xs
xsm
sm
md
lg

เผือกร้อนแก้รัฐธรรมนูญ “ยิ่งลักษณ์” เลือกไม่เอาต่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จาตุรนต์ ฉายแสง
รายงานการเมือง

จะก้าวซ้ายก้าวขวา ยังเถียงกันไม่ตกผลึก สำหรับมวลสมาชิก “พรรคเพื่อไทย” ที่ยังคงสับสนกับผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้หรือไม่ จนบางก๊กบางเหล่าในพรรคเถียงกันโหวกเหวกโวยวายจนเปลือยกายล่อนจ้อนว่าใน “พรรคสีแดง” นานวันจะขาดความเสถียรเข้าไปทุกที

โดยเฉพาะในกลุ่มพวกบ้ากำลังอย่าง “ก๊กแดง” ที่ถนัดใช้กำลังมวลชนก็ชูธงประกาศกล้าว่าจะตะบี้ตะบันแตกหักกับศาลให้ล้มครืนกันไปข้าง ด้วยการลุยบู๊ลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 ไปเลย

เพราะมีจุดยืนชัดเจนว่าศาลเป็น “ศัตรู” และไม่ยอมรับการวินิจฉัยครั้งนี้กันมาตั้งแต่ต้น ซึ่งในกลุ่มนี้มีหัวหมู่จากทีมยุทธศาสตร์นาม “จาตุรนต์ ฉายแสง” อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยกระโดดร่วมแจมในขบวนด้วย

แต่ถ้าเลือกทางนี้ก็มีความเสี่ยงอยู่ตรงที่ว่า หากจะดึงดันไปพรรคร่วมรัฐบาล และ ส.ว.จะเอาด้วยหรือไม่ เพราะต้องอย่าลืมว่า “ฉากหน้าแหก” ตอนลงมติคัดค้านคำสั่งชะลอของศาลเที่ยวที่แล้วพิสูจน์ได้ดีว่า “มิตรแท้” ก็รักแค่บางเรื่องเท่านั้น

ความไว้ใจยัง 50/50

มิหนำซ้ำ หากถูก “แนวต้าน” เล่นมุกเดิมไปยื่นให้ศาลตีความอีกระลอก สุดท้ายก็ต้องเป็นอัมพาตรอศาลวินิจฉัยอีกรอบอยู่ดี

ขณะที่อีกพวกก็ประเภทกล้าๆ กลัวๆ ยังลังเลไม่หลับหูหลับตาเดินสุ่มสี่สุ่มห้าไม่ว่าจะเป็นในรายของ “สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์” ประธานรัฐสภา ที่มีจุดยืนชัดเจนมาตั้งแต่ “พ.ร.บ.ปรองดอง” แล้วว่า “ถอยเถอะครับนาย”

ซึ่งขบวนนี้มีแนวร่วมเตรียมจะตบเท้าเข้าประสานกันอย่างซีก “พรรคร่วมรัฐบาล” ที่ออกอาการแกว่งๆ จนต้องโยนหินถามทางปล่อยตัวเลือก “ประชามติ” ออกมาภูมิใจนำเสนอให้ชะเง้อคอมอง

โดยทางเลือกนี้จะเก็บร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเอาไว้ แล้วให้รัฐบาลทำการออกเสียงประชามติก่อน จากนั้นก็กลับมาลงมติในวาระที่ 3 เพื่อแสดงให้เห็นว่าทำตามีที่ศาลแนะนำ แต่ปัญหาก็คือ ข้อนี้ไม่มีภูมิคุ้มกัน หรือไม่มีกฎหมายรองรับนั่นเอง

ส่วนทางเลือกที่สาม ตัดสินใจหักดิบ ถอนวาระ 3 และการเสนอเป็นรายมาตรา โดยรัฐบาลจะต้องกลับไปยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ โดยให้ ส.ส.1 ใน 5 เสนอชื่อเพื่อความรวดเร็ว ซึ่งกระบวนการนี้เป็นวิธีการเดียวกับที่รัฐบาล “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” เคยทำมาก่อน และใช้ระยะเวลาสั้นกว่าการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)

ที่สำคัญด้วย “เสียงข้างมาก” ในรัฐสภาของรัฐบาลก็มีโอกาสจะผ่านออกมาบังคับไปได้อย่างสบาย หนำซ้ำ ยังมีความชอบธรรมและเปิดแผลให้ฝั่งตรงข้ามโจมตีได้น้อยมาก

และหากเลือกแนวทางนี้ มาตราในใจของสมุนบ่าว “นายห้าง” ที่โดนรื้อแน่ๆ ก็หนีไม่พ้นมาตรา 68 ที่ต้องเอาคืนฝ่าย “ตุลาการ” มาตรา 237 ที่ว่าด้วยเรื่องการยุบพรรค มาตรา 190 ว่าด้วยเรื่องการทำสนธิสัญญากับต่างประเทศ หรือมาตราที่เกี่ยวข้องกับองค์กรอิสระและองค์กรตามรัฐธรรมนูญ เรื่องที่มาของ ส.ว.ที่ต้องมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น

เรื่อยไปจนถึงมาตรา 309 ที่ว่าด้วยคดีความของ “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี

ส่วนทางเลือกสุดท้ายที่มีความเป็นไปได้น้อยที่สุด คือ ยอมกลืนเลือดถอนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ และไปทำประชามติเพื่อจะแก้ไขทั้งฉบับ โดยจะต้องใช้ภาษีในการจัดทำประชามติราว ๆ 2,500 ล้านบาท ซึ่งแนวทางนี้แม้แกนนำคนเสื้อแดงจะมั่นใจว่าประชาชนส่วนใหญ่เอาด้วย

แต่ก็มีปัจจัยเรื่องระยะเวลาที่ “นายใหญ่” ไม่ค่อยแฮปปี้นัก

กระนั้นก็ตาม แนวทางข้างต้นก็เป็นเพียงสารพัดไอเดียที่ออกมาจากสารพัดกลุ่ม ที่ยังต้องรอคอนเฟิร์มจาก “คนแดนไกล” และ “นายหญิงคนปัจจุบัน” เสียก่อน

อย่างไรก็ตาม จับทางความเป็นไปได้ในรอบนี้ก็มีสูงที่หวยจะพลิกไปทางแนวทางการถอยและไล่ฉีกทีละมาตราที่ “ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง” รองนายกรัฐมนตรี ประกาศตัวแล้วว่า “หนุนตัวโกร่ง”

โดยเฉพาะทีมยุทธศาสตร์ของพรรคที่สร้างเซอร์ไพรส์กวักมือเรียก “เฉลิม” เข้าไปช่วยระดมสมอง ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ต่างก็ทราบดีว่า คนในพรรค “แอนตี้” เจ้าตัวกันเป็นโขยง

ยิ่งในรายของ “จาตุรนต์” แทบไม่อยากจะเดินเฉี่ยวเหยียบเงากัน

แต่ว่ากันว่า สาเหตุที่ยอมกัดลิ้นเรียกใช้บริการ ก็เป็นเพราะในระยะหลังๆ “ดร.เฉลิม” สวมบทเป็นกูรูกฎหมายทำทายทักผลต่างๆได้แม่นยำกว่าทีมยุทธศาสตร์ อีกทั้งวิกฤติรัฐบาลที่ผ่านแต่ละรอบไม่ว่าจะเป็น “พ.ร.บ.ปรองดอง” หรือ ศึกเหนือเสือใต้ที่ผ่านมา “นารีปู” ก็เชื่อมุมมองการเมืองของรองนายกรัฐมนตรีมาโดยตลอด

ยิ่งนาทีนี้ที่ “ยิ่งลักษณ์” เริ่มมีอำนาจตัดสินใจ เริ่มส่ายหัวกับความดื้อด้านของพี่ชายตัวเอง เตะเบรกบ่อยขึ้นถี่ขึ้น

และอาจออกการ “หวงไข่” เก็บอำนาจไว้กับตัว เลือกถนอมอายุรัฐบาลเอาไว้ตามแนวทาง “เป็ดเหลิม” ก็เป็นได้
สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์
กำลังโหลดความคิดเห็น