xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ตปท.เรียกแจงให้สหรัฐฯ ขอใช้อู่ตะเภา อ้างอยู่ไทยถาวรไม่ได้-ไม่เข้าข่าย ม.190

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (ภาพจากแฟ้ม)
“สุนัย” ใช้เวที กมธ.ตปท.สภา แจงประเด็นสหรัฐฯ ขอใช้สนามบินอู่ตะเภาให้นาซาศึกษาสภาพภูมิอากาศ พบกังวลขอบเขตและเวลาโครงการ แต่หลายเสียงหนุนได้ประโยชน์ ผบ.กองบิน ทร.เผย ต่างชาติร่อนลงจอดในไทย ต้องขออนุญาตกลาโหมทุกครั้ง ไม่สามารถอยู่ไทยถาวรได้ อธิบดีกรมอเมริกา อ้างใช้อู่ตะเภารับภัยพิบัติ ยันไทยได้ประโยชน์ ผอ.กองกฎหมาย กต.เผยไม่เข้าข่าย ม.190

วันนี้ (20 มิ.ย.) ที่รัฐสภา ในการประชุมกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีนายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็นประธาน ได้หยิบยกกรณีสหรัฐอเมริกา ขอใช้พื้นที่สนามบินอู่ตะเภา อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี เพื่อดำเนินโครงการศึกษาสภาพภูมิอากาศ โดยองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา หรือ นาซา และกรณีขอใช้พื้นที่สนามบินอู่ตะเภา เพื่อตั้งศูนย์ปฏิบัติการด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติในอาเซียน โดยเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจง ได้แก่ พล.ร.ต.พังพล สิริสังข์ไชย ผู้บัญชาการกองบินทหารเรือ กล่าวว่า ขั้นตอนการปฏิบัติของเครื่องบินต่างประเทศที่จะเข้ามาในประเทศไทย ต้องขออนุญาตจากกระทรวงกลาโหมทุกครั้ง ซึ่งทางกลาโหมได้มอบหมายให้ทางกองทัพอากาศเป็นผู้พิจารณาว่าจะอนุญาตหรือไม่ ทั้งนี้ ทางต่างประเทศต้องแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับการบินทั้งหมดให้ทางไทยรับทราบ ทั้งวันมาและวันกลับ จำนวนลูกเรือ โดยไม่สามารถมาอยู่ในไทยถาวรได้

นายพรชาต บุนนาค ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์ความมั่นคงระหว่างประเทศ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เสนอว่า หากมีข้อตกลงเกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัติ ต้องเป็นลักษณะความร่วมมือระหว่างทางการไทยกับสหรัฐฯ ซึ่งต้องระวังถึงผลกระทบในภายภาคหน้า ที่ต้องสามารถตรวจสอบได้อย่างโปร่งใส รวมถึงขอบเขตของการดำเนินการที่สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ และกฎหมายของไทย โดยต้องสามารถอธิบายได้อย่างชัดเจน และที่สำคัญ เจ้าหน้าที่ของไทยจำเป็นต้องเข้าร่วมในการปฏิบัติการเพื่อประโยชน์ของประเทศ พร้อมยืนยันว่า การดำเนินการทั้ง 2 เรื่องที่สหรัฐฯ ขอเข้ามาปฏิบัติการในไทย ไม่เกี่ยวข้องกับเงื่อนไขทางการทหาร

ทั้งนี้ ในที่ประชุม กมธ.มีข้อกังวลในประเด็นขอบเขตการปฏิบัติงานและระยะเวลาของโครงการ โดย นายจิระชัย ปั้นกระษิณ อธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า การใช้พื้นที่สนามบินอู่ตะเภา เนื่องจากเมื่อเกิดภัยพิบัติจะสามารถให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยในภูมิภาคอาเซียนได้รวดเร็วที่สุด โดยเฉพาะการลำเลียงผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ ขณะที่กรอบเวลาในการดำเนินโครงการ ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนอยู่ระหว่างการหารือ อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า การดำเนินการจะเป็นประโยชน์อย่างแน่นอน ขณะเดียวกัน หากมีโอกาสจะเปิดเชิญประเทศเพื่อนบ้านเข้าร่วมโครงการด้วย นอกจากนี้ กมธ.ต้องการทราบเกี่ยวกับขั้นตอนการทำงานทั้งหมด รวมถึงกรณีที่นาซาจะเข้ามาปฏิบัติการนั้น จะเปิดโอกาสให้นักวิทยาศาสตร์ของไทยได้เข้าไปศึกษาร่วมกับนาซามากน้อยเพียงใด แต่เนื่องจากไม่มีคำตอบที่ชัดเจนจากผู้ชี้แจง ประธาน กมธ.จึงขอให้เก็บข้อมูลไว้ศึกษา

ขณะที่ นายธนะชัย ศิริสัมพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานสนามบิน กรมการบินพลเรือน กระทรวงคมนาคม ชี้แจงว่า กรณีที่มีข้อสงสัยว่าเครื่องบินสำรวจขององค์การนาซาจะส่งผลต่อความมั่นคงทางทหารหรือไม่นั้น ยืนยันว่า เครื่องบินทั้งหมดที่จะมาปฏิบัติการเป็นเครื่องบินที่มีคนขับ รวมทั้งมีเครื่องบินของไทย จากสำนักฝนหลวงอีก 1 ลำ รวมถึงมีเจ้าหน้าที่จะร่วมบินสำรวจด้วย ซึ่งจะทำให้กรมอุตุนิยมวิทยาได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ พร้อมย้ำว่า ไทยจะได้ประโยชน์จากโครงการนี้อย่างแน่นอน โดยเฉพาะด้านอุตุนิยมวิทยา และการศึกษาสภาพภูมิอากาศ อีกทั้งการจัดการปัญหาภัยพิบัติ ส่วนข้อกังวลว่า จะมีประเด็นแอบแฝงหรือไม่นั้น สามารถส่งผู้ปฏิบัติการในส่วนของไทยเข้าร่วมงานได้ เพื่อความโปร่งใส ส่วนแผนการบินก็มีขั้นตอนที่ชัดเจน

ด้าน นางสาววารุณี ปั้นกระจ่าง ผู้อำนวยการกองกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ ยืนยันว่ากฎหมายเกี่ยวกับภารกิจกู้ภัยพิบัติธรรมชาติและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ว่า อยู่ระหว่างการหารือ ยังไม่ได้ข้อสรุปส่วนประเด็นของนาซา ได้ส่งจดหมายมาแล้ว โดยยืนยันชัดเจนว่าดำเนินการในเรื่องวิทยาศาสตร์ และตรวจสอบตามระเบียบแล้ว พบว่า ไม่เข้าข่ายมาตรา 190 ที่ต้องผ่านความเห็นชอบจากสภา โดยเป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรี

นางอุษา เกียรติชัยพิพัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาด้านสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า สำหรับโครงการของนาซาเป็นโครงการต่อเนื่องทำงานมาแล้ว 2 ปี และมีนักวิทยาศาสตร์ไปร่วมในนามของประเทศไทย จำนวน 2 คน และเป็นโครงการที่มีประโยชน์และจะสนับสนุนของไทย ในเรื่องปัญหามลพิษที่มีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งยังเป็นความเห็นที่ยังไม่เป็นทางการ เพราะคณะรัฐมนตรียังไม่ได้พิจารณาอนุมัติ

อย่างไรก็ตาม กรณีที่มีความกังวลว่า การฝึกร่วมทางการทหารระดับพหุภาคี หรือคอบราโกลด์ (Cobra Gold) จะส่งผลต่อความมั่นคงประเทศ นายธนะชัย ชี้แจงว่า การฝึกคอบราโกลด์ มี 2ประเภท คือ การฝึกด้านทหารและฝึกบรรเทาสาธารณภัย อาจเป็นเรื่องการต่อยอดสร้างขีดความสามารถ ซึ่งอาจใช้การฝึกดังกล่าวศึกษา แต่ตอนนี้เป็นแนวความคิดว่าควรใช้คอบราโกลด์ เป็นจุดเริ่มต้น ซึ่งการฝึกนี้ไม่ใช่การฝึกระหว่างไทยและสหรัฐฯ แต่มี 20 ประเทศที่เข้าร่วมฝึกและร่วมสังเกตการณ์
กำลังโหลดความคิดเห็น