วยงานของรัฐสนับสนุนการปฏิบัติงานของคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกตามที่ได้รับการร้องขอ

นายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้รายงานสถานการณ์น้ำในรอบสัปดาห์ให้คณะรัฐมนตรีรับทราบ โดยพบว่า ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ของกรมชลประทาน โดยทั่วไปอยู่ในสภาวะปกติ ปริมาณน้ำน้อยกว่าปีที่แล้วร้อยละ 8 หรือ 6,160 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีจังหวัดใดประกาศเป็นพื้นที่ประสบอุทกภัย

ส่วนสภาพภูมิอากาศในสัปดาห์หน้า คาดว่าพายุโซนร้อน วีเซนเต จะเคลื่อนตัวขึ้นฝั่งประเทศจีนตอนล่าง ในช่วงบ่ายของวันที่ 24 ก.ค.นี้ ก่อนจะเคลื่อนตัวผ่านตอนบนของประเทศเวียดนาม และจะสลายตัวบริเวณทางตอนบนของประเทศลาว ในวันที่ 25 ก.ค.ซึ่งจะมีอิทธิพลต่อพื้นที่ตอนบนของภาคเหนือ บริเวณจังหวัดเชียงราย น่าน เชียงใหม่ พะเยา แม่ฮ่องสอน และตอนบนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณจังหวัดหนองคาย และบึงกาฬ จะมีฝนตกกระจาย และตกหนักบางพื้นที่ ต่อเนื่องในช่วง 3-4 วัน และอาจทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลาก หรือน้ำท่วมฉับพลันได้

ครม.ได้อนุมัติตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ ให้แต่งตั้ง นายศุภชัย ศิริวัฒนเจริญชัย รองอธิบดี (นักบริหารระดับต้น) กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (นักบริหารระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงอุตสาหกรรม ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง เป็นต้นไป

นายชลิตรัตน์ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังได้อนุมัติตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ ในการกำหนดแผน เพื่อป้องกันน้ำท่วมในโรงงานอุตสาหกรรมในปี 2555 ที่ตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยจำนวน 6 แห่ง คือ นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง นิคมอุตสาหกรรมบางชัน นิคมอุตสาหกรรมบางปู นิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร นิคมอุตสาหกรรมบางพลี และนิคมอุตสาหกรรมพิจิตร ในการขออนุมัติก่อสร้างเขื่อน โดยการขอกู้เงินเอง ดังนี้ 1.การของบประมาณการขอเพิ่มเติมงบประมาณลงทุนประจำปีงบประมาณ 2555 ครั้งที่ 2 เพื่อก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมในนิคมอุตสาหกรรม 6 แห่ง จำนวนเงิน 3,546 ล้านบาท โดยให้กู้ยืมเงินจากธนาคารออมสิน ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ระยะเวลา 15 ปี และให้จ่ายเฉพาะดอกเบี้ย โดยไม่ต้องจ่ายคืนเงินต้นใน 5 ปีแรก

2.เห็นควรให้ทางนิคมอุตสาหกรรม พิจารณานำเงินส่งเป็นรายได้แผ่นดินตามปกติ โดยไม่ต้องหักยอดเงินต้นและดอกเบี้ย ที่จะต้องชำระคืนในแต่ละปีออก 3.ในการพิจารณาเก็บค่าบริการส่วนกลางนั้น ให้ทางนิคมอุตสาหกรรมรับความเห็นของหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการต่อไป 4.เห็นควรให้ทางนิคมอุตสาหกรรมจัดทำรายละเอียดผกระทบที่เกิดขึ้น เสนอคณะกรรมการจัดทำบันทึกข้อตกลง และประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ เพื่อพิจาณาต่อไป 5.เห็นควรให้ทางนิคมอุตสาหกรรมรับภาระภาษีโรงเรือน ภาษีบำรุงท้องที่ หรือภาษีอื่นใด ที่หน่วยงานท้องถิ่นจัดเก็บ เนื่องจากการประมาณการภาระภาษี อยู่ในระดับในฐานะทางการเงิน ที่นิคมอุตสาหกรรมรองรับได้

“นายกฯยังได้กำชับให้นิคมอุตสาหกรรมในแต่ละแห่ง ที่ต้องการปรับค่าบำรุงรักษาและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ สามารถปรับค่าเหล่านั้นได้ ทั้งนี้ ต้องอยู่ในขอบเขตที่จำเป็นตามความเหมาะสม โดยให้กระทบต่อผู้ประกอบการน้อยที่สุด” นายชลิตรัตน์ ระบุ
กำลังโหลดความคิดเห็น