xs
xsm
sm
md
lg

“ศรีราชา” ไม่คาดหวังแก้ รธน. ชี้ไร้อนาคต “สุรพล” เตือนรัฐบาล-สภาอย่าใจร้อนปรองดองเอาใจ “คนเมืองนอก”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายศรีราชา เจริญพานิช ผู้ตรวจการแผ่นดิน (ภาพจากแฟ้ม)
เสวนา 80 ปีรัฐธรรมนูญไทยฯ “ศรีราชา” มองรัฐธรรมนูญไร้อนาคตเพราะนักการเมือง เหมือนสุนัขไล่กัดหางตัวเอง ชี้หยิบคำ “ประชาธิปไตย” หากินเยอะ “สุรพล” ถามกลับพวกหนุนแก้ รธน. อยากแก้จริงหรือ “คนอยู่เมืองนอก” สั่ง เตือนอย่าใจร้อนหักอำมาตย์ ส.ค.นี้เกิดพายุการเมืองหลายลูกแน่ “เอนก” เตือนรัฐบาลฟังเสียงรอบด้าน อย่าเลือกฟังแค่แก๊งแดง ชี้เหลือง-แดงจำเป็นต้องยอมถอยหวั่นเสียเลือดเนื้อ แนะฉลาดปรองดองทุกฝ่ายยอมรับได้

วันนี้ (21 มิ.ย.) ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถนนสามเสน ได้มีการจัดเสวนาหัวข้อ “80 ปี รัฐธรรมนูญไทยกับก้าวต่อไปของประชาธิปไตย” ซึ่งจัดโดยสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ร่วมกับสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย โดยมีวิทยากรประกอบด้วย นายศรีราชา เจริญพานิช ผู้ตรวจการแผ่นดิน และอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ปี 2550, นายสุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ คณบดีวิทยาลัยบริหารรัฐกิจและรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

โดยนายศรีราชากล่าวยอมรับว่า ช่วงที่ร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 มีหลายเรื่องที่ไม่ถูกใจ เพราะตัดเรื่องดีๆ ออกไปหลายจุด เนื่องจากต้องทำให้อิงกระแสในตอนนั้น จึงมองได้ว่าไม่ใช่รัฐธรรมนูญที่ดีนัก อีกทั้งปัจจุบันการเคารพกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ถือเป็นกฎหมายสูงสุดลดน้อยลง ความศักดิ์สิทธิ์ก็หายไป ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญเป็นหลัก และกรอบกติกาที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ

“ย้อนไป 80 ปีที่ผ่านมาของการมีรัฐธรรมนูญในเมืองไทย จนถึงมองไปในอนาคต ผมยังมองว่าไร้อนาคต ประเทศไทยอยู่ในมือของนักการเมืองที่จะทำอะไรก็ได้ ซึ่งไม่มีแผนที่ชัดเจน ทำให้สะเปะสะปะ ยังวนเวียนอยู่ที่เดิมเหมือนสุนัขที่วิ่งไล่กัดหางตัวเอง เวลานี้เราถูกนำคำว่าประชาธิปไตยมาหากินกันเยอะ จึงต้องสร้างความรู้ ความเข้าใจให้แก่คนในสังคมเพื่อไม่ให้เกิดประชาธิปไตยข้างถนน” นายศรีราชาระบุ

ผู้ตรวจการแผ่นดินกล่าวด้วยว่า ก้าวต่อไปของการเมือง โดยเฉพาะเรื่องรัฐธรรมนูญที่ดี ตนมองว่าจะต้องมี 3 ข้อหลัก คือ 1. หลักการต้องมั่นคง 2. รัฐธรรมนูญจะดีหรือไม่ดี อยู่ที่ผู้ร่างเป็นสำคัญ เพราะเรื่องรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของเทคนิค โดยเฉพาะขั้นตอนการโหวต การแปรญัตติจะขึ้นอยู่กับเสียงข้างมาก และ 3. ต้องแก้ปัญหาของประเทศ 2 เรื่อง คือ ความยากจนของเกษตรกร และความด้อยการศึกษา อย่างไรก็ตาม ในการใช้รัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ผ่านมา ตนมีความพึงพอใจแค่ 10% เท่านั้น ส่วนแนวโน้มร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ได้มีความคาดหวังอะไร

ขณะที่ นายสุรพลกล่าวตอนหนึ่งว่า รัฐธรรมนูญปี 2550 เป็นรัฐธรรมนูญเพียงฉบับเดียวในประเทศที่มาจากการลงประชามติ แต่ช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา กลุ่มคนที่เรียกว่า “นักการเมืองพลเมือง” มีความพยายามของที่จะดึงอำนาจออกจากระบบ โดยอธิบายว่าเป็นอำนาจประชาชน ที่ออกมาระบุว่า องค์กรอิสระ ศาล ไม่ใหญ่เท่ากับประชาชนเจ้าของอธิปไตย ซึ่งในสังคมสมัยใหม่เรารู้ดีว่าประชาชนเจ้าของอธิปไตยให้ความไว้วางใจนักการเมืองที่ประชาชนเลือกเข้ามา ซึ่งตรงนี้ทำให้เราไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดเหตุการณ์ รสช. หรือ คมช. อีกหรือไม่ หากไม่มีการตรวจสอบใดๆ เกิดขึ้นเพราะสิ่งเหล่านี้ยังหลอนสังคมไทยอยู่

“ขอถามว่า ส.ส.ที่เซ็นชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีความอยากแก้ไขจริงๆ หรือเปล่า หรือคนที่อยู่ต่างประเทศที่มีอิทธิพลเหนือรัฐบาล และรัฐสภา ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายปรองดอง ใครเป็นคนสั่งและต้องการให้เกิดขึ้น ส.ส.และ ส.ว.ที่อยู่ในสภาฯ ก็รู้ดีว่าเป็นความต้องการของใคร เพียงแต่เรามาหลอกกันอยู่เท่านั้นเอง เพราะ 2-3 เดือนที่ผ่านมาเราเห็นชัดเจนว่าทำเพื่อคนเพียงคนเดียวเท่านั้น” นายสุรพลกล่าว

นายสุรพลยังแนะนำด้วยว่า หากไม่อยากให้บ้านเมืองเกิดความวุ่นวายเป็นสังคมการเมืองแบบเต็มรูปแบบ ก็ขอเตือนคนที่อยู่ในรัฐสภา รัฐบาล และคนที่อยู่ต่างประเทศว่า อย่าใจร้อน อย่าเดินเกมทำให้คนในสังคมรู้สึกว่ายอมไม่ได้ หรือหักกับอำมาตย์กับทหารที่เขาก็อาจยอมไม่ได้ รัฐบาลควรทุ่มเทบริหารประเทศแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และเมื่อถึงเวลาหากต้องมีการปรับแก้อะไรก็มาพูดจากัน ตอนนั้นสังคมอาจจะรับได้ และลืมบางสิ่งบางอย่างได้

“อย่าเร่งรีบก้าวข้ามให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ มิเช่นนั้นเดือนสิงหาคมนี้ โอกาสที่จะเกิดพายุใหญ่หลายลูก หรืออาจเกิดอะไรขึ้นทางการเมืองได้ ถ้าไม่มีมาตรการป้องกันไว้ แต่มีวิธีเดียวที่จะแก้ไขได้ ก็คือการตัดสินใจของคนคนเดียว ที่ตอนนี้แม้จะอยู่ต่างประเทศ ไม่ได้กลับบ้าน แต่ก็สบายดี” นายสุรพลกล่าว

ด้าน นายเอนก กล่าวในช่วงเสวนาตอนหนึ่งเช่นกันว่า 80 ปีประชาธิปไตยในประเทศไทยถือว่าไม่เลวนัก เพราะประชาชนระดับรากหญ้าได้เข้ามามีบทบาททางการเมืองมากขึ้น เพียงแต่ตนอยากเตือนรัฐบาลให้ฟังรอบด้าน อย่าเลือกที่จะฟังเฉพาะกลุ่ม อาทิ กลุ่มนิติราษฎร์ เป็นต้น และคิดว่าการยอมถอยของทั้งฝ่ายแดงและเหลืองมีความจำเป็นมาก เพราะหากต้องชนกันก็คงจะสูญเสียหนักมาก ซึ่งการร่างรัฐธรรมนูญจะสามารถแข่งขันกันได้แต่ต้องมีข้อยุติ และต้องเปิดรับให้คนใหม่ๆ เข้ามาในการเมืองบ้าง

“บรรยากาศแบบนี้พวกเราต้องฉลาด ต้องปรองดองบนหลักการที่เป็นที่ยอมรับได้ของทุกฝ่าย และเหตุการณ์ในช่วงนี้ก็ต้องเจรจา เพียงแต่กำลังดูวิธีไหนอยู่เท่านั้น ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากถูกต้องตามระเบียบกฎหมายแล้ว เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ให้แก้ได้อยู่แล้ว หากจะแก้ทั้งระบบก็ไม่มีใครขัด และเมื่อเสร็จแล้วให้เอาไปถามประชาชนว่าจะเอาฉบับเก่าหรือใหม่ก็ได้” นายเอนกกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น