xs
xsm
sm
md
lg

เปิด จ.ม.“ประสาร” ถึง “อ.ป๋วย” เตือนประชานิยมอันตรายต่อประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เผยเนื้อหาจดหมายจากผู้ว่าการ ถึง อ.ป๋วย ในวารสารเผยแพร่ภายในแบงก์ชาติ ระบุนโยบายประชานิยมผูกมัด รบ.จากช่วงเลือกตั้งเป็นอันตรายต่อประเทศ ชี้นำมาสู่ข้อเรียกร้องแปลก อย่าง พ.ร.ก.โอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ยันทุนสำรองไม่เป็นของใคร แต่ต้องเป็นของชาติและลูกหลานคนไทยต่อไป

วานนี้ (6 ก.ค.) เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ได้เผยแพร่รายงานเรื่อง “ประสาร” เขียน จ.ม.ถึง “อ.ป๋วย” เปิดเบื้องหลังโอนหนี้กองทุนฯ โดยระบุรายละเอียดของ “จดหมายจากผู้ว่าการถึงอาจารย์ป๋วย” ที่ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เขียนลงเผยแพร่ในวารสารพระสยาม อันเป็นวารสารซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่ภายในธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุถึงเบื้องหลังการต่อรองระหว่างรัฐบาลภายใต้การนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กับผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทย กรณีการโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ให้กับ ธปท.รับภาระแทน เพื่อลดตัวเลขหนี้สาธารณะและให้รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ สามารถกู้เงินเพิ่มเติมได้อีก

นายประสาร ระบุว่า การเรียกร้องให้มีการโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ มีต้นเหตุมาจากนโยบายการใช้จ่ายเกินตัวของรัฐบาล โดยเฉพาะในโครงการลดแลกแจกแถม (หรือประชานิยม) ซึ่งเป็นโยบายระหว่างหาเสียงของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยในช่วงเลือกตั้ง อันก่อให้เกิดการขาดดุลงบประมาณ

“การใช้จ่ายมากๆ ของรัฐบาล โดยเฉพาะโครงการลดแลกแจกแถม หรือที่ได้สัญญากับประชาชนในช่วงเลือกตั้ง ทำให้เกิดการขาดดุลงบประมาณ และมักจะนำมาสู่ข้อเรียกร้องแปลกๆ ต่อแบงก์ชาติ ซึ่งผมจะขอยกตัวอย่างหนึ่งนำมาเรียนให้อาจารย์ทราบในจดหมายฉบับนี้ นั่นก็คือ การโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ” ผู้ว่าการ ธปท.คนปัจจุบัน ระบุ และกล่าวต่อว่า

“ช่วงปลายปีที่แล้วและต่อเนื่องถึงต้นปีนี้ มีประเด็นที่สร้างความวิตกกังวล คือการที่มีข่าวว่ารัฐบาลจะโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ มาให้แบงก์ชาติรับภาระแทน ..... รัฐบาลมีความพยายามที่จะโอนหนี้ดังกล่าวให้มาอยู่กับแบงก์ชาติ โดยได้เสนอหลักการดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.เป็นวาระลับ เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2554 ซึ่งผมเองก็ไม่ทราบมาก่อน โดยรัฐบาลให้เหตุผลว่าต้องการให้หนี้สาธารณะลดลง และจะทำให้สามารถกู้เงินได้เพิ่มเติมเพื่อฟื้นฟูประเทศหลังน้ำท่วม ทั้งนี้ ครม.มีมติเห็นความจำเป็นของการฟื้นฟูประเทศ แต่ขอให้หน่วยงานปรึกษากัน จึงเข้าใจว่าบางส่วนในรัฐบาลคงมีความเป็นห่วงในประเด็นการโอนหนี้ว่าอาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อประเทศเช่นกัน รวมทั้งมีกระแสการคัดค้านจากสาธารณชน”

สำหรับจดหมายจากนายประสาร ถึง อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยและอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ผู้ล่วงลับ มีรายละเอียดดังนี้

พฤษภาคม 2555

เรียน อาจารย์ป๋วยที่เคารพ

ในจดหมายฉบับก่อน ผมได้มีโอกาสเรียนอาจารย์เกี่ยวกับข้อเป็นห่วงของแบงก์ชาติ ด้านการขาดวินัยทางการคลัง ซึ่งมักเป็นสาเหตุให้แบงก์ชาติต้องท้วงติงรัฐบาลคล้ายกับที่อาจารย์เคยประสบ รวมทั้งผมขออนุญาตที่จะเขียนจดหมายถึงอาจารย์อีก

อาจารย์ครับ การใช้จ่ายมากๆ ของรัฐบาล โดยเฉพาะโครงการลดแลกแจกแถม หรือที่ได้สัญญากับประชาชนในช่วงเลือกตั้ง ทำให้เกิดการขาดดุลงบประมาณ และมักจะนำมาสู่ข้อเรียกร้องแปลกๆ ต่อแบงก์ชาติ ซึ่งผมจะขอยกตัวอย่างหนึ่งนำมาเรียนให้อาจารย์ทราบในจดหมายฉบับนี้ นั่นก็คือ การโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ

ช่วงปลายปีที่แล้วและต่อเนื่องถึงต้นปีนี้ มีประเด็นที่สร้างความวิตกกังวล คือ การที่มีข่าวว่ารัฐบาลจะโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ มาให้แบงก์ชาติรับภาระแทน ก่อนอื่นผมขอเท้าความให้ทราบว่าหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ มาจากไหน หนี้ดังกล่าวนี้มีที่มาจากวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 ที่ประเทศเราเกิดปัญหาฟองสบู่และลุกลามสู่ปัญหาระบบสถาบันการเงิน ทำให้รัฐบาลในขณะนั้นต้องเข้ามาแก้ปัญหาด้วยการประกาศค้ำประกันเต็มจำนวนแก่เจ้าหนี้และผู้ฝากเงิน โดยให้กองทุนฟื้นฟูฯ ทำหน้าที่แทนในการจ่ายคืนทั้งต้นเงินและดอกเบี้ย เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นต่อระบบสถาบันการเงิน ภาระดังกล่าวทำให้เกิดค่าใช้จ่ายจำนวนมากแก่กองทุนฟื้นฟูฯ รัฐบาลจึงได้ตรา พ.ร.ก.ขึ้น 2 ฉบับในปี 2541 และ 2545 ให้กระทรวงการคลังออกพันธบัตรเพื่อกู้เงินและนำมาใช้ในการจ่ายคืนเจ้าหนี้และผู้ฝากเงิน ภาระหนี้จากการออกพันธบัตรดังกล่าวนับเป็นหนี้สาธารณะ ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติสากลดังเช่นที่เกิดขึ้นล่าสุดในยุโรป

การแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจนับเป็นภาระการคลังของประเทศ (fiscalization) เพราะรัฐบาลมีอำนาจเก็บภาษี จึงมีบทบาทนำในการสนับสนุนภาคการเงินในช่วงวิกฤติ โดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม เมื่อระบบสถาบันการเงินได้รับความน่าเชื่อถือ เศรษฐกิจก็เดินหน้าได้ ทั้งนี้ ปัจจุบันต้นเงินกู้ตาม พ.ร.ก.ปี 2541 และ 2545 มีรวมทั้งหมดประมาณ 1.14 ล้านล้านบาท

รัฐบาลมีความพยายามที่จะโอนหนี้ดังกล่าวให้มาอยู่กับแบงก์ชาติ โดยได้เสนอหลักการดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.เป็นวาระลับ เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2554 ซึ่งผมเองก็ไม่ทราบมาก่อน โดยรัฐบาลให้เหตุผลว่าต้องการให้หนี้สาธารณะลดลง และจะทำให้สามารถกู้เงินได้เพิ่มเติมเพื่อฟื้นฟูประเทศหลังน้ำท่วม ทั้งนี้ ครม.มีมติเห็นความจำเป็นของการฟื้นฟูประเทศ แต่ขอให้หน่วยงานปรึกษากัน จึงเข้าใจว่าบางส่วนในรัฐบาลคงมีความเป็นห่วงในประเด็นการโอนหนี้ว่าอาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อประเทศเช่นกัน รวมทั้งมีกระแสการคัดค้านจากสาธารณชน

เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2554 คุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี ได้ขอหารือกับ 4 หน่วยงาน คือ (1) คุณธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง (2) ผม ในฐานะผู้ว่าการแบงก์ชาติ (3) คุณอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสภาพัฒน์ และ (4) คุณอัชพร จารุจินดา เลขาธิการกฤษฎีกา ซึ่งผมได้เรียนให้ที่ประชุมทราบว่าการโอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ มาให้แบงก์ชาติ มีผลเสียหายต่อประเทศชาติอย่างไรบ้าง ทั้งผลกระทบต่อการดำเนินนโยบายการเงิน การบั่นทอนวินัยการคลัง เพราะรัฐบาลอาจกู้เงินได้โดยง่ายแล้วให้แบงก์ชาติโอนเงินเพื่อชำระหนี้แทน เป็นการทำลายเสถียรภาพและการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว ทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาลและเครดิตเรตติ้งของประเทศ เมื่อประเทศเสียเครดิตแล้ว ความไว้วางใจจากต่างชาติจะน้อยลง ส่งผลต่อการให้เครดิตระหว่างกัน เจ้าหนี้ต่างประเทศอาจคิดดอกเบี้ยแพงขึ้น

ในการชี้แจงวันนั้น ทำให้ผมนึกถึงคำกล่าวของอาจารย์ที่ว่า “ในการที่จะติดต่อกับรัฐบาล จึงมีความจำเป็นที่จะต้องให้มีความเชื่อถือ ให้รัฐบาลหรือบุคคลในรัฐบาลเชื่อถือว่า เราไม่ได้เห็นประโยชน์ส่วนตัว ไม่ได้เห็นแก่ประโยชน์ของธนาคารชาติ แต่เห็นประโยชน์ของแผ่นดิน ผู้ว่าการและผู้ใหญ่ในธนาคารชาติจะต้องมีความกล้าหาญพอสมควร คือ ต้องสามารถที่จะพูดขัดได้ ถ้าอะไรที่ไม่ดีแล้วจำเป็นจะต้องพูดได้ ถ้าไม่มีความกล้าพอ อย่าเป็นดีกว่า”

เนื่องจากในการท้วงติง ต้องอาศัยศิลปะและความกล้า เพราะรัฐบาลย่อมมีอำนาจเหนือแบงก์ชาติอยู่แล้ว แต่ในที่สุด ที่ประชุมได้ข้อสรุปตามที่แบงก์ชาติ เสนอว่า (1) ต้องไม่มีการพิมพ์เงินใหม่ (2) ต้องไม่ใช้ทุนสำรองเงินตรา และหลักการของรัฐบาลว่าต้องลดภาระงบประมาณ

หลังจากวันหยุดยาวในช่วงปีใหม่ พอเปิดทำการในวันแรก 4 มกราคม 2555 ผมทราบข่าวว่า กฤษฎีกาส่งร่าง พ.ร.ก.เข้าสู่การพิจารณาของ ครม.โดยที่แบงก์ชาติไม่ได้รับแจ้งหรือเห็นร่าง พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าวก่อน ซึ่งต่างจากพิธีปฏิบัติตามปกติ ในช่วงเย็นวันนั้น มีผู้สื่อข่าวส่ง fax ร่าง พ.ร.ก.มาให้ดู ตอนเช้าวันรุ่งขึ้น 5 มกราคม สื่อสาธารณะได้ลงร่าง พ.ร.ก.ดังกล่าว ซึ่งเนื้อหาไม่สอดคล้องกับหลักการที่ได้ตกลงกันจากที่ประชุม ผมจึงได้แสดงความเห็นคัดค้านผ่านการให้สัมภาษณ์ โดยเฉพาะมาตรา 7(1) และ 7(3) เกี่ยวกับการกำหนดให้แบงก์ชาตินำส่งกำไรสุทธิไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 และการให้โอนเงินหรือสินทรัพย์ของแบงก์ชาติตามที่ ครม.กำหนด ส่วนทางคณะศิษย์หลวงตามหาบัว ได้แสดงความเห็นคัดค้านในมาตรา 7(2) และ 7(3) เพราะจะกระทบต่อสินทรัพย์ในคลังหลวงหรือทุนสำรองเงินตราด้วย

ในช่วง 10 โมงเช้าวันเดียวกัน รองนายกฯ ได้มาหารือกับผมที่แบงก์ชาติ ผมก็ได้ทักท้วงประเด็นที่จะสร้างความเสียหายต่อประเทศ ซึ่งรองนายกฯ รับว่า ไม่มีเจตนาและเห็นพ้องที่จะให้ต้นเงินกู้หนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ยังอยู่ที่คลัง รวมทั้งตอบรับที่จะแก้ไขมาตรา 7 ในขณะที่ยังคงให้แบงก์ชาติกำหนดเงินนำส่งของธนาคารพาณิชย์เพื่อบริหารจัดการหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ

นอกจากการแสดงความเห็นท้วงติงด้วยการให้สัมภาษณ์ และการพูดคุยโดยตรงกับรัฐบาลแล้ว ผมเองยังได้ทำหนังสือลงวันที่ 9 มกราคม 2555 ถึงรัฐมนตรีคลัง เพื่อแสดงความเป็นห่วง ดังนี้ (1) การให้แบงก์ชาติรับภาระหนี้สาธารณะแทนรัฐบาลมีผลเท่ากับพิมพ์เงินให้รัฐบาลใช้ ซึ่งส่งผลเสียต่อประเทศ (2) จะต้องไม่มีการโอนเงินหรือสินทรัพย์ของแบงก์ชาติไปชำระหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ (3) การดำเนินการของกองทุนฟื้นฟูฯ ควรทำในฐานะตัวแทนรัฐบาล (4) หน้าที่กำหนดอัตราเงินนำส่งควรเป็นของกองทุนฟื้นฟูฯ โดยความเห็นชอบของ ครม.และ (5) การนำส่งกำไรสุทธิต้องหักขาดทุนสะสมแล้ว

สื่อสาธารณะได้แสดงความวิตกกังวลต่อเรื่องดังกล่าวอย่างกว้างขวาง บางส่วนสะท้อนในภาพการ์ตูนล้อการเมืองที่ลงในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ซึ่งผมได้แนบมาให้อาจารย์ดูด้วย แต่ในที่สุด ครม.ก็มีมติอนุมัติร่าง พ.ร.ก.เมื่อวันที่ 10 มกราคม ซึ่งผมเองได้มีโอกาสเห็นร่าง พ.ร.ก. ที่ ครม.อนุมัติ ในช่วงเย็นวันที่ 11 มกราคม ผมเบาใจในระดับหนึ่งที่ไม่เห็นการโอนเงินหรือสินทรัพย์ของแบงก์ชาติปรากฏอยู่ เท่ากับว่า ความพยายามในการท้วงติงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปลายปีก่อนสัมฤทธิผลบ้าง ซึ่งคงจะช่วยลดความเสี่ยงด้านการบริหารนโยบายเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการให้แบงก์ชาติโอนเงินหรือสินทรัพย์ไปให้รัฐบาลใช้จ่าย เพราะจะนำมาซึ่งการเสื่อมค่าของเงินตราและค่าครองชีพที่สูงขึ้นดังที่อาจารย์เคยบันทึกไว้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ยังมีคำถามในทางปฏิบัติเกี่ยวกับการเพิ่มเงินนำส่งธนาคารพาณิชย์ว่าเป็นอย่างไร ผมเองได้มีโอกาสพบกับสมาคมธนาคารไทยในวันที่ 12 มกราคม และได้รับทราบข้อกังวลด้านการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมระหว่างธนาคารพาณิชย์กับสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIS) เพราะ SFIS ไม่มีภาระต้องส่งเงินสมทบทำให้มีข้อได้เปรียบด้านต้นทุนการเงินที่ต่ำกว่า และอาจมีผลผลักดันให้ SFIS เข้ามาแข่งขันในเชิงพาณิชย์ ทั้งการเร่งระดมเงินฝาก และการให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้รายใหญ่ จนละเลยบทบาทในเชิงพัฒนาซึ่งเป็นหน้าที่หลักของ SFIS เช่น การให้กู้แก่คนมีรายได้น้อย ขาดโอกาส แต่มีศักยภาพที่จะพัฒนาตัวเองขึ้นได้

ผมมีโอกาสหารือกับคุณธีระชัย รัฐมนตรีคลัง ที่เชียงใหม่ช่วงกลางเดือนมกราคม 2555 ซึ่งท่านไม่ค่อยแน่ใจกับการเก็บเงินนำส่งจาก SFIS แต่บอกว่าได้ออกนโยบายให้ SFIS จำกัดบทบาทเชิงพาณิชย์ลงแล้ว ต่อมา ภายหลังการเปลี่ยนแปลงรัฐมนตรีคลังจากคุณธีระชัยเป็นคุณกิตติรัตน์ มีการประชุมระหว่างรัฐมนตรีคลัง แบงก์ชาติและสมาคมธนาคารไทยเมื่อวันที่ 30 มกราคม ซึ่งได้ข้อสรุปร่วมกันว่าให้เก็บเงินนำส่งจากธนาคารพาณิชย์ในอัตราร้อยละ 0.46 เพื่อชำระคืนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ และอีกร้อยละ 0.01 เพื่อเข้ากองทุนคุ้มครองเงินฝาก รวมทั้งให้เก็บเงินจาก SFIS ในอัตราที่เท่ากันด้วย

อาจารย์ครับ หากมองย้อนเวลากลับไป ในช่วงปลายปีก่อนที่มีแนวคิดของการโอนหนี้มาให้แบงก์ชาติ เพื่อลดหนี้สาธารณะและจะได้สามารถกู้ได้เพิ่มเติม ผมพยายามเจรจาอธิบายให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้าใจว่าการใช้แบงก์ชาติโอนเงินให้รัฐบาลเพื่อใช้หนี้แทน จะส่งผลเสียต่อประเทศอย่างไร

ผมดีใจนะครับว่าในที่สุดคำทัดทานของผมบังเกิดผลอยู่บ้าง สำหรับการแก้ปัญหาที่ให้เก็บเงินนำส่งจากสถาบันการเงินนั้น แน่นอนว่าสถาบันการเงินจะมีภาระเพิ่มเติม แต่ผมพยายามที่จะตกลงกันในเรื่องอัตราเงินนำส่งว่าทุกฝ่ายรับได้ และการที่ให้เก็บเงินโดยเสมอภาคกันก็คงช่วยลดผลกระทบข้างเคียงลงได้บ้าง วิธีการเก็บเงินเพื่อชำระหนี้ คงจะใช้เวลานานกว่า 20 ปี แต่ผมมองว่าเป็นหนี้ก้อนใหญ่มาก หากเก็บเงินทีเดียวเยอะๆ ก็คงไม่ไหว จึงต้องใช้วิธีทยอยเก็บเงินเพื่อชำระคืน และ ในอนาคต เมื่อประเทศมีรายได้มากขึ้น สถาบันการเงินเติบโตขึ้น ภาระเงินนำส่งก็จะลดลงไปโดยปริยาย

ผมดีใจนะครับที่มีโอกาสเขียนเล่าเหตุการณ์ให้อาจารย์ทราบ เพราะอาจารย์คงเคยประสบเหตุการณ์ที่คล้ายๆ กัน โดยเฉพาะความพยายามในการโอนสินทรัพย์ของแบงก์ชาติ ผมยังจำได้ถึงข้อเขียนที่อาจารย์เคยบันทึกไว้ว่า “เรื่องทุนสำรองนี่ไม่ใช่ของผม และไม่ใช่ของใครในธนาคารชาตินี่ และไม่ใช่ของพวกคุณ ไม่ใช่ของรัฐบาล เป็นของชาติทั้งชาติ และก็เป็นของลูกหลานของเราที่จะมีต่อไป”

ด้วยความเคารพอย่างสูง
ประสาร ไตรรัตน์วรกุล

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (แฟ้มภาพจากนิตยสารผู้จัดการ)
กำลังโหลดความคิดเห็น