“ณัฐวุฒิ” ยันยังไม่ได้รับการประสานให้ถอนร่างพ.ร.บ.ปรองดอง ชี้สถานการณ์การเมืองจะชัดต้น ก.ค.หลังศาลฯวินิจฉัยแก้ รธน. “สามารถ” ระบุการถ่วง หรือถอน พ.ร.บ.ปรองดอง ไร้ประโยชน์ แนะ คอป.เป็นเจ้าภาพจัดเสวนาดึงแกนนำระดับบนหาทางออก ไม่เช่นนั้นปัญหาไม่ยุติ
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรและสหกรณ์ แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง กล่าวว่า ในฐานะที่เป็น 1 ใน ส.ส.ผู้เสนอร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ ยังไม่ได้รับการประสานจากนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ให้ถอนร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวออกจากวาระการประชุมสภาฯ เพื่อให้บรรยากาศทางการเมืองคลายความตรึงเครียด และเปิดให้มีการสานเสวนาในเรื่องดังกล่าว ส่วนตัวมองว่า หากจะเลื่อนการพิจารณาออกไปสามารถทำได้ แต่การจะถอนร่างออกไปเลย น่าจะต้องมีการหารือกันก่อน เพราะมีร่าง พ.ร.บ.ปรองดองถึง 4 ร่าง เข้าสู่วาระการประชุมสภาฯ หากตนถอน ร่างอื่นยังคงอยู่
ส่วนสถานการณ์ทางการเมืองนั้นเชื่อว่าต้นเดือน ก.ค.จะเห็นความชัดเจนถึงอนาคตหลายๆ อย่าง โดยเฉพาะหลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับคำร้องเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ด้าน นายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ในฐานะ 1 ในผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง กล่าวเช่นกันว่า ยังไม่มีการประสานเรื่องการถอน หรือชะลอการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปรองดองจากประธานสภาฯ เชื่อว่าข่าวที่ปรากฏอาจจะเป็นความคิดส่วนตัวของประธาน ซึ่งเห็นว่าน่าจะให้มีการพูดคุยกันก่อน และต้องถามว่า ทุกวันนี้ยอมรับกันหรือไม่ว่าบ้านเมืองผ่านสภาวะตึงเครียดมามาก ถึงเวลาที่ต้องแก้ไขปัญหานี้หรือไม่ และควรสร้างความปรองดองหรือไม่ ก่อนหน้านี้สถาบันพระปกเกล้ารับหน้าที่ไปพิจารณาแนวทาง จนได้ออกมาเป็นแนวคิดการให้อภัย ถอยคนละก้าว และพบว่าปัญหาที่เกิดมาจากความเห็นทางการเมืองที่ต่างกัน ที่เมื่อนำกฎหมายอาญาปกติมาใช้กับความผิดที่มาจากความขัดแย้งดังกล่าว อาจไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้ จึงเป็นที่มาของการคิดเสนอร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง
นายสามารถ กล่าวว่า ขอเสนอแนะผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ควรจะเสนอร่างฯ ที่คิดว่าเหมาะสมเข้ามาเพื่อเป็นทางออกด้วย ไม่ควรตั้งหน้าตั้งตาค้านโดยไม่เสนอทางออก อีกทางหนึ่งที่ตนมองไว้คือ การถ่วง กับการถอน ซึ่ง 2 แนวทางหลังนี้ต้องอธิบายสังคมให้ได้ว่าซื้อเวลาเพื่ออะไร ต้องชี้แจงประชาชนให้ได้ และคู่ขัดแย้งที่อยู่ระดับบนสำคัญกว่า
ดังนั้นหากการเสวนาเกิดขึ้นเฉพาะในระดับประชาชน แม้จะเกิดความเข้าใจแต่ผู้ที่อยู่ข้างบนไม่คุยกันคงไม่เกิดประโยชน์อะไร และเห็นว่าคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) น่าจะเป็นเจ้าภาพ พิจารณาหาผู้ร่วมเสวนาพูดคุย โดยพิจารณาเชิญคนที่เกี่ยวข้อง และมีส่วนกำหนดเรื่องราวต่างๆ มาพูดคุยหารือกัน และคิดว่าควรจะหารือให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนก่อนที่จะมีการเปิดสมัยประชุมฯ ครั้งหน้า เพื่อไม่ให้เกิดการชุมนุมปิดล้อมรัฐสภากันอีก อย่างน้อยให้เกิดความชัดเจน เพื่อผู้เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยจะได้ทราบแนวทางการดำเนินการ เพราะหากไม่มีการแจ้งข่าวหรือไม่มีความชัดเจน ต่างฝ่ายที่หนุนเรื่องของตนเองก็คงพร้อมที่จะมากดดันกันอีก