xs
xsm
sm
md
lg

ปิ๊งผุดศูนย์ซ่อมเครื่องบิน “โคราช” แทนดอนเมือง บพ.ทบทวนโอนสนามบินภูมิภาค

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
“ขัชชาติ” เล็งสนามบินโคราชเป็นศูนย์ซ่อมเครื่องบินแทนดอนเมือง จับมือ กนอ.-บีโอไอผุดนิคมอุตสาหกรรมการบิน ดันแก้ พ.ร.บ.เดินอากาศเพิ่มต่างชาติถือหุ้นเกิน 51% สั่ง บพ.ทบทวนให้ ทอท.บริหารสนามบินภูมิภาค ชี้ทรัพย์สินมีศักยภาพพัฒนาเองได้ แนะ บวท.ทำแผนรับมือรถไฟความเร็วสูงแย่งผู้โดยสาร และการหารายได้เพิ่มจากกิจกรรมอื่น

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมกรมการบินพลเรือน (บพ.) และบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.) ว่า ได้มอบนโยบายให้ บพ.พิจารณาการโอนท่าอากาศยานภูมิภาคให้บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. บริหารอย่างรอบคอบ ดูภาพรวมและนำทรัพย์สินที่มีมาใช้ประโยชน์สูงสุด โดยเห็นว่าท่าอากาศยานภูมิภาคหลายแห่งมีศักยภาพสามารถพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรมด้านการบินได้ เช่น ท่าอากาศยานนครราชสีมา มีพื้นที่กว่า 4,000 ไร่ อยู่ไม่ห่างจากกรุงเทพฯ มากนัก เหมาะสมที่จะทำเป็นศูนย์ซ่อมอากาศยาน ส่วนแผนการใช้ประโยชน์ท่าอากาศยานดอนเมืองในเชิงพาณิชย์ใน 6 กิจกรรม ซึ่งมีโครงการซ่อมบำรุงอากาศยานด้วยนั้น เห็นว่าจะทำได้ลำบากหลังจากมีการย้ายเที่ยวบินพาณิชย์มาใช้ทีี่ดอนเมือง

“ขณะนี้ถือว่า บพ.บริหารได้ดีระดับหนึ่งและกำหนดค่าธรรมเนียมต่างๆ ได้เหมาะสม โดยมีกำไรจากบางสนามบินที่นำมาช่วยดูแลสนามบินที่ขาดทุนได้ ดังนั้นต้องคิดนอกกรอบ ซึ่งสนามบินโคราชปัจจุบันมีเพียงเครื่องบินเช่าเหมาลำไปใช้เท่านั้น เหมาะที่จะพัฒนาเป็นศูนย์ซ่อมเครื่องบิน ซึ่งได้หารือเบื้องต้นกับนายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) แล้ว และจะไปดูพื้นที่กันในสัปดาห์หน้า นอกจากนี้จะต้องพิจารณาในเรื่องบีโอไอ เรื่องภาษีสำหรับนักลงทุน และต้องแก้ไข พ.ร.บ. การเดินอากาศ พ.ศ. 2497 ที่กำหนดสัดส่วนการลงทุนของคนไทยไม่ต่ำกว่า 51% ซึ่งเป็นข้อจำกัดนักลงทุนต่างชาติ โดยเชื่อว่าถ้าทำได้จะช่วยกระตุ้นอุตสาหกรรมภายในประเทศได้มาก” นายชัชชาติกล่าว

ส่วน บวท.นั้นจะต้องประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกรณีที่รัฐบาลจะดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง เพราะจะเป็นคู่แข่งของการเดินทางโดยเครื่องบิน ซึ่ง บวท.มีรายได้ประมาณ 6,000 ล้านบาทต่อปี โดยกว่า 90% เป็นรายได้จากการบิน หากผู้โดยสารเครื่องบินลดจะกระทบรายได้ บวท.แน่นอน ดังนั้น จะต้องมองว่าจะต้องปรับตัวอย่างไร เช่น ช่วยพัฒนาด้านเทคโนโลยีการสื่อสารให้รถไฟความเร็วสูง เป็นต้น

ทั้งนี้ แนวโน้มปริมาณการจราจรทางอากาศจะเพิ่มขึ้นมาก โดยในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกปีนี้คาดว่าจะเติบโตประมาณ 5% โดยเฉพาะการเติบโตของสายการบินต้นทุนต่ำ (Low Cost) และเครื่องบินเล็ก (Private Jet) จากจีน ซึ่งใช้เครื่องบินขนาดเล็ก แต่การให้บริการด้านการจราจรทางอากาศจะมีต้นทุนใกล้กับเครื่องบินขนาดใหญ่ ซึ่งอาจจะกระทบรายได้ของ บวท. จึงต้องมองทุกมิติ รวมถึงการเรียกค่าธรรมเนียมจากสายการบินที่สูงเกินไป จะทำให้สายการบินต้องไปเก็บค่าโดยสารแพงขึ้น ผู้โดยสารจะได้รับผลกระทบเป็นลูกโซ่

นายชัชชาติกล่าวว่า บวท.ได้ทำแบบจำลองการให้บริการเดินอากาศที่ท่าอากาศยานดอนเมืองแล้วซึ่งรองรับได้สูงสุด 400-500 เที่ยวบินต่อวัน จากปัจจุบันสายการบินนกแอร์ให้บริการประมาณ 100 เที่ยวบินต่อวัน ดังนั้น การย้ายสายการบินบางส่วนจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมาจะไม่มีปัญหา และขณะนี้ บวท.กำลังเจรจากับกองทัพอากาศ (ทอ.) เพื่อขอใช้พื้นที่ฝึกบินบางส่วนที่อยู่ในความดูแลของ ทอ.
กำลังโหลดความคิดเห็น