ทีมกฎหมายประชาธิปัตย์ยื่นเอกสารแจงศาลรัฐธรรมนูญ หลังรับวินิจฉัยกรณีนั่งนายกฯ ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ชูรายงานการประชุมสภาโหวตเลือกนายกฯ ทำตาม กม.ทุกประการ ชี้ ส.ส.ยุบพรรคสมาชิกภาพยังครบ ได้อำนาจโดยชอบธรรม ท้า “เรืองไกร” รับผิดชอบหากศาลตัดสินไม่ผิด
วันนี้ (22 มิ.ย.) ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ นายราเมศ รัตนะเชวง ทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ ได้เป็นตัวแทนของนายบัณทิต ศิริพันธ์ ทนายความของพรรค นำเอกสารคำชี้แจงแก้กล่าวหาของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคประชาธิปัตย์ ต่อกรณีศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัยกรณีนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว.สรรหา ขอให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ว่า การใช้อำนาจในการบริหารประเทศ ของรัฐบาลขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นการได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่มิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ มายื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ
โดย นายราเมศกล่าวว่า รายละเอียดคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาที่นำมายื่นนั้นเป็นเอกสารรายงานประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 15 ธ.ค. 51 ที่มีมติเลือกนายอภิสิทธิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อยืนยันว่าการดำเนินการเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ทุกประการ พรรคไม่ได้กระทำการใดที่เป็นการขัดรัฐธรรมนูญ และการที่ ส.ส.ซึ่งสังกัด 3 พรรคการเมืองที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคลงมติสนับสนุนนายอภิสิทธิ์นั้น เห็นว่า สมาชิกภาพการเป็น ส.ส.ยังมีอยู่ครบถ้วนตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 106 (8) บัญญัติคุ้มครองเอาไว้ แม้จะยังไม่ได้ไปสังกัดพรรคการเมืองใหม่พรรคการเมืองใดก็ตาม ดังนั้นจึงไม่มีเหตุอันใดที่จะถือว่าการเป็นนายกรัฐมนตรีของนายอภิสิทธิ์เป็นการได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่มิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ การยื่นคำร้องของนายเรืองไกรจึงเป็นเพียงการยื่นเพื่อให้เป็นประเด็นทางการเมืองเท่านั้น
“สมมติว่าถ้าการเลือกนายอภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรี เกิดขึ้นในช่วงหลัง 60 วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบ 3 พรรคการเมืองแล้ว ส.ส.เหล่านั้นยังไม่ได้สังกัดพรรคใหม่พรรคใดแต่กลับมาโหวตสนับสนุนนายอภิสิทธิ์ อย่างนั้นอาจจะเป็นปัญหาได้ แต่นี่มาตรา 106 (8) ของรัฐธรรมนูญค่อนข้างขัดเจนว่า สมาชิกภาพของ ส.ส.ที่สังกัดพรรคกรเมืองที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบนั้นยังคงมีอยู่ เพียงแต่บุคคลนั้นต้องไปหาพรรคสังกัดใหม่ให้ได้ภายใน 60 วันเท่านั้น เรื่องนี้จึงเป็นการต่อสู้ในประเด็นข้อกฎหมายที่หากศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำชี้แจงของ 2 ฝ่ายแล้วจะกำหนดให้มีการไต่สวนพยาน พรรคฯก็อาจจะนำพยานมาชี้แจงต่อศาลในประเด็นที่ว่าเมื่อพรรคถูกยุบความเป็น ส.ส.ของสมาชิกนั้นจะสิ้นสุดเมื่อใด” นายราเมศกล่าว
นายราเมศยังกล่าวด้วยว่า น่าเสียดายที่ผู้ยื่นคำร้องนี้เคยเป็นนักบัญชีที่เคยตรวจสอบระบบทักษิณ แต่นักบัญชีเก่าคนนี้ก็ได้ตายไปแล้วจากสังคมไทย ซึ่งพรรคที่นายเรืองไกรควรยื่นตรวจสอบขอให้ยุบพรรคควรเป็นพรรคที่ซื้อเสียง ซื้อพรรคการเมือง ซื้อองค์กรอิสระ ซื้อได้แม้จิตวิญญาณของความเป็นคน โดยตนก็อยากจะขอท้านายเรืองไกรว่าหากคดีนี้ศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง จะรับผิดชอบอย่างไร แต่คิดว่านายเรืองไกรคงไม่มีราคาพอที่จะท้าเดิมพันใด ๆ เพราะนายเรืองไกรไม่มีแม้แต่จิตวิญญาณของความเป็นคน อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยในคำร้องนี้ออกมาอย่างไรก็พรรคก็พร้อมจะน้อมรับ จะไม่มีการกดดัน หรือข่มขู่ตุลาการอย่างคนเสื้อแดงทำ และพรรคเชื่อโดยสุจริตใจว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่มี 2 มาตรฐาน