xs
xsm
sm
md
lg

“คมนาคม” ปั้นนิคมอุตฯ การบินโคราช ยันเกิดแน่ เร่งแก้ กม.เพิ่มหุ้นต่างชาติ พับศูนย์ซ่อมดอนเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
“ชัชชาติ” ดึง กนอ.-บีโอไอร่วมมือ บพ. พัฒนาสนามบินโคราชเป็นนิคมฯ ศูนย์ซ่อมอากาศยาน สำรวจพื้นที่ประเมินโอกาสทางธุรกิจก่อนทำโรดแมปเสนอ ครม.ออกมาตรการภาษีจูงใจนักลงทุน ส่วนดอนเมืองไม่เหมาะหลังเปิดให้สายการบินพาณิชย์ใช้เพิ่ม

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในวันที่ 20 มิ.ย. จะเดินทางไปสำรวจท่าอากาศยานนครราชสีมาเพื่อดูความพร้อมของพื้นที่และรับฟังข้อมูลและโอกาสทางธุรกิจในการพัฒนาโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมอากาศยานและศูนย์ซ่อมอากาศยาน โดยมีผู้บริหารการนิคมอุตสาหกรรม (กนอ.), บีโอไอ, กรมการบินพลเรือน (บพ.) และภาคเอกชนร่วมด้วย ซึ่งการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมอากาศยานและศูนย์ซ่อมอากาศยานในประเทศไทยมีความเป็นไปได้ และล่าสุดทางบริษัท โรลส์-รอยซ์ ผู้ผลิตรถยนต์และผลิตเครื่องยนต์สำหรับอากาศยานจากประเทศอังกฤษ ได้สนใจใช้ไทยเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนอากาศยานในภูมิภาค รอเพียงความชัดเจนจากภาครัฐ ทั้งการกำหนดพื้นที่ การสนับสนุนด้านภาษี เท่านั้น

ทั้งนี้ ในการพัฒนาจะมอบหมายให้ กนอ.เป็นหน่วยงานหลัก เนื่องจากจะเกี่ยวกับเรื่องการลงทุน การสนับสนุนด้านภาษี ส่วน บพ.นั้นนอกจากเป็นเจ้าของพื้นที่แล้วในฐานะหน่วยกำกับจะให้การสนับสนุนเรื่องการออกใบอนุญาตต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการใช้ท่าอากาศยานนครราชสีมาของ บพ. จะทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนที่ต่ำกว่าการใช้ท่าอากาศยานดอนเมืองของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. และเมื่อดอนเมืองมีเที่ยวบินประจำเพิ่มขึ้นจะไม่เหมาะต่อการพัฒนาเป็นศูนย์ซ่อมอากาศยานแล้ว

ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนจะนำเสนอความเห็นแนวทางการพัฒนาและปัญหาอุปสรรคต่างๆ ประเมินความต้องการ โอกาสทางธุรกิจ จัดทำเป็นโรดแมป สรุปเป็นแผนและนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมเป็นหน่วยงานใช้เงิน แต่ในอนาคตต้องมองทิศทางเศรษฐกิจและนำทรัพย์สินที่มีพัฒนาเป็นแหล่งสร้างรายได้ให้ประเทศบ้าง” นายชัชชาติกล่าว

ส่วนการปรับปรุงกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงาน เช่น แก้ไข พ.ร.บ.การเดินอากาศ (ฉบับที่ 1 1) ในการกำหนดผู้ขอรับใบอนุญาตผลิตอากาศยานและส่วนประกอบต้องมีหุ้นไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 นั้นอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของกฤษฎีกา
สำหรับท่าอากาศยานนครราชสีมามีพื้นที่ 4,625 ไร่ มีสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการบินครบถ้วน ทางวิ่งกว้าง 45 เมตร ยาว 2,100 เมตร รองรับเครื่องบินแบบโบอิ้ง 737 ได้ ลานจอดรองรับได้ 4 ลำพร้อมกัน มีอาคารผู้โดยสารและระบบนำร่อง ILS และห่างจากกรุงเทพฯ 280 กิโลเมตร

ทั้งนี้ เห็นว่าปัจจัยที่จะทำให้โครงการประสบความสำเร็จ คือ 1. ต้องกำหนดกลุ่มเป้าหมายของธุรกิจและพิจารณาการดำเนินงานให้สอดคล้องกับระบบห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมอากาศยาน 2. ต้องกำหนดมาตรการส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มของธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง (คลัสเตอร์) และการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อดึงดูดนักลงทุนที่มีศักยภาพจากต่างประเทศ 3. ปรับปรุงกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงาน เช่น แก้ไข พ.ร.บ.การเดินอากาศ (ฉบับที่ 1 1) ในการกำหนดผู้ขอรับใบอนุญาตผลิตอากาศยานและส่วนประกอบต้องมีหุ้นไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ซึ่ง บพ.กำลังดำเนินการ 4. บพ.สนับสนุนให้พื้นที่ท่าอากาศยานนครราชสีมาเป็นฐาน รวมถึงการให้ส่วนลดหรือยกเว้นค่าธรรมเนียมขึ้นลงและค่าจอดอากาศยาน 5. พัฒนาความรู้และอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยง ปรับปรุงพัฒนาหลักสูตรในสถาบันต่างๆ ส่งเสริมการฝึกปฏิบัติงานในภาคธุรกิจ

ปัจจุบันมีผู้ผลิตอากาศยานรายใหญ่ระดับ Tier 1 ไม่มากนัก เนื่องจากต้องใช้เทคโนโลยีสูงผู้ประกอบการรายใหม่เกิดยาก ส่วนผู้ผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ระดับ Tier 2 และ 3 มีจำนวนมาก ซึ่งตลาดซ่อมบำรุงเครื่องบินและชิ้นส่วน (MRO) ของโลกในปี 2551 มีขนาด 45,100 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนอุตสาหกรรมอากาศยานของไทยค่อนข้างเล็กมีขนาด 800 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ แต่ไทยมีศักยภาพสูงในการพัฒนาเป็นศูนย์ซ่อมและผู้ผลิตชิ้นส่วนอากาศยานในภูมิภาค ทั้งด้านภูมิศาสตร์และอุตสาหกรรมสนับสนุนจากอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ โดยเอเชียเป็นตลาดใหญ่ด้านการเดินอากาศ คาดว่าในปี 2574 สัดส่วนในเอเชียจะเพิ่มเป็น 40% ของทั้งโลก
กำลังโหลดความคิดเห็น