รองโฆษกประชาธิปัตย์ ซัด “ดีเอสไอ” สุดอัปยศ ยอมเป็นเครื่องมือเพื่อไทยดิสเครดิตฝ่ายตรงข้าม เชื่อพรรครัฐเล่นหวังกระทบเลือกตั้งผู้ว่าฯ ปีหน้า ขู่ฟ้องฟันแน่หากรับคดีต่อสัญญาบีทีเอส-เงินบริจาคน้ำท่วม เป็นคดีพิเศษ ชี้นอกอำนาจสอบสวนชัด จี้ “ธาริต” ทบทวนจุดมุ่งหมายการก่อตั้ง
วันนี้ (24 มิ.ย.) ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายสกลธี ภัททิยกุล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า มีผู้หวังดีแจ้งมายังพรรคว่า ในวัน 27 มิ.ย.นี้จะมีการประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) โดยมีวาระเกี่ยวข้องกับพรรคประชาธิปัตย์ ว่ากระทำความผิดอาญากรณีต่อสัญญาบีทีเอส และการกระทำควาผิดอาญากรณีบริจาคเงินและทรัพย์สินให้แก่ศูนย์ช่วยเหลือน้ำท่วมว่าเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.พรรคการเมือง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเป็นกระบวนการรับลูกชั่วร้าย เพราะมีการตั้งเรื่องมาจากพรรคเพื่อไทยที่ยื่นต่อดีเอสไอ ยืมมือหน่วยราชการลดทอนความ น่าเชื่อถือของพรรคการเมือง ฝ่ายตรงข้าม นับเป็นความอัปยศที่ข้าราชการยอมเป็นเครื่องมือ ฝ่ายการเมือง
นายสกลธีกล่าวว่า กรณีการทำสัญญาให้บริการเดินรถ มีความชัดเจนว่าเกิดจากการให้ข่าว ของพรรคเพื่อไทย เป็นมุ่งกระทบถึงผู้ว่าฯ กทม. เพื่อหวังผลสู่การเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า โดยมีการเชื่อมโยงบริษัท กรุงเทพธนาคม กับผู้บริหารพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งๆ ที่มีการแถลงไปหลายครั้งว่ามีข้อถกเถียงทางกฎหมายว่าดีเอสไอมีอำนาจรับไว้เป็นคดีพิเศษหรือไม่ เพราะ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มาตรา 66 บัญญัติว่า หากข้าราชการเมืองทำผิดเป็นอำนาจ ป.ป.ช.ที่จะสืบสวนสอบสวน แต่กรณีนี้พรรคสงสัยว่าดีเอสไอจะรับเรื่องนี้ได้หรือไม่อย่างไร และมีหลักฐานสองประการที่ดีเอสไอรู้ว่าไม่มีอำนาจ คือ กล้องซีซีทีวี ที่เคยเป็นข่าวไปก่อนหน้านี้ แต่อธิบดีดีเอสไอยอมรับ 21 มี.ค. 55 ว่าคดีดังกล่าวต้องส่งให้ ป.ป.ช. เพราะอยู่นอกอำนาจการสอบสวนดีเอสไอ เนื่องจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเป็นข้าราชการการเมือง และปี 2549 ดีเอสไอเคยทำหนังสือหารือไป ยังกฤษฎีกาพิจารณาว่ามีอำนาจรับคดีการทุจริตของสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยมาพิจารณาหรือไม่ ซึ่งกฤษฎีกาให้คำตอบว่า เมื่อบุคคลตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช.มาตรา 66 คดีจึงอยู่ในอำนาจของ ป.ป.ช. ทางดีเอสไอไม่มีอำนาจในการสอบสวน
รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า ทางผู้ว่าฯ กทม.ได้ทำจดหมายถึงดีเอสไอทุกคนว่าเสี่ยงที่จะทำผิดกฎหมาย ถ้ามีการลงคะแนนรับทั้งสองคดีเป็นคดีพิเศษ ซึ่งต้องใช้เสียง 2 ใน 3 โดยฝ่ายกฎหมายของพรรคจะดำเนินคดีอาญาและร้องต่อ ป.ป.ช.ว่ามีการทำผิดกฎหมาย เนื่องจากผู้บริหาร กทม.เป็นบุคคลตามมาตรา 66 ของกฎหมาย ป.ป.ช.จึงอยู่ในอำนาจของ ป.ป.ช.ไม่ใช่ดีเอสไอ เช่นเดียวกับกรณียุบพรรค อ้างถึงการทำผิด พ.ร.บ.พรรคการเมืองย่อมอยู่ใน อำนาจของ กกต. ไม่ใช่ดีเอสไอ โดยกรรมการที่ลงคะแนนรับเป็นคดีพิเศษจะต้องรับผิดชอบต่อเรื่องดังกล่าว ทั้งนี้ ยืนยันว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่กลัวการตรวจสอบ แต่อยากให้การตรวจสอบเป็นไปโดยถูกช่องทาง เพราะกลัวว่าพรรคเพื่อไทยจะใช้ดีเอสไอเป็นเครื่องมือในการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อประโยชน์ทางการเมือง
นอกจากนี้ กรณีเงินบริจาคพรรค ซึ่งอ้างว่าผิด พ.ร.บ.พรรคการเมือง 2550 ดังนั้น อำนาจในการสอบสวนควรจะเป็นของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กตต.) มากกว่าดีเอสไอ จึงสงสัยว่าทำไมสองคดีที่เกี่ยวข้องกับพรรคประชาธิปัตย์ ทางดีเอสไอจึงเอามารับผิดชอบเอง แนวโน้มถ้าคดีไปอยู่ที่ดีเอสไอจะซ้ำรอยกับกรณียุบพรรคคราวที่แล้ว ที่มีการบิดข้อมูลว่าเป็นการไซฟ่อนเงินของทีพีไอ แต่เอาคดียุบพรรคมาเป็นหลัก ทำให้ไม่น่าไว้วางใจต่อการทำหน้าที่ของดีเอสไอ เพราะถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองได้โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย เพราะคนที่ทำสำนวนยุบพรรคประชาธิปัตย์ ปัจจุบันไม่มีใครดำรงตำแหน่งต่ำกว่าอธิบดี พรรคจึงมีความเป็นห่วงในเรื่องนี้
“โดยส่วนตัวรู้สึกเสียใจและผิดหวังเพราะกรมสอบสวนคดีพิเศษกลายเป็นกรมสอบสวนคดีเพื่อเพื่อไทย เพราะมีการเร่งรัดคดีของพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะเป็นการยุติคดีผังล้มเจ้า เดินหน้าคดีเขาแพง กระทั่งมาถึงสองเรื่องนี้” นายสกลธีกล่าว
นายสกลธีกล่าวว่า ในฐานะที่เคยเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของนายธาริต เพ็งดิษฐ อธิบดีดีเอสไอ อยากให้นายธาริตได้ทบทวนว่า เคยเป็นผู้ก่อตั้งกรมนี้ขึ้นมาต้องทราบว่าจุดมุ่งหมายว่าต้องการคานหน่วยงานอื่น แต่ขณะนี้กลับนำดีเอสไอมารับใช้การเมือง จะทำให้ประชาชนหมดที่พึ่ง ที่นายธาริตเคยพูดว่าไม่เปลี่ยนสี ทำตามนโยบายรัฐบาลนั้นตนเข้าใจ แต่นโยบายนั้นต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ประชาชนไม่ใช่ประโยชน์ของพรรคที่เป็นรัฐบาล พร้อมดำเนินการทางกฎหมายอย่างถึงที่สุดทั้งคดีอาญาและ ป.ป.ช. หากมีการรับไว้เป็นคดีพิเศษ ให้ดีเอสไอทำหน้าที่ของตัวเอง เช่น ยื่นถอนประกันนายจตุพร พรหมพันธุ์ แต่กลับให้เจ้าหน้าที่ศาลไปทำเอง หน้าที่ตัวเองไม่ทำแต่ไปทำเรื่องอื่น