xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.ดัก พท. หวั่นประชามติไม่เข้าเป้า เชื่อ “ไข่มุกดำ” ขึ้น มท.1-ซัด “ปู” ดีแต่แต่งตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์(แฟ้มภาพ)
“เทพไท” บี้ “ยิ่งลักษณ์” หาข้อสรุปการแก้รัฐธรรมนูญ ซัดคนในรัฐฯพูดไม่ตรงกัน เชื่อเพื่อไทยเดินเกมส์ 4 แนวทาง ทั้งลุยวาระ 3 แต่ดักโดนยุบโทษตัวเอง ตอกลังเลประชามติ หวั่น ปชช.ไม่เอาด้วย เชื่อนายใหญ่ไม่เอาทั้งแก้รายมาตราและยกร่างในอดีตมาเป็นแบบ เหตุใช้เวลานาน แฉ “ปู” ไม่คุยปรับ ครม.เพราะอำนาจอยู่ที่ “แม้ว” เชื่อคิดหนักจับ “เพรียวพันธ์” ลงตรงไหน มั่นใจ “วีระกานต์-โภคิน” นายใหญ่ตบรางวัล อัดเจ็บปรับไปก็เท่านั้นหากนายกฯ คนเดิม ซัดต่อนายกฯ หนีปัญหาไปต่างแดน แขวะสื่อสนใจการแต่งตัว มากกว่าสาระที่คุย

วันนี้ (19 ก.ค.) นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงท่าทีของรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยหลังจากมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า การแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญหลังจากมีคำวินิจฉัยแล้วจะเห็นว่าฝ่ายที่สับสนมากที่สุด คือ ฝ่ายรัฐบาล และพรรคเพื่อไทย เพราะจนถึงขณะนี้ยังไม่ได้ถกเถียงให้ตกผลึกว่าจะทำอย่างไรต่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ค้างอยู่ในวาระการประชุมของสภา ทั้งนี้ ขอเรียกร้องให้คนในฝ่ายรัฐบาลพูดคุยให้ได้ข้อสรุป หากต่างฝ่ายต่างพูดก็จะสร้างความสับสนให้สังคม โดยเฉพาะท่าทีจากนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภา รัฐมนตรี แกนนำในพรรคเพื่อไทย และแกนนำ นปช.ล้วนแล้วแต่เป็นคนละทิศทาง อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ ควรแสดงภาวะผู้นำออกมาฟันธง แสดงจุดยืนว่ารัฐบาลจะเอาอย่างไรกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยส่วนตัวเห็นว่าแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อจากนี้ไปน่าจะมีอยู่ 4 แนวทาง

นายเทพไทกล่าวว่า 1. แนวทางที่พรรคเพื่อไทยจะทำ คือ เดินหน้าลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ให้ได้ ซึ่งเป็นความเห็นของแกนนำเสื้อแดงและ ส.ส.นกแลที่ออกมาสนับสนุนเรื่องนี้ แต่ ส.ส.ประเภทนกรู้อย่าง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ ออกมาขัดขวาง เพราะรู้ว่าการเดินหน้าลงมติวาระ 3 เป็นการเดินตกเหวของพรรคเพื่อไทย หากจะดึงดันทำอย่างนี้คงโทษใครไม่ได้ หากในอนาคตจะมีการยุบพรรคหรือมีการถอดถอน เพราะเป็นการกระทำของคนในพรรคเพื่อไทยเอง

นายเทพไทกล่าวต่อว่า 2. แนวทางที่ต้องการจะทำตามคำแนะนำของศาลรัฐธรรมนูญคือ การทำประชามติ แต่ก็ยังมีข้อถกเถียงว่าจะทำประชามติก่อนลงมติวาระ 3 หรือปล่อยให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ค้างอยู่ในวาระการประชุมตกไป แล้วมาทำประชามติใหม่ ซึ่งเป็นประเด็นที่พรรคเพื่อไทยกำลังคิดหนัก เพราะเชื่อว่าหากลงประชามติก็จะแพ้ฝ่ายที่ไม่ต้องการให้แก้ไข เพราะกระแสสังคม และผลโพลต่างๆ เห็นว่าไม่ต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อคนใดคนหนึ่งชัดเจนมากขึ้น จึงทำใหพรรคเพื่อไทยลังเลว่าจะทำประชามติดีหรือไม่ หากคิดว่าชนะตนเชื่อว่าคงจะเดินหน้าไปแล้ว แต่ตอนนี้คงประเมินว่าก้ำกึ่งหรือเสี่ยงเกินไป

3. แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ซึ่งอาจทำให้นายใหญ่ต้องคิดหนัก เพราะการแก้ไขรายมาตราต้องใช้เวลายาวนานมาก และอาจมีการสงวนคำแปรญัตติที่เป็นเอกสิทธิ์ของสมาชิกจำนวนมาก เพราะที่ผ่านมาการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพียง 7 มาตราใช้เวลาอภิปรายถึง 15 วัน หากแก้รายมาตราทั้งหมด 309 มาตราจะทำให้มีการสงวนคำแปรญัตติอีกจำนวนมาก และอาจใช้เวลาเป็นปี นายใหญ่เลยไม่กล้าเสี่ยงในประเด็นนี้ เลยต้องชะลอและคิดทบทวนใหม่

นายเทพไทกล่าวอีกว่า และ 4.มีการเสนอให้ใช้รัฐธรรมนูญในอดีตมาเป็นต้นแบบในการแก้ไข เช่น กรณีที่นายอุกฤษ มงคลนาวิน เสนอให้ใช้รัฐธรรมนูญปี 2517 มาเป็นต้นแบบ หรือแกนนำ นปช.อย่าง นพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย หรือนางธิดา ถาวรเศรษฐ์ ประธาน นปช. เสนอให้ใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 มาเป็นต้นแบบนั้น ตนเห็นว่าการเสนอใช้รัฐธรรมนูญในอดีตมาเป็นต้นแบบก็ไม่ต่างกับการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ และต้องใชเวลายาวนานพอสมควรเหมือนกัน ดังนั้น ทั้ง 4 แนวทางเป็นการสร้างความสับสนและแตกแยกทางความคิดในพรรคเพื่อไทยมาก ทำให้รัฐบาลเพื่อไทยติดกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่ต่างกับลิงแก้แหในตอนนี้ ยิ่งแก้ยิ่งพันตัวเอง

นายเทพไทยังกล่าวถึงกรณีเรื่องการปรับ ครม.ว่า การปรับ ครม.ยังมีกระแสออกมามาก และเป็นเรื่องที่อึมครึม เพราะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ ก็ไม่ได้พูดเรื่องนี้ เพราะอำนาจในการตัดสินใจทั้งหมดไม่ได้อยู่ที่ตัวนายกฯ ขนาดการย้ายซี 3 ก็ต้องถามนายใหญ่ที่ดูไบ นับประสาอะไรกับการปรับ ครม. อย่างไรก็ตาม การปรับ ครม.ครั้งนี้อยู่ใสภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก ตอนแรกมีข่าวว่าจะให้ปรับก่อนเปิดประชุมสภาสมัยสามัญทั่วไปวันที่ 1 ส.ค.นี้ เพื่อหนีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่เมื่อมีกระแสข่าวต้องการให้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผบ.ตร. เข้ามาเป็นหนึ่งใน ครม. ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะให้นั่งเป็นรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง กับ รมว.ยุติธรรม ซึ่งมีกาเผยไต๋ออกมาแล้วว่าจะให้ดูแลเรื่องยาเสพติด ซึ่งตัว พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ก็ออกมายอมรับว่าพร้อมรับตำแหน่งทางการเมือง แต่ก็ต้องเจอกับแรงกระเพื่อมเบอร์ใหญ่ในพรรคเพื่อไทยคือ ตำแหน่งของนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รมว.ยุติธรรม และร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ในฐานะรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง

“นายใหญ่คงต้องตัดสินใจว่าหากจะปรับ ครม.ก่อนวันที่ 1 ส.ค. พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ต้องออกจากตำแหน่ง ผบ.ตร.ก่อนกำหนด ซึ่งก็เป็นไปได้ เพราะได้มีการเตรียม พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ไว้แล้ว แต่หากจะรอ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์เกษียณอายุราชการในวันที่ 30 ก.ย.แล้วปรับ ครม.ก็อาจจะช้าไปสำหรับรัฐมนตรีโลกลืม รัฐมนตรีที่มีบาดแผลให้ฝ่ายค้านได้อภิปรายไม่ไว้วางใจ จึงเป็นโจทย์ที่นายใหญ่ต้องคิดหนักว่าจะปรับ ครม.อย่างไร เมื่อไหร่ แต่อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่าจะมีการปรับ ครม.อย่างแน่นอน ซึ่งการปรับ ครม.ก็เป็นสิทธิของรัฐบาลที่จะปรับ เพราะปัญหาต่างๆ ไม่ได้เกิดจากฝ่ายค้าน เราไม่ได้กดดัน แต่ยิ่งเป็นการดีหากไม่มีการปรับ ครม. เพราะจะทำให้รัฐมนตรีหลายคนที่ตกเป็นเป้าเข้าสู่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ” นายเทพไทกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีการปรับ ครม.ในตำแหน่งอื่นเพื่อรองรับกับบ้านเลขที่ 111 อีกหรือไม่ นายเทพไทกล่าวว่า คงจะมีตำแหน่งอื่นที่ต้องเปลี่ยนคือ ในส่วนของพรรคร่วม และภายในของเพื่อไทยเองก็เชื่อว่ามีการเปลี่ยน โดยเฉพาะตำแหน่ง มท.1 ซึ่งอาจจะมีการดันนายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ แกนนำ นปช.ขึ้นมาแทน เพราะทราบมาว่ามีการเจรจา เตรียมสตาฟแล้วด้วย คงอยากจะขอเป็น มท.1 สักครั้งในชีวิต แต่จะช้านานแค่ไหนก็แล้วแต่นายใหญ่ นอกจากนี้ยังมีนายโภคิน พลกุล ที่ช่วงนี้เริ่มมีบทบาทและยังเป็นคนที่นายใหญ่ใช้บริการตั้งแต่ให้เป็นรัฐมนตรี ประธานสภา นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช ลูกม้อในมหาดไทย ที่สามารถหยิบใช้งานได้ทันที รวมทั้ง รมว.ศึกษาฯ ที่มีความขัดแย้งกันในพรรค ดังนั้น การปรับ ครม.ทั้งหมดจึงขึ้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกพรรคเพื่อไทย แต่เป็นเรื่องของภายในพรรคเพื่อไทย การจัดอำนาจ การดุลกำลังหรือความต้องการของนายใหญ่ล้วนๆ ซึ่งเราก็ได้แต่เฝ้าดู เพราะใครขึ้นมาก็เหมือนกันตราบใดที่ยังไม่ปรับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ออกจากการเป็นนายกฯ เปรียบเหมือนนายท้ายเรือไม่มีความสามารถ เรือก็ไม่สามารถเดินหน้าไปถึงฝั่งได้

นายเทพไทยังกล่าวถึงกรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางไปปฏิบัติภารกิจที่ประเทศเยอรมนี และฝรั่งเศสว่า ถือเป็นเรื่องแปลกสำหรับนายกฯ ที่เดินทางไปต่างประเทศในภาวะที่บ้านเมืองกำลังเผชิญปัญหาวิกฤตการเมืองมาก แต่นายกฯ ก็ถือโอกาสไปเยือนต่างประเทศ ซึ่งต่างกับนายกฯ คนอื่นๆ ที่จะไปในวาระที่มีการประชุมครั้งสำคัญ ซึ่งหากดูจากวาระงานของนายกฯ เห็นชัดว่าเป็นเรื่องการพูดคุยความร่วมมือต่างๆ การพบนักธุรกิจ ซึ่งภารกิจอย่างนี้ไม่จำเป็นต้องให้นายกฯ เดินทางมาเอง แค่ผู้แทนกาคค้าของประเทศก็มาปฏิบัติภารกิจอย่างนี้ได้ แต่นายกฯ เลือกใช้วิธีไปเยือนประเทศเหล่านี้ด้วยตัวเอง จึงหลีกเลี่ยงคำครหาไม่ได้ว่า นายกฯ หนีปัญหาในประเทศ ถือโอกาสไปเที่ยวในต่างประเทศ นอกจากนี้ หากดูภาพข่าวที่ออกมาของนายกฯ มีจุดเด่นคือการโชว์ชุดเครื่องแต่งกาย โดยมีการนำภาพที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ใส่ชุดสีส้มไปเทียบกับแฟชั่นเสื้อผ้าในขณะนี้ที่กำลังฮิตสีส้ม ซึ่งก็เป็นไปตามความคาดหมายและวัตถุประสงค์ของฝ่ายสร้างภาพให้นายกฯ ว่าจะได้ภาพแบบนี้ออกมาลงหน้าหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ

“น.ส.ยิ่งลักษณ์แต่งกายตามแบบแค็ตตาล็อกต่างๆ การเดินทางไปเยือนเยอรมนีจึงน่าจะเป็นในฐานะผู้แทนด้านแฟชั่น โครงการที่ว่าครัวไทยสู่ครัวโลก จึงต้องเปลี่ยนมาเป็นแฟชั่นไทยไปแฟชั่นโลกของนายกฯ น่าจะเหมาะสมกว่า ดังนั้น จับตาดูหลังจากนี้สื่อต่างประเทศจะพูดเรื่องนี้มากกว่าสาระที่ไปพบปะกัน และนายกฯ ก็จะภูมิใจมากหากสื่อบอกว่าเป็นนายกฯ ที่แต่งกายดีที่สุด สง่าที่สุด นี่คือความสำเร็จในการทำหน้าที่นายกฯ ของไทย” นายเทพไทกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น