xs
xsm
sm
md
lg

“ศรีราชา” ชี้ยังไม่จำเป็นแก้ รธน. ฉะอย่านำชาติเป็นเครื่องทดลอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายศรีราชา เจริญพานิช ผู้ตรวจการแผ่นดิน (แฟ้มภาพ)
“ผู้ตรวจการแผ่นดิน” ยันยังไม่จำเป็นต้องแก้ รธน.50 ชูฉบับล่าสุดแก้ข้อบกพร่องได้ดีกว่า ชี้ ส.ส.ร.ต้องเข้าใจระบบการเมืองไทยไม่ใช่แค่สร้างกระแส ฉะอย่านำบ้านเมืองเป็นเครื่องทดลอง อย่าแก้หวังสร้างประโยชน์เพื่อนักการเมือง ค้าน รมต.มาจาก ส.ส. หนุนพรรคฟอร์มทีม ครม.สู้เลือกตั้ง

วันนี้ (7 ก.พ.) ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายศรีราชา เจริญพานิช ผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) มีมติดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อจัดตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เข้ามายกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จำนวน 99 คนว่า ขณะนี้ตนเห็นว่ายังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 เพราะคิดว่ารัฐธรรมนูญ 2550 ดีกว่ารัฐธรรมนูญ 2540 เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2550 แก้ไขมาจากข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญ 2540 ถึงแม้จะไม่ใช่รัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด แต่ก็ยังดีกว่ารัฐธรรมนูญ 2540 โดยรัฐธรรมนูญมีความชัดเจนในตัวมันเอง แต่ขึ้นอยู่กับการใช้มากกว่า

นายศรีราชากล่าวว่า ทั้งนี้ การมี ส.ส.ร.เข้ามาดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญนั้น ตนคิดว่าไม่ใช่ใครก็ได้ที่จะเข้ามายกร่าง เพราะคนที่เข้ามายกร่างจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจในระบบรัฐธรรมนูญการเมืองการปกครอง ไม่ใช่เพียงแค่ต้องการมาสร้างกระแส รวมทั้งต้องยกร่างกฎหมายโดยใช้ถ้อยคำที่รัดกุม จะได้ไม่เกิดปัญหาเรื่องการตีความในภายหลังและไม่ควรนำบ้านเมืองมาเป็นเครื่องทดลอง ซึ่งผู้ที่จะเข้ามาดำเนินการยกร่างไม่ควรมีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเฉพาะนักการเมือง ดังนั้น ควรหาบุคคลที่มีความเป็นกลางอย่างแท้จริง และมีความเข้าใจสถานการณ์บ้านเมืองของประเทศ เพราะบ้านเมืองเราในขณะนี้ยังอยู่ในวังวนเดิม นโยบายรัฐบาลไม่มีความต่อเนื่องทำให้บ้านเมืองไปไม่ถึงไหน

นายศรีราชากล่าวต่อว่า เราควรประเมินข้อด้อยของรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาว่ามีปัญหาใดบ้าง เพื่อสร้างบทบัญญัติใหม่ที่ดีกว่า ไม่ใช่แก้ไขเพราะต้องการสร้างประโยชน์ให้แต่ผู้ยกร่างและนักการเมือง แต่ประเทศไม่ได้ประโยชน์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ดี และจะทำให้ประเทศเสื่อมลง โครงสร้างของรัฐธรรมนูญน่าจะมีภาพที่ชัดเจนว่าจะนำพาประเทศชาติไปในทิศทางใด นอกจากนี้ ในส่วนเรื่องการจัดกลไกการตรวจสอบจะต้องมีการถ่วงดุลระหว่างอำนาจนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารอย่างเหมาะสมและให้มีความต่อเนื่องในเชิงนโยบาย ตนมีความเห็นว่าไม่ควรให้ ส.ส.ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี เนื่องจากฝ่ายนิติบัญญัติมีหน้าที่ตรวจสอบฝ่ายบริหาร ทั้งนี้ ควรให้พรรคการเมืองกำหนดบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ในลักษณะการฟอร์มทีม โดยนำมาใช้หาเสียงร่วมกับนโยบายแต่ละพรรคการเมืองมาประกวดกัน ไม่ใช่นำ ส.ส.แต่ละพรรคมาเขย่ารวมกันแล้วได้ ส.ส.แบบผสมไปเป็นรัฐมนตรีแบบไม่มีความรู้ความชำนาญ ไม่เช่นนั้นจะเหมือนกับเหยียบเรือของแคม ที่ผ่านมาเราได้รับบทเรียนความผิดพลาดในอดีตควรใช้เหตุผลสร้างมิติทางการเมือง

“หากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ผมมีความเห็นว่าไม่ควรมีมาตราและรายละเอียดมากจนเกินไป อะไรที่ออกเป็นกฎหมายลูกได้ก็ขอให้ออกเป็นกฎหมายลูก ไม่ควรอยู่ในรัฐธรรมนูญ เช่น คุณสมบัติของ ส.ส. เป็นต้น รัฐธรรมนูญควรเป็นแก่นแท้แม่บทจริงๆ หากมีไม่ถึง 100 มาตราได้ก็จะยิ่งดี ควรมีแต่หลักการใหญ่ๆ เพื่อให้รัฐธรรมนูญมีความมั่นคงถาวรอยู่นานๆ กว่าเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาแล้วไม่มีอะไรดีขึ้นอย่างในขณะนี้”
กำลังโหลดความคิดเห็น