xs
xsm
sm
md
lg

“คำนูณ” หนุนทำประชามติเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“คำนูณ” ชำแหละ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 ให้ส่งออกได้ไม่จำกัด แถมขายในประเทศก็ต้องใช้ราคาตลาดโลก ซึ่งหากไม่มีการแก้ไข คนไทยไม่มีวันได้ประโยชน์จากพลังงานของชาติอย่างคุ้มค่า ระบุเปิดสัมปทานรอบ 21 สำคัญมาก เพราะจะกินเวลาถึง 39 ปี หนุนทำประชามติก่อน พร้อมชี้เป็นเรื่องมหัศจรรย์ “เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์-คมช.” ขัดแย้งกันทางการเมือง แต่เรื่องพลังงานกลับเป็นไปในทิศทางเดียวกันหมด

วันที่ 23 ก.ค. นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวในรายการ “คนเคาะข่าว” ทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV ว่า เรื่องการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมนั้นสำคัญมาก เพราะมีผลต่ออนาคตของลูกหลานอย่างยิ่ง เพราะการให้สัมปทานครั้งนึงกินเวลาหลายสิบปี การเปิดสัมปทานครั้งแรกเมื่อปี 2514 กฎหมายขณะนั้นให้สัมปทานผลิต 30 ปี ต่อได้ 1 ครั้ง 10 ปี เป็น 40 ปี แล้วยังไม่รวมเวลาสำรวจอีก 12 ปี ฉะนั้นสัมปทานรอบแรกที่ส่วนใหญ่ต่างชาติได้ไป ยังจะมีอยู่ถึงปี 2556 แล้วยังต่อได้อีก 10 ปี สรุปคือจะหมดลงจริงๆในปี 2566 แม้มีการแก้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียมครั้งใหญ่เมื่อปี 2532 โดยให้ระยะเวลาสัมปทานเหลือ 20 ปี ให้ต่อได้ 1 ครั้ง 10 ปี เป็น 30 ปี สำรวจ 6 ปี บวกต่อเวลาสำรวจได้ 3 ปี รวมทั้งหมดเป็น 39 ปี คือถ้าเราเปิดสัมปทานรอบที่ 21 นี้ บริษัทที่ได้มาจะได้ต่อไปในผลประโยชน์ที่คงที่ 39 ปี ฉะนั้น ก่อนที่จะเปิดให้บริษัทใดเข้ามาต้องถามคนไทยทั้งหมดว่าสิ่งที่เราได้กลับคืนมาคุ้มค่าหรือไม่ ส่วนตัวแล้วอยากให้จัดทำเป็นประชามติเลย

นายคำนูณกล่าวต่อว่า ปรัชญาการใหสัมปทานปิโตรเลียมในบ้านเรา ตนสันนิษฐานเอาว่าการออก พ.ร.บ.ปิโตรเลียมปี 2514 รวมทั้ง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมปี 2514 อาจเหมาะสมกับสถานการณ์ในวันนั้น แต่วันนี้มันแตกต่างออกไปแล้ว

คนไทยควรรู้ว่าการเข้ามารับสัมปทานของบริษัทต่างชาติ มันเป็นไปเพื่อประโยชน์ของการส่งออกเกือบๆจะสถานเดียว ในประเทศมีปิโตรเลียมมาก คนไทยก็ควรได้ใช้น้ำมันถูกลงกว่านี้ใช่ไหม หรือใช้แพงก็ได้แต่ประเทศต้องได้ผลประโยชน์ที่มากพอ ถ้าหลักการให้สัมปทานบริษัทต่างชาติ ยังคงเป็นปรัชญาของ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ชาตินี้ทั้งชาติคนไทยไม่มีวันได้ผลประโยชน์อย่างนั้น เพราะมีมากมีน้อย เขาให้สัมปทานเพื่อส่งออก ถ้าจะขายในประเทศก็ได้ แต่ขายในราคาตลาดโลก ฉะนั้นไม่ว่าจะมีน้ำมันในประเทศหรือไม่ ไม่สำคัญ เพราะต้องซื้อในราคาตลาดโลก

พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 มาตรา 64 บัญญัติไว้ว่า ให้ผู้รับสัมปทานได้รับหลักประกันว่า “(1) รัฐจะไม่บังคับโอนทรัพย์สินและสิทธิในการประกอบกิจการปิโตรเลียมของผู้รับสัมปทานมาเป็นของรัฐ เว้นแต่เป็นการโอนตามข้อกำหนดในสัมปทาน”

และที่สำคัญมากคือ “(2) รัฐจะไม่จำกัดการส่งปิโตรเลียมออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่กรณีตามมาตรา 61” ซึ่งตรงนี้ตัดออกได้เลย เพราะเป็นกรณีวิกฤตจริงๆ แต่ประเด็นสำคัญจริงสุดคือรัฐจะไม่จำกัดการส่งปิโตรเลียมออกนอกราชอาณาจักร คือขุดได้ร้อยก็สามารถส่งออกร้อย

กรณีที่สำคัญรองลงมา คือ การขายในประเทศแต่ต้องใช้ราคาตลาดโลก ซึ่งอยู่ในมาตรา 57 “(1) ในกรณีที่ยังไม่มีผู้รับสัมปทานส่งน้ำมันดิบที่ผลิตได้ออกนอกราชอาณาจักรเป็นประจำ ให้ขายไม่เกินราคาน้ำมันดิบที่สั่งซื้อจากต่างประเทศส่งถึงโรงกลั่นน้ำมันภายในราชอาณาจักร” คือต่อให้ขุดได้ในประเทศก็ต้องบวกค่าขนส่งเข้าไปด้วย

“(2) ในกรณีที่มีผู้รับสัมปทานส่งน้ำมันดิบที่ผลิตได้ออกนอกราชอาณาจักรเป็นประจำ ให้ขายไม่เกินราคาเฉลี่ยที่ได้รับจริงสำหรับน้ำมันดิบที่ผู้รับสัมปทานทุกรายส่งออกนอกราชอาณาจักรในเดือนประดิทินที่แล้วมา ในการนี้อธิบดีอาจให้ผู้รับสัมปทานส่งหลักฐานที่จำเป็นเกี่ยวกับราคาที่ได้รับจริง ณ จุดส่งออกด้วยก็ได้”

มีอยู่กรณีหนึ่งที่สามารถขายถูกกว่าราคาตลาดโลกได้ คือ “(3) ในกรณีที่น้ำมันดิบที่ผลิตได้ทั่วราชอาณาจักรมีปริมาณถึงสิบเท่าขึ้นไป ของความต้องการใช้ภายในราชอาณาจักร ให้ขายในราคาที่มีกำไรตามสมควร โดยคำนึงถึงข้อตกลงที่เทียบเคียงกันได้ในประเทศผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่” ซึ่งกรณีนี้ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ ทั้งชาตินี้แล้วก็ชาติหน้า

ฉะนั้น มาตรา 64 และ 57 ความหมายคือเราให้สัมปทานเพื่อการส่งออก แล้วถ้าเราจะซื้อบริโภคภายในประเทศก็ต้องซื้อในราคาตลาดโลก ชาตินี้ทั้งชาติเราไม่มีทางบริโภคน้ำมันดิบได้เหมือนกับว่าเราขุดได้ในประเทศ

นายคำนูณกล่าวอีกว่า เบื้องต้นเราต้องถกกันเรื่องปรัชญาการให้สัมปทานปิโตรเลียมของประเทศไทยให้ตกเสียก่อนว่า จากที่กำหนดมาปี 2514 แก้ไขเปลี่ยนแปลงหลายครั้ง แต่ไม่ได้แก้ไขปรัชญาตรงนี้เลย ถึงตอนนี้เวลาผ่านไป 41 ปี มันสมควรเปลี่ยนหรือไม่

เป็นที่น่าแปลกใจ 41 ปีมานี้ เราฉีกรัฐธรรมนูญมาแล้ว 4 ฉบับ แต่ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 ไม่เคยมีคนตั้งคำถามเลยว่าหลักการสมควรเปลี่ยนแปลงหรือยัง แปลกหรือไม่ทำไมกฎหมายฉบับหนึ่งมีรากฐานทางปรัชญาสูงมาก ประชาธิปัตย์ เพื่อไทย ทะเลาะกันจะเป็นจะตาย เพื่อไทยกับรัฐประหาร หรือ คมช. ประณามกันสาดเสียเทเสีย แต่ทิศทางพลังงานของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นใคร นโยบายพลังงานเป็นไปในทิศทางเดียวกันตลอด มันมหัศจรรย์ที่สุดในโลก หรือจะพูดว่าไม่มหัศจรรย์เลย ถ้าเรารู้ว่าเนื้อแท้ของนโยบายพลังงานบ้านเรามันมีเงาทมึนของกลุ่มทุนมหาอำนาจอยู่เบื้องหลัง และเป็นไปเพื่อประโยชน์ของเขา จริงอยู่เราต้องโอนอ่อนผ่อนตามผลประโยชน์ของเขา แต่ผลประโยชน์ของคนไทย มันก็ต้องให้คุ้ม สมน้ำสมเนื้อกัน

สิ่งที่เราพูดกันอยู่ ต้องก้าวข้าม พ.ต.ท.ทักษิณ เพราะก็ไม่ได้ต่างจาก พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ สมัยรัฐบาลสุรยุทธ์ ก็มีการแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียมครั้งใหญ่ในปี 2550 นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในขณะนั้น ได้มีการเปิดสัมปทานรอบที่ 20 มีการต่ออายุออกไป มีความวิจิตรพิสดารตามสมควร มาถึงยุคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล ทิศทางนโยบายปิโตรเลียมก็ไม่ได้ขยับเขยื้อน

มันมหัศจรรย์หรือไม่ ที่ปรัชญารากฐานนโยบายพลังงานแห่งชาติตั้งแต่ปี 2514 ไม่เคยเปลี่ยนแปลง ความขัดแย้งทางการเมืองมีมากมาย คนตายไปเป็นร้อย แต่กลุ่มการเมืองไม่เคยเห็นต่างเรื่องพลังงานเลย เห็นมีแต่ภาคประชาชนที่ตั้งคำถาม แต่ก็ไม่เคยไปสู่สื่อกระแสหลัก เพราะผลประโยชน์มหาศาล ทั้งปตท. และกระทรวงพลังงาน

ประชาธิปัตย์วิจารณ์ น.ส.ยิงลักษณ์เรื่องแต่งตัว ส่วนเพื่อไทยก็วิจารณ์นายอภิสิทธิ์เรื่องหนีทหาร แต่ไม่มีนักกากรเมืองคนไหนหันมาพูดเรื่องสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 แล้วเสนอแนวทางที่ต่างจากกระแสหลักอย่างจริงจัง
กำลังโหลดความคิดเห็น