xs
xsm
sm
md
lg

“สมานฉันท์ในมุมมองประชาชน” แนะเลิก พ.ร.บ.ปรองดอง-เร่งค้นหาความจริง ให้นักการเมืองเห็นแก่ชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บรรยากาศการเสวนากลุ่มย่อยในงานเสวนา “สมานฉันท์ปรองดองในมุมมองของศาสนาและประชาชน” ที่โรงแรมรามาการ์เดนส์ กรุงเทพฯ วันที่ 14 มิถุนายน 2555 ที่ผ่านมา (ภาพจากเฟซบุ๊ก “อาทรเสวนา”)
เวทีเสวนา “สมานฉันท์ปรองดองในมุมมองศาสนาและประชาชน” ได้ข้อสรุป แนวทางสร้างความปรองดองที่แท้จริง 12 ข้อ ให้นักการเมืองเห็นแก่ผลประโยชน์ชาติ เลิกมองผลประโยชน์ส่วนตน สร้างภาคประชาชนให้เข้มแข็ง ยกเลิก พ.ร.บ.ปรองดองฯ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พร้อมเร่งค้นหาและเปิดเผยความจริงของเหตุการณ์ความขัดแย้งในสังคมไทย

บทสรุปการรับฟังความเห็นประชาชนในงานเสวนา “สมานฉันท์ปรองดองในมุมมองของศาสนาและประชาชน” จัดโดยนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูง การเสริมสร้างสังคมสันติสุข รุ่นที่ 3 สถาบันพระปกเกล้า ร่วมกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม และมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ที่โรงแรมรามาการ์เดนส์ กรุงเทพฯ วันที่ 14 มิถุนายน 2555 ที่ผ่านมา

ภายหลังจากพิธีเปิดการเสวนาในภาคเช้าซึ่งประกอบด้วยการบรรยายพิเศษ เรื่อง สมานฉันท์ปรองดองในมุมมองของศาสนาและประชาชน โดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี การอภิปรายเสวนา เรื่อง “บทบาทของศาสนาในการส่งเสริมความสมานฉันท์ปรองดอง” และการอภิปรายเสวนา เรื่อง “ประชาชนควรคิด-ควรทำอย่างไรในยุคสมานฉันท์ปรองดอง” แล้ว ในภาคบ่ายเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมเสวนาได้แบ่งกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นผ่านกระบวนการพูดคุย (dialogue) 3 รูปแบบได้แก่ 1) กระบวนการ Public Deliberation 2) กระบวนการ World Café และ 3) กระบวนการ Imaginary Continuum ซึ่งล้วนเป็นเครื่องมือในการรับฟังแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของประชาชนตามแนวทางอาทรเสวนาซึ่งสามารถเปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความเห็นกันอย่างทั่วถึง

เมื่อได้ผลการเสวนาจาก 3 กลุ่มดังกล่าวแล้ว ในตอนท้ายได้มีขั้นตอนการนำเสนอและพูดคุยระหว่างผู้เข้าร่วมเสวนาทั้งหมด เพื่อประมวลความเห็นจากข้อสรุปของทั้ง 3 กลุ่มย่อย โดยที่ประชุมได้สรุปเห็นพ้องกับแนวทางสร้างความสมานฉันท์ปรองดองจากมุมมองของประชาชนที่เข้าร่วมการเสวนา ดังต่อไปนี้

1. ส่งเสริมความสามัคคีและรู้จักหน้าที่ของตนเอง

2. ส่งเสริมให้ศาสนิกชนเข้าถึงศาสนาของตน โดยเฉพาะเรื่องความสมานฉันท์และปรองดอง

3. หาแนวทางเพื่อสร้างความปรองดองให้กับคนในชาติ

4. ยึดหลักนิติรัฐ นิติธรรม

5. ให้นำศาสนาที่ตนเองนับถือเข้าสู่บ้านและชีวิตประจำวัน

6. ให้นักการเมืองมองผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลักเลิกมองผลประโยชน์ส่วนตน ขณะเดียวกัน ต้องสร้างภาคประชาชนให้มีความเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง มองผลประโยชน์ส่วนรวม (ไม่ถูกชักนำหลงเชื่อเป็นมวลชนแนวร่วมได้โดยง่าย)

7. ยกเลิก พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291

8. สร้างแนวคิดใหม่ ด้วยการจัดกิจกรรมศาสนาสัมพันธ์ ด้านจริยธรรม ความซื่อสัตย์ ที่มุ่งประโยชน์ต่อประเทศชาติให้แก่คนในชุมชนโดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นเจ้าภาพหลัก

9. ให้เร่งค้นหาและเปิดเผยความจริงของเหตุการณ์ความขัดแย้งในสังคมไทย

10. จัดตั้งตัวแทนจากนานาศาสนาเพื่อหาต้นแบบความสมานฉันท์และนำเสนอทางออกในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ตามวิถีประชาของชุมชนนั้นๆ

11. ให้มีกฎกติกาโดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐธรรมนูญที่นำไปสู่ความปรองดอง

12. ให้ความรู้ทางด้านการเมืองกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง
กำลังโหลดความคิดเห็น