xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ตรวจฯ ชี้ “ปู” ต้องรับผิดหาก “นลินี” ทำเสื่อมเสีย สับเมินดูจริยธรรม “เต้น” นั่ง รมต.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รองเลขาฯ ผู้ตรวจฯ แถลงมติสอบตั้ง 2 รมต.ชี้ นายกฯ ให้เก้าอี้ “นลินี” ที่ถูกต่างชาติแบล็กลิสต์ หากทำชาติเสื่อมเสียต้องรับผิดชอบความเสียหาย ฉะ “ปู” เมินเอาพฤติกรรมทางจริยธรรมตั้ง “อำมาตย์เต้น” พร้อมยกคำสั่งศาลชี้ชัดแดงชุมนุมเกินขอบเขตรัฐธรรมนูญ แถมติดคดีอาญา จึงยืนมติเดิม ชงสภาฯ, ส.ว.ต่อ ยันไม่เกี่ยวปรับ ครม.พร้อมให้ ปธ.สภาฯ แจ้ง กก.จริยธรรม สอบต่อ

วันนี้ (14 มิ.ย.) ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายรักษเกชา แฉ่ฉาย รองเลขาธิการ และโฆษกสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงกรณีนายกรัฐมนตรี มีหนังสือชี้แจงเกี่ยวกับการแต่งตั้ง นางนลินี ทวีสิน เป็น รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เป็น รมช.เกษตรฯ โดยยังยืนยันว่า การพิจารณาเสนอชื่อบุคคลทั้ง 2 เป็นรัฐมนตรีเป็นอำนาจหน้าที่ และดุลพินิจของนายกรัฐมนตรี ซึ่งที่ประชุมคณะผู้ตรวจการแผ่นดิน มีมติว่า กรณีของนางนลินีนั้น แม้มีคุณสมบัติและไม่มีข้อห้ามใดๆ ในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีตามกฎหมายไทย และการพิจารณาเสนอชื่อบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นอำนาจหน้าที่และดุลพินิจของนายกฯ แต่ก็ต้องพิจารณาด้วยความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง ว่า การที่รัฐมนตรีคนหนึ่งของรัฐบาลไทยถูกห้ามเดินทางเข้าประเทศหนึ่ง และถูกห้ามเกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือทางการเงิน หรือทำธุรกรรมกับพลเมืองของประเทศนั้น ย่อมส่งผลกระทบต่อเกียรติภูมิของประเทศชาติ ความสง่างามของรัฐบาล และความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนได้

“แต่เมื่อนายกฯ เห็นว่า การที่ นางนลินี ถูกขึ้นบัญชีดังกล่าวเป็นเพียงการฝ่าฝืนข้อห้ามของรัฐบาลสหรัฐฯ มีผลเฉพาะกับสหรัฐฯ เท่านั้น และการดำเนินการดังกล่าวของสหรัฐฯ ไม่ได้ทำให้คนไทยเสื่อมศรัทธาต่อการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีของนางนลินี จึงเป็นกรณีที่ได้ใช้ดุลพินิจแล้ว ดังนั้น หากกรณีดังกล่าวก่อให้เกิดความเสื่อมเสียหรือเสียหายต่อประเทศชาติ อันเป็นผลมาจากการใช้ดุลพินิจของนายกฯ ในเรื่องนี้ นายกฯ จะต้องรับผิดชอบในผลแห่งความเสียหายที่เกิดขึ้น”

ส่วนกรณีของ นายณัฐวุฒิ ที่นายกฯ ชี้แจงว่า การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช.เป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนที่พึงกระทำได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 63 นั้น ผู้ตรวจการแผ่นดิน เห็นว่า การที่ศาลแพ่งได้มีคำสั่งในคดีหมายเลขแดงที่ ร.2/2553 ระบุว่า การกระทำของแกนนำ นปช.และผู้ร่วมชุมนุมเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมเกินกว่าขอบเขตของรัฐธรรมนูญมาตรา 34 และมาตรา 63 บัญญัติ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้ง นายณัฐวุฒิ ยังเป็นจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.2542/2553 และคดีอื่นๆ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของพนักงานอัยการ และพนักงานสอบสวน ซึ่งล้วนแต่เป็นกรณีที่มีการกล่าวหาว่ามีการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายอาญาแผ่นดิน

“ดังนั้น การพิจารณาแต่งตั้งนายณัฐวุฒิ ของนายกฯ จึงยังไม่ได้มีการนำพฤติกรรมทางจริยธรรมของนายณัฐวุฒิ มาประกอบการพิจารณาแต่งตั้ง โดยที่นายกฯ ก็มีความเข้าใจในเรื่องนี้เป็นอย่างดี เห็นได้ชัดเจนจากหนังสือชี้แจงที่มีถึงผู้ตรวจฯ ที่ระบุว่า “... แม้การพิจารณาจริยธรรมจะมิต้องอาศัยผลทางกฎหมายในคดีอาญาอันเป็นที่ยุติก็ตาม ...” ทางผู้ตรวจฯ จึงเห็นว่า ข้อเท็จจริงกรณีของนายณัฐวุฒิ ที่นายกฯ ชี้แจงเพิ่มเติม ไม่ได้มีเอกสารหลักฐาน หรือข้อเท็จจริงใหม่ที่ทำให้ผลการพิจารณาของผู้ตรวจฯ เปลี่ยนแปลงไป จึงมีมติยืนตามคำวินิจฉัยเดิม คือ นายกฯ ยังไม่ได้นำพฤติกรรมทางจริยธรรมของนายณัฐวุฒิ มาประกอบการพิจารณาอย่างรอบคอบเพียงพอ ก่อนเสนอชื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ซึ่งเป็นตำแหน่งที่เกี่ยวข้องในการใช้อำนาจรัฐ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 279 วรรคสี่ ทางผู้ตรวจฯ ก็จะได้ทำรายงานเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ตามอำนาจหน้าที่ต่อไป ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับสภาฯจะพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร

ทั้งนี้ นายรักษ์เกชา ปฏิเสธว่า การที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงข่าวเรื่องนี้ในขณะนี้ไม่ได้เกี่ยวกับการที่รัฐบาลจะมีการปรับคณะรัฐมนตรี เพราะแม้ผู้ตรวจการแผ่นดิน จะมีมติไปเมื่อการประชุมสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ก็เพิ่งจะมีหนังสือแจ้งมติดังกล่าวไปยังนายกรัฐมนตรี เมื่อวานที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดิน ยังมีมติกรณี นางนฤมล ศิริวัฒน์ และคณะ ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้ตรวจสอบกรณีเกิดเหตุการณ์ความวุ่นวายในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 30-31 พ.ค.ที่มี ส.ส.หลายคนประพฤติตนไม่เหมาะสม อันเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและกรรมาธิการ พ.ศ.2553 โดยเห็นว่า การกระทำตามที่ร้องเรียนเป็นที่ปรากฏชัดแจ้งต่อสาธารณชน ว่า เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม และไม่เคยปรากฏเหตุการณ์เช่นนี้ ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรมาก่อน อันอาจทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่ภาพลักษณ์และเกียรติภูมิของสภาผู้แทนราษฎรของไทย จึงได้ขอให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานกรรมการจริยธรรมสภาผู้แทนราษฎรแจ้งให้คณะกรรมการจริยธรรมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาดำเนินการประมวลจริยธรรมต่อไป โดยขอให้รายงานผลความคืบหน้าของการดำเนินการให้ผู้ตรวจการแผ่นดินทราบภายใน 30 วัน
กำลังโหลดความคิดเห็น