xs
xsm
sm
md
lg

รองปลัด มท.ย้ำปิดถนนขอ 2 หมื่นถูกดำเนินคดีแน่ ยุบี้องค์กรท้องถิ่นจ่ายชดเชยน้ำท่วมมั่ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประชา เตรัตน์ (แฟ้มภาพ)
“รองปลัดมหาดไทย” มาแปลก ขู่ใครปิดถนนบีบขอ 20,000 บาทต้องถูกดำเนินคดี พร้อมยุคนเดือดร้อนฟ้องแพ่ง ขณะเดียวกันแนะให้ผู้ที่ได้รับเงินไม่เป็นธรรมไปโวยกับ อบต.ที่เป็นผู้เสนอของบฯและจัดสรรเงิน รับมหาดไทยทำอะไรไม่ได้ ประชาชนต้องรับกรรมที่เลือกผู้บริหาร อบต.เอง

นายประชา เตรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงการที่ประชาชนหลายพื้นที่ยังคงปิดถนนประท้วงการรับเงินเยียวยาช่วยเหลือน้ำท่วมว่า เรื่องปิดถนนโดยหลักการไม่สมควร ความเดือดร้อนสามารถเรียกร้องได้ ซึ่งได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดที่ตนมีอำนาจสั่งการแล้วว่าประชาชนที่เดือดร้อนให้รับเรื่องราวร้องทุกข์เร่งด่วนและเชิญมายังหน้าศาลากลางก็ได้ หรือที่สาธารณะก็ได้ อย่าให้มีการปิดถนนเด็ดขาด หากมีการปิดถนนก็ต้องดำเนินคดีย้อนหลังทุกราย เพราะเรามีหลักฐาน เช่น ภาพถ่าย ซึ่งทุกจังกวัดก็มีการดำเนินคดีย้อนหลัง โดยเฉพาะแกนนำและศาลก็ลงโทษรอลงอาญา

ส่วนประชาชนที่เดือดร้อนจากการปิดถนน เช่น พ่อค้า แม่ค้า สามารถฟ้องแพ่งกับผู้ชุมนุมได้และยังโดนคดีอาญาจากการปิดการจราจรก็ได้ ทั้งนี้ตนยืนยันต่อประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนว่า ข้าราการที่เกี่ยวข้องทุกคนพร้อมรับเรื่องราวร้องทุกข์อยู่แล้ว แต่หากมีการกดดันจะเอาในทันทีก็ไม่ได้ ทุกกอย่างมีระเบียบกฎหมายรองรับ ทั้งนี้ปัญหาที่ผ่านมาเกิดจากการให้ท้องถิ่นสำรวจเพราะต้องยอมรับว่ามีเรื่องของหัวคะแนนและความเป็นพวกกันทำให้มีชาวบ้านโวยวาย เนื่องจากติดใจที่บ้านติดกันแต่ได้เงินไม่เท่ากัน ซึ่งประชาชนจะต้องไปโวยกับท้องถิ่นเอง และขณะเดียวกันตนยังหนักใจกับกลุ่มประชาชนอีก 200,000 หลังที่ยื่นไม่ทันกำหนด ถ้าโดยกฎหมายจะไม่มีสิทธิ์ได้ แต่เข้าใจว่ารัฐบาลอาจต้องเยียวยาซึ่งก็ต้องแล้วแต่รัฐบาล

ผู้สื่อข่าวถามว่า การส่งหลักฐานในบางครั้งเกิดวามล่าช้าจากหน่วยงานท้องถิ่น ซึ่งจะให้ประชาชนแบกรับความรับผิดชอบอย่างไร นายประชากล่าวว่า กรณีที่ยื่นหลักฐานเกินกำหนดเวลา จำนวนกว่า 200,000 ราย ขอถามว่าจะเอาคำตอบอะไร งบกลางถ้าหมดแล้วจะขยายเวลาได้อย่างไร ส่วนกรณีรายที่ขึ้นบัญชีไว้แล้วไม่พอใจในวงเงินที่ได้รับก็สามารถที่จะยื่นอุทธรณ์ได้ ขั้นตอนต่อไปก็จะขึ้นอยู่กับคณะกรรมการอุทธรณ์ว่าจะได้อีกเท่าไหร่ เรื่องนี้ไม่ใช่ว่าใครจะตัดสินได้ เพราะเรามอบให้ท้องถิ่นเป็นผู้ดูแลทั้งหมด และท้องถิ่นเองสามารถใช้เงินงบประมาณในส่วของท้องถิ่นโปะให้ได้อยู่แล้ว ซึ่ง กทม.ก็เคยใช้วิธีนี้

ต่อข้อถามว่ากระทรวงมหาดไทยสามารถดำเนินการต่อองค์กรท้องถิ่นได้ใช่หรือไม่หากเกิดความไม่ยุติธรรมในการจ่ายเงิน รองปลัดกระทรวงมหาดไทยกล่าวว่า จะไปดำเนินการอะไรได้ เนื่องจากท้องถิ่นมีกลไกที่เป็นอัตโนมัติ แต่วิธีของตนคือชาวบ้านต้องโวยว่าทำไมจึงจ่ายไม่เท่ากัน หัวคะแนนได้เยอะกว่าคนอื่น ประชาชนต้องโวยกันเอง เมื่อซักว่าเท่ากับเป็นการผลักภาระให้ประชาชนหรือไม่ นายประชากล่าวว่า ไม่ใช่ภาระ แต่ข้อเท็จจริงเป็นอย่างนี้ ก็ต้องทำ

ผู้สื่อข่าวแย้งว่า ประชาชนจะเอาอำนาจใดไปทำได้ หากกระทรวงมหาดไทยยังไม่สามารถไปดำเนินการข้าราชการท้องถิ่นได้ นายประชาชากล่าวว่า จะให้ไปทำอะไรเขา แต่ประชาชนสามารถฟ้องศาลปกครองได้ ในฐานะที่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่รับผิดชอบ

ส่วนที่ทาง กทม.ของบประมาณเพิ่มเติมอีก 400 ล้านบาทนั้น นายประชากล่าวว่า ขอถามว่าถ้าให้ 400 ล้านบาท แล้วจะจบไหม เพราะถ้าจบตนเข้าใจว่ารัฐบาลยินดีให้ แต่ตนกลัวว่าจะไม่จบ ลองมองกลับไม่ที่อีก 58 จังหวัดทำไมจึงไม่มีปัญหาทั้งๆ ที่ไม่ได้ 20,000 บาททุกราย สามารถตรวจสอบได้ ส่วนจะเป็นเรื่องการเมืองหรือไม่ให้ไปวิเคราะห์กันเอง ตนเป็นแค่ข้าราชการประจำไม่อยากพูด แต่ประชาชนที่ออกมาเรียกร้องก็มีแต่ในส่วนที่เป็นพื้นที่รอบ กทม. ตนเองก็งง คุณเคยสังเกตหรือไม่ว่าการเมืองท้องถิ่น การเมืองท้องที่มันแรง ไม่ว่าจะเป็น กทม. ปทุมธานี นนทบุรี

ต่อข้อถามว่าในปี 2555 จำเป็นที่จะต้องวางหลักเกณฑ์เยียวยาใหม่หรือไม่ นายประชากล่าวว่า กระทรวงการคลังต้องโละระเบียบใหม่หมด แต่ความคิดส่วนตัวที่จะเสนอคือ จะเอารายละเอียดทุกรายการเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าเราใช้วิธีการที่ให้ไปเลย 5,000 บาท เหมือนครั้งที่แล้วก็ไม่มีปัญหา และจบด้วยความรวดเร็ว ถ้าเป็นตนอาจจะเสนอให้เงินจำนวน 10,000 บาทเท่ากันทุกคน เรื่องก็จะจบจะไม่สามารถเล่นพรรคเล่นพวกได้

ส่วนหลักเกณฑ์ที่รัฐบาลใช้อยู่ขณะนี้หากประชาชนไม่มีความสัมพันธ์กับข้าราชการท้องถิ่น ก็จะไม่ได้รับความยุติธรรมใช่หรือไม่นั้น นายประชากล่าวว่า เพราะเลือกปฏิบัติ แล้วจะให้กระทรวงมหาดไทยไปดูทุกคนเป็นไปไม่ได้ คนกระทรวงมหาดไทยมีน้อยจะตรวจสอบเองเป็นไปไม่ได้ จะต้องให้ท้องถิ่นช่วยตรวจสอบ เมื่อถามว่าเพราะเหตุใดกระทรวงมหาดไทยจึงไม่มีกลไกกลาง หรือคณะกรรมการเข้ามาดูแลตรวจสอบ นายประชากล่าวว่า กำลังวางรูปแบบอยู่ว่าอาจจะใช้ประชาชนในชุมชนให้มีส่วนร่วมกับท้องถิ่น แต่ถ้าถามว่าจะมีโกงหรือไม่มีแน่ระบบคนตั้งใจโกงแต่อย่างน้อยก็ทำได้ยากขึ้น อันนี้ต้องยอมรับว่าเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปี 54ทุกคนมึนตึ๊บ ความผิดพลาดครั้งนี้จะเป็นบทเรียนไปพัฒนาดีขึ้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากในท้องถิ่นมี อบต.ไม่ดีประชาชนนก็ต้องรับกรรมใช่หรือไม่ นายประชากล่าวว่า แน่นอน เพราะประชาชนเลือกเอง รับเงินแล้วเลือกเข้ามาเอง ซึ่งผมเองก็ไม่ปฏิเสธว่าเป็นความบกพร่องของกระทรวงมาดไทยและกระทรวงศึกษาธิการ ที่ไม่ให้ความรู้ประชาชน
กำลังโหลดความคิดเห็น