xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.ชี้ 10 ข้อบกพร่องแก้น้ำท่วม ซัด พณ.เลือกปฏิบัติคุมอาหาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต (ภาพจากแฟ้ม)
ปชป.จับผิด 10 ข้อบกพร่องป้องกันน้ำท่วม ระบุ นายกฯ-รมว.มหาดไทย สร้างภาพแจกเงินสดหลังน้ำท่วม จ.นครสวรรค์ หลังละ 3 หมื่นบาท ต้นเหตุทำให้ชาวบ้านเข้าใจผิดว่าจะได้เงินเท่ากัน จนเกิดม็อบวุ่นวาย พร้อมอัดพาณิชย์ เลือกปฏิบัติควบคุมราคาอาหารสำเร็จรูป

นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงมาตรการเยียวยาเงินน้ำท่วมของปี 2554 ว่า พรรคประชาธิปัตย์เคยเตือนแล้วว่ามีกระบวนการทุจริตกินหัวคิวของชาวบ้าน แต่ไม่มีการออกมาแก้ไขปัญหา จนสุดท้ายเมื่อชาวบ้านออกมาก่อม็อบปิดถนน เพราะทนไม่ไหวที่บางบ้านได้เงินเยียวยาแค่ 250-300 บาทเท่านั้น สาเหตุมาจากการที่นายกรัฐมนตรีได้สร้างภาพใช้การตลาดนำการเมือง เพราะเมื่อวันที่ 5 พ.ย. 54 หลังน้ำท่วม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รมว.มหาดไทยไป จ.นครสวรรค์ เอาเงินสดๆ ไปให้ชาวบ้านครัวเรือนละ 30,000 บาท มีการตีข่าวสร้างภาพ ทำให้ชาวบ้านเข้าใจว่าทุกครัวเรือนที่ถูกน้ำท่วมจะได้รับการเยียวยาครัวเรือนละ 30,000 บาท ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็ยืนยันว่าจะให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังมีข่าวม็อบเรียกร้องเงินเยียวยา

นายชวนนท์ กล่าวถึงการทัวร์นกขมิ้นของนายกรัฐมนตรี เพื่อตรวจสอบระบบการป้องกันน้ำท่วมในปีนี้ ว่า ตนยังเป็นห่วง เพราะข้อเรียกร้องของชาวบ้านในแต่ละพื้นที่กับการดำเนินการตามข้อเท็จจริงของรัฐบาลยังมีความแตกต่างกันมากใน10 เรื่อง คือ 1.การจ่ายเงินซ่อมแซมบ้านเรือนทุกพื้นที่ ประสบปัญหาการถูกหักหัวคิว เช่นเดียวกับเงินเยียวยา 5,000 บาท จนชาวบ้านต้องปิดถนน
2.การก่อสร้างประตูระบายน้ำขุดลอกคูคลองหลายแห่งมีความล่าช้า และเพิ่งทำสัญญาว่าจ้าง เช่นที่บึงบอระเพ็ด มีการสร้างผิดแบบ และคืบหน้าไปเพียง 19% ยังไม่รวมพื้นที่อื่น 3.ระบบเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างประตูระบายน้ำในจุดต่างๆ เพิ่งจะมีการทดสอบที่ จ.ชัยนาท เป็นผักชีโรยหน้าเพราะนายกฯ ลงไปตรวจ แต่ไม่มีการรายงานผลว่าเป็นอย่างไร

4.ที่มีการประกาศว่าจะทำระบบพยากรณ์ เตือนภัย และแบบจำลองสถานการณ์น้ำท่วม แต่ข้อเท็จจริงพบว่ามีหมู่บ้านเสี่ยงภัยกว่า 3,000 แห่ง แต่กลับมีระบบเตือนภัยแค่ 2,000 แห่ง ที่เหลือกำลังของบประมาณจัดทำ ซึ่งไม่รู้จะแล้วเสร็จเมื่อไหร่ 5.ความชัดเจนของพื้นที่รับน้ำและหลักเกณฑ์ในการเยียวยา ที่ปัจจุบันยังไม่มีหลักเกณฑ์และพื้นที่ที่เป็นรูปธรรม รวมทั้งพื้นที่นอกเขตชลประทานก็จะไม่ได้รับเงินชดเชยด้วย

6.ที่ระบุว่า จะสรุปโครงการป้องกันน้ำท่วมในระยะกลาง และระยะยาวในแต่ละพื้นที่ แต่ปรากฎว่าปัจจุบันโครงการระยะยาวยังอยู่ระหว่างการประมูล เพราะรัฐบาลล่าช้า ไม่มีการใช้จ่ายเงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท ซ้ำยังหาผู้รับเหมาไม่ได้ 7. ตามแผนป้องกันน้ำท่วมของรัฐ ระบุให้ตั้งหน่วยงานประสานกับกลุ่มจิตอาสาเพื่อแจกจ่ายถึงยังชีพ แต่ข้อเท็จจริงกลับมอบหมายให้จังหวัดเป็นผู้ทำถุงยังชีพ ซึ่งคาดว่าที่สุดแล้วก็จะมีปัญหาหารทุจริตตามมาซ้ำรอยกับปีที่แล้ว

8.ระบบการอพยพคนออกนอกพื้นที่ประสบภัยเพิ่งจะเริ่มมีการทดสอบระบบที่ จ.อยุธยา เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.เพื่อสร้างภาพผักชีโรยหน้า เพราะนายกฯ ไปทัวร์นกขมิ้น แต่กลับไม่มีรายงานผลการทดสอบใดๆ ที่จะสร้างความมั่นใจให้ชาวบ้านแบละผู้ประกอบการ 9.การป้องกันในภาคอุตสาหกรรม เพิ่งจะมีการสร้างเขื่อนป้องกันนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ในปลายเดือน มิ.ย.ขณะที่การปรับปรุงยกพื้นถนนเข้า-ออกนิคมยังไม่มีการเริ่มก่อสร้าง

10.งบประมาณที่ใช้จ่ายในโครงการป้องกันน้ำท่วมของรัฐบาลที่ใช้เงินก็ 3.5 แสนล้านบาท ระบุให้ทำรายละเอียดของการใช้งบประมาณ ปัจจุบันพบว่าเพิ่งอนุมัติงบใช้จ่ายไป 50,000 ล้านบาท และกำลังทำทีโออาร์กับเอกชนอีก 3 แสนล้านบาท โดยเริ่มก่อสร้างปี 56 นอกจากนี้ ยังไม่มีการทำรายละเอียดของการใช้งบของกระทรวง ทบวง และกรมต่างๆ

นายชวนนท์ ยังกล่าวถึงกรณีที่กระทรวงพาณิชย์ออกมาตรการควบคุมอาหารสำเร็จรูป 7 ชนิดใน 38 จังหวัดไม่ให้ขายเกินราคาจานละ 30 บาท ว่า รัฐบาลแก้ปัญหาที่ปลายเหตุและเลือกปฏิบัติในบางพื้นที่ โดยไม่ได้ไปดูแลในเรื่องของกระบวนการผลิต ที่ส่วนหนึ่งมาจากการขึ้นค่าแรง 300 บาท และการขึ้นค่าไฟ รวมทั้งต้นทุนด้านการพลังงานที่เป็นค่าขนส่งหลัก

“รัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์ดำเนินการแบบนี้ถือเป็นการเลือกปฏิบัติ โดยไม่มีเหตุผล หรือหลักเกณฑ์มารองรับ ไม่สามารถชี้แจงถึงการเลือกจังหวัดที่จะควบคุมราคาอาหาร จงใจให้ราคาอาหารในจังหวัดอื่นๆ แพงกว่า 38 จังหวัด ผลักภาระให้ผู้ประกอบการไม่ให้ขายสินค้าแพงกว่าที่อื่น”

นายชวนนท์ กล่าวว่า การกำหนดให้ขายอาหารสำเร็จรูปในภาคใต้แพงกว่าภาคอื่น โดยอ้างว่าภาคใต้อยู่ไกล มีค่าใช้จ่ายด้านการขนส่งมาก จึงต้องขอเพิ่มราคา เช่น ข้าวแพงขึ้นจานละ 5 บาท อยากถามว่าแล้วพื้นที่ภาคเหนือ ภาคอีสานอยู่ไม่ไกลกว่าภาคใต้หรือ ทำให้มองเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากว่าเป็นการจงใจเลือกปฏิบัติของรัฐบาล เหมือนกับที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเคยประกาศมาแล้วว่า “ใครเลือกเรา เราดูแล” การจะอ้างว่าภาคใต้มีรายรับต่อเดือนสูงกว่าภาคอื่นนั้นถูกต้อง เพราะคนใต้มีรายรับอยู่ที่เดือนละ 27,720 บาท รายจ่าย 19,570 บาท จึงอยากถามว่าพื้นที่กรุงเทพฯทำไมจึงได้รับการควบคุมสินค้าให้ขายถูกกว่าภาคใต้ ทั้งที่คนกรุงเทพฯมีรายรับต่อเดือนถึง 43,669 บาท รายจ่าย 29,031 บาท จึงเป็นการสะท้อนว่ารัฐบาลเลือกปฏิบัติ หรืออาจจะเป็นการแก้ไขปัญหาแบบขายผ้าเอาหน้ารอดของกระทรวงพาณิชย์

นายชวนนท์ กล่าวว่า ที่น่าแปลใจคือ ราคาอาหารสำเร็จรูปมีราคาแพง แต่ราคาพืชผลการเกษตร และสินค้าหน้าฟาร์มกลับมีราคาตกต่ำ จนเรียกได้ว่าถูกทั้งแผ่นดิน จนพี่น้องเกษตรกรได้รับความเดือดร้อนกันเป็นจำนวนมาก เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียว เช่น ราคามันสำปะหลัง เดือนมิ.ย. 54 ราคา 2.20 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ราคาเมื่อวันที่ 12 มิ.ย.55 อยู่ที่ 1.90 บาท

สับปะรดหน้าโรงงานอยู่ที่ 4.81 บาท ปัจจุบันอยู่ที่ราคา 2.81 บาท ราคาลองกอง เมื่อปี 54 อยู่ที่ 27.57 ปัจจุบันอยู่ที่ 10-13 บาทต่อกิโลกรัม มะพร้าวทับสะแก เมื่อเดือน มิ.ย.54 อยู่ที่ราคาลูกละ 6-12.50 บาท ปัจจุบันอยู่ที่ 3-4 บาทต่อผล กุ้งขาวแวนดาไมกิโลกรัมละ 140 บาท ปัจจุบันอยู่ที่ 120 บาท สุกร 70 บาทต่อกิโลกรัม ปัจจุบันราคา 56 บาท

ยางพาราแผ่นดิบ ปี 54 ราคา 134.90 บาท ปัจจุบันราคาอยู่ที่ 91.54 บาท จึงทำให้เห็นได้ว่าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยกระทรวงพาณิชย์มีความชำนาญในการลดราคาสินค้าการเกษตรจากผู้ผลิต แต่มาขายถึงมือบริโภคในราคาสูง ทำให้พ่อค้าคนกลางกินส่วนต่าง สิ่งเหล่านี้ไม่มีการพูดถึง
กำลังโหลดความคิดเห็น