xs
xsm
sm
md
lg

“เหลิม” เชื่อลงวาระ 3 มีวุ่น แนะแก้เป็นมาตรา เผยใจอยากแก้ปัญหาชาวบ้านก่อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี(แฟ้มภาพ)
“ร.ต.อ.เฉลิม” เผยลงมติวาระ 3 จะเกิดความขัดแย้ง ยกเลือกตั้งเปรียบได้กับประชามติ เหตุหาเสียงให้แก้รัฐฯ อยู่แล้ว แนะแก้เป็นมาตราให้กฤษฎีกาตรวจสอบ เชื่อค้านลำบาก ปัดตอบยุบศาลรัฐฯ แต่ย้ำไม่เห็นด้วยศาลคู่ เหน็บบางคนในพรรคไม่เชื่อตน แถมเร่งสร้างผลงาน เพราะใกล้ปรับ ครม. เผยใจหล่อมากอยากแก้ความยากจนและยาเสพติดก่อนแก้รัฐฯ

วันนี้ (16 ก.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ยังค้างการพิจารณาอยู่ในรัฐสภาท่ามกลาง การถกเถียงของสมาชิกพรรคเพื่อไทยว่าควรจะเดินหน้าลงมติในวาระ 3 หรือไม่ว่า ส่วนตัวคิดว่าเรื่องนี้ไม่ควรรีบเร่ง ควรใจเย็นๆ ศึกษาให้ถ่องแท้ คำวินิจฉัยส่วนตนเป็นอย่างไรเราก็ยังไม่ทราบ เราทราบแต่คำวินิจฉัยส่วนกลาง แต่โดยหลักการมี 3 ช่องทาง คือ 1. จะลงระเบียบวาระที่ 3 เลยหรือไม่ ซึ่งมุมมองของตนหากไปลงมติในวาระที่ 3 ทันทีจะก่อให้เกิดการโต้แย้งและจะนำไปสู่ความยุ่งยากเหมือนเมื่อช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา 2. ไปถามประชามติพี่น้องประชาชนก่อนและค่อยยกร่าง แต่ตรงนี้ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ติดตามการเมือง ถ้าตามการเมืองท่านเขียนไม่ได้เลย เพราะพรรคเพื่อไทยได้ประกาศมาตลอดว่าหากชนะการเลือกตั้งเราจะแก้ไขบทบัญญัติ รัฐธรรมนูญ และเราชนะมา 265 ที่นั่ง ก็แสดงว่าประชาชาชนได้แสดงประชามติเมื่อ 3 ก.ค. 54 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว อีกนัยหนึ่งหากจะไปถามประชาชนว่าเห็นควรให้แก้หรือไม่ ประชาชนบางส่วนก็จะบอกว่ามาถามทำไม เพราะยังไม่รู้ว่าจะแก้ไขอะไร เหตุใดจึงไม่แก้เสียก่อนแล้วจึงไปถามประชามติทีหลัง

และ 3. ร.ต.อ.เฉลิมระบุว่าแก้เป็นรายมาตราเพื่อป้องกันปัญหาในภายภาคหน้า ใจตนก็คิดว่าแนวนี้ดีที่สุด และศาลก็ว่าไม่ได้ พวกคัดค้านก็ลำบาก เพราะต้องเคารพเสียงส่วนใหญ่ในสภา ทั้งนี้เมื่อวันที่ 15 ก.ค. ในเวลา 21.00 น. ทีมยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยได้เชิญตนไปประชุมที่พรรคเพื่อไทยวันนี้ ซึ่งตนก็จะไปหารือด้วย แต่ใจตนคิดคนเดียวว่ารัฐบาลเป็นฝ่ายบริหารเราต้องเน้นการบริหารราชการบ้าน เมือง แก้ไขปัญหายากจนและยาเสพติด ทำให้พี่น้องประชาชนมีความสุข เป็นเรื่องลำดับเร่งด่วน ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นลำดับรองลงมา

ผู้สื่อข่าวถามว่า การแก้ไขรายมาตราจะดำเนินการในลักษณะใด ร.ต.อ.เฉลิมตอบว่า การแก้รายมาตรารัฐบาลจะต้องตั้งธงว่าต้องการแก้ไขรูปแบบใดและกำหนดรายละเอียด จากนั้นให้คณะกรรมการกฤษฎีกาดูว่าถูกต้องหรือไม่ ถ้าไปทำให้ยุ่งมันก็ยุ่ง ซึ่งถ้ารัฐบาลใช้ตนคิดว่าเวลา 90 วันก็นานเกินไป เมื่อถามว่าจะไปหาแนวร่วมในพรรคอย่างไร เพราะสมาชิกหลายคนก็พยายามเร่งให้มีการลงมติในวาระ 3 ร.ต.อ.เฉลิมตอบว่า ถ้าทำอย่างนั้นปัญหาก็จะเกิด ซึ่งมันต้องตั้งหลัก ต้องทำอะไรให้ประชาชนพอใจมากๆ เสียก่อน เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้ยาก เพราะหากประเด็นใดคลุมเครือจะมีปัญหาอีก ตนพูดแบบส่วนตัวพรรคจะเกลียดตนก็แล้วแต่ เมื่อถามถึงกรณีที่มีการเสนอให้แก้ไขมาตราที่เกี่ยวกับองค์กรอิสระ ร.ต.อ.เฉลิมตอบว่า ตนไม่เคยเห็นด้วยกับระบบศาลคู่ เพราะควบคุมไม่ได้ ถ้าระบบศาลเดี่ยวมีคณะกรรมการข้าราชการตุลาการ ซึ่งระบบศาลคู่เพิ่งมีเมื่อตอนรัฐธรรมนูญปี 2540 ส่วนกรณีที่มีการเสนอให้ยุบศาลรัฐธรรมนูญเป็นลำดับแรกๆ นั้นตนยังไม่ขอแสดงความคิดเห็น เพราะเวลาจะแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องแก้ไขแบบคลาสสิก แก้ไขแบบกระด้างไม่ได้

“ผมวอนเพื่อนสมาชิกพรรคเพื่อไทย วันนี้ท่านทั้งหลายต้องรู้ว่าเราเป็นรัฐบาล อะไรก็ตามที่สงบนิ่งมันจะเป็นผลดีให้ท่านนายกฯ บริหารราชการด้วยความราบเรียบ เราไม่ได้เป็นฝ่ายค้าน การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะช้า 3-6 เดือนไม่เป็นอะไร ยังทำได้ วันนี้เมื่อศาลรัฐธรรมนูญเปิดโอกาสให้แก้ไขเป็นรายมาตรามันจะเร็วยิ่งกว่าตั้ง ส.ส.ร. และพอแก้ไขเป็นรายมาตราเสร็จ ก็ไม่ต้องทำประชามติ เสร็จเร็วกว่าการจะดื้อดึงลงมติวาระ 3 ที่อาจมีคนไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญอีก เดี๋ยวก็ต้องไปกินไทลินอลกันทุกเช้า วันนี้เมื่อศาลบอกแก้ได้เป็นรายมาตราได้ก็ง่ายแล้ว” ร.ต.อ.เฉลิมกล่าว

เมื่อถามว่าจะไปอธิบายกับสมาชิกให้เชื่อแนวทางนี้อย่างไร รองนายกฯ ตอบว่า เขาไม่ค่อยเชื่อตน ถ้าเชื่อตั้งแต่ต้นก็ไม่ต้องมานั่งกินไทลินอล แต่คนที่เชื่อก็พอมี ทั้งนี้หลายคนที่อยู่กับพรรคมานานเขามองตนเป็นคนใหม่ ไม่ได้มองว่าตนเล่นการเมืองมาตั้งแต่ปี 2526 คน พวกนี้ไม่เห็นประสบการณ์ อย่างไรก็ตาม ในพรรคมีคนเก่งเยอะ เหมือนเรือที่แย่งกันพาย บางทีก็พายหัวพายท้าย เรือเลยไม่ไปไหน ล่มคงไม่ล่ม พรรคใหญ่เหมือนเรือใหญ่ เวลาจะเปลี่ยนทิศทางหรือกลับลำมันก็ช้า แต่ก็แสดงให้เห็นว่าพรรคเป็นประชาธิปไตย และนายกฯ เป็นกัปตันดี

“ถ้าเรายกร่างเป็นรายมาตราแก้ไขง่ายกว่า ส.ส.ร.ใช้เวลา 180 วัน แต่นี่ไม่ถึงหรอก ระยะนี้ใกล้จะปรับ ครม.ก็แสดงความเห็นกันมาก ออกแอกชั่นกันเยอะ ถ้าให้ผมร่างท้ายที่สุดก็แค่ 90 วัน มันไม่ยาก เราต้องตั้งประเด็น 1-2-3 ว่าจะแก้อะไรและก็เดินไป รัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้ฝ่ายบริหารงานไม่ได้นี่คือปัญหาที่ต้องแก้ไข แต่เมื่อศาลชี้มาอย่างนี้ก็อย่าไปเถียงกับเขา เราก็ทำในสิ่งที่เขาบอก ให้ร่างเป็นรายมาตราเขาก็พูดไม่ได้แล้ว แต่ถ้าเกิดไปลงมติในวาระ 3 ปัญหาเกิดแน่ ผมอ่านไม่ผิดหรอก หากให้ผมทำ ผมมีทีมงาน 3-4 คน รวมทั้งนายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา แค่นี้ก็เรียบร้อยไม่มีปัญหา” รองนายกฯ ระบุ
กำลังโหลดความคิดเห็น