xs
xsm
sm
md
lg

“ศรีราชา” เล็งชง 3 ประเด็นแก้ รธน.ให้ ปธ.รัฐสภาทบทวนอีก เชื่อศาลมีอำนาจสั่งเบรก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายศรีราชา เจริญพานิช ผู้ตรวจการแผ่นดิน (แฟ้มภาพ)
ผู้ตรวจการแผ่นดินเผยที่ประชุมกังวลแก้รัฐธรรมนูญ เล็งชง 3 ประเด็น กก.ที่ปรึกษากฎหมายให้สภาพิจารณาทบทวนอีกรอบ ก่อนเข้าวาระ 3 เชื่อศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสั่งเบรกได้

วันนี้ (5 มิ.ย.) ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายศรีราชา เจริญพานิช ผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า ที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีการหารือถึงสถานการณ์บ้านเมืองที่เกิดขึ้นในปัจจุบันว่า ขณะนี้เกิดปัญหาในหลายเรื่อง โดยเฉพาะการพิจารณาลงมติร่างแก้รัฐธรรมนูญ ทำให้ผู้ตรวจการฯ มีความกังวล เนื่องจากก่อนหน้านี้ทางผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีการพิจารณาความเห็นของคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ ที่ยกร่างเสนอความเห็นว่าบทบัญญัติมาตรา 291 เห็นว่า ข้อเสนอแนะทั้ง 3 ประเด็นที่ได้เสนอไปยังรัฐสภา ซึ่งประกอบด้วย ประเด็นที่ 1 การบัญญัติให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโอการแทนนายกรัฐมนตรี เป็นการชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ประเด็นที่ 2 การที่ให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้วินิจฉัยว่า ร่างรัฐธรรมนูญเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ ตนเป็นว่าเป็นประเด็นที่สำคัญ เนื่องจากเห็นว่าผู้ที่ดำเนินการเอง เขียนเอง ทำเอง ตรวจสอบเอง เป็นลักษณะไม่มีการถ่วงดุล

ประเด็นที่ 3 เมื่อประชาชนได้ลงประชามติรับรองร่างรัฐธรรมนูญแล้วควรจะดำเนินการต่อไปอย่างไร ซึ่งในประเด็นดังกล่าว ผู้ตรวจการเห็นว่ากรณีประชาชนออกเสียงลงประชามติแล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระมหากษัตริย์ หากทรงยับยั้งแล้วส่งกลับไปให้รัฐสภาลงมติยืนยันโดยอนุโลม ตามมาตรา 150 และมาตรา 151 มาใช้บังคับนั้น ผู้ตรวจการเห็นว่าไม่ควรบัญญัติในลักษณะเช่นนี้ เนื่องจากเป็นกฎหมายสูงสุด

นายศรีราชากล่าวต่อว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงเห็นว่าควรที่จะเสนอเรื่องดังกล่าวไปยังประธานรัฐสภาอีกครั้ง เพื่อให้ทบทวนร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวก่อนที่จะเข้าสู่การพิจารณาในวาระ 3 เป็นไปโดยสอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยและหลักการตรวจสอบ ถ่วงดุล ระหว่างอำนาจอธิปไตย ซึ่งการที่ผู้ตรวจการฯ ได้ทักท้วงไปเพื่อให้สภาได้มีหลักการและเหตุผลในการพิจารณา ซึ่งข้อเสนอเป็นการทำตามหน้าที่ในฐานะองค์กรอิสระ หากสภาเห็นควรว่าจะดำเนินการพิจารณาในวาระ 3 ต่อไป หากเกิดปัญหาสิ่งใดขึ้น ทางสภาต้องเป็นผู้รับผิดชอบ อย่างไรก็ตาม ผู้ตรวจฯเห็นว่า กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้รัฐสภาชะลอการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 ออกไปก่อน ทั้งนี้ส่วนตัวยังเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญน่าจะมีอำนาจในการพิจารณา ถึงแม้ไม่มีบทบัญญัติที่ชัดเจน แต่ก็เป็นองค์กรที่มาหยุดยั้งความขัดแย้ง หรือมาอุดช่องว่างในการแก้ไขปัญหาประเทศได้

“ณ เวลานี้เรามีรัฐธรรมนูญ 2550 อยู่ ถ้าผู้ที่ลงสมัครเป็น ส.ส. ส.ว. ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็เท่ากับยอมรับกติกาในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่วันดีคืนดีมาบอกว่าจะไม่เคารพ แล้วที่ทำมาแต่ต้นมันหมายความว่าอะไร ไม่ใช่เลือกเชื่อแต่ส่วนที่ตนเองได้ประโยชน์ หรือสิ่งที่ตรงใจตัวเอง เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีฐานรองรับจากประชามติเสียงข้างมากของประชาชน” นายศรีราชากล่าวในฐานะอดีต ส.ส.ร.ปี 2550 ผู้มีส่วนยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น