xs
xsm
sm
md
lg

ตั้งคณะกรรมการฯ ผุดโคราชฮับ ศูนย์ซ่อมอากาศยานภายใน 2 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“คมนาคม” ตั้งคณะกรรมการดันโคราชฮับศูนย์ซ่อมอากาศยาน “ชัชชาติ” สั่ง บพ.ร่างเอ็มโอยูบูรณาการทุกหน่วยงาน ตั้งเป้าต้องเป็นรูปธรรมใน 2 ปี

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมท่าอากาศยานนครราชสีมาและรับฟังความคิดเห็นในการดำเนินโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมอากาศยานและศูนย์ซ่อมอากาศยานจังหวัดนครราชสีมาเมื่อวันที่ 20 มิถุนายนว่า สนามบินโคราชมีศักยภาพทั้งด้านกายภาพและลอจิสติกส์ที่เหมาะสมต่อการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) ซ่อมบำรุงอากาศยาน และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงภาคเอกชนเห็นด้วยและพร้อมที่จะทำงานแบบบูรณาการร่วมกัน โดยมีเป้าหมายให้เปิดเป็นรูปธรรมภายใน 2 ปี โดยเริ่มต้นจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการฯ ซึ่งมีตนเป็นประธานและมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเอกชนเป็นกรรมการ และมอบหมายให้กรมการบินพลเรือน (บพ.) จัดทำร่างเอ็มโอยูความร่วมมือเพื่อลงนามกันภายใน 3 เดือนนี้

“ปัจจุบันศูนย์ซ่อมเครื่องบินยังมีน้อยเพราะมีเทคโนโลยีสูง ใช้เงินทุนมาก ดังนั้นนโยบายต้องชัดเจน ขณะที่ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกัน โดยระยะยาว 15-20 ปีจะเห็นว่าหากไทยเป็นฮับด้านนี้จะสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่องกันได้ ทั้งยาง, อิเล็กทรอนิกส์, อะไหล่ เกิดการสร้างงาน ถ่ายทอดเทคโนโลยี เพิ่มจีดีพีของประเทศ ซึ่งปัจจุบันตลาดอุตฯ การผลิตและซ่อมชิ้นส่วนอากาศยาน (MRO) ของไทยมีประมาณ 800 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่เอเชียเป็นตลาดใหญ่ของการเดินทางทางอากาศ และการลงทุนด้าน MRO ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ตลาดใหญ่คือจีน สิงคโปร์ มาเลเซีย จะทำอย่างไรให้มีไทยด้วยเหมือนที่ไทยผลักดันให้เป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมรถยนต์ได้สำเร็จ” นายชัชชาติกล่าว

นายวรเดช หาญประเสริฐ อธิบดี บพ.กล่าวว่า คณะกรรมการฯ จะจัดตั้งได้ภายใน 2 สัปดาห์นี้ส่วนการแก้ไข พ.ร.บ.การเดินอากาศ (ฉบับที่ 1 1) ในการกำหนดผู้ขอรับใบอนุญาตผลิตอากาศยานและส่วนประกอบต้องมีหุ้นไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 โดยเป็นการเพิ่มข้อยกเว้น 3 กิจกรรมที่ไม่เข้าข่ายสัดส่วนดังกล่าว คือ ใช้เทคโลโลยีชั้นสูง, ส่งเสริมการลงทุน, ความตกลงระหว่างประเทศ โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของกฤษฎีกา หากเห็นชอบจะเสนอ ครม.และสภาฯ ต่อไป

สำหรับสนามบินโคราชมีพื้นที่ทั้งหมด 4,625 ไร่ ซึ่งได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้แล้ว โดยได้ใช้พื้นที่ประมาณ 1,000 ไร่สำหรับการบริการเที่ยวบิน ยังเหลือที่สามารถนำมาพัฒนาเป็นนิคมอุตฯ ศูนย์ซ่อมได้ โดยกำหนดไว้ว่าจะใช้พื้นที่ด้านข้างจำนวน 605 ไร่ และ 728 ไร่
กำลังโหลดความคิดเห็น