xs
xsm
sm
md
lg

“คำนูณ” เชื่ออำนาจสถาปนา รธน.เป็นของ “กษัตริย์-ปชช.” ไม่ใช่รัฐสภา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“คำนูณ” เชื่ออำนาจสถาปนา รธน.เป็นของ “กษัตริย์-ปชช.” ไม่ใช่รัฐสภา ฉะนั้นไม่มีสิทธิฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง หวั่นศาลปล่อยแก้วาระ 3 เพราะไม่ได้มุ่งไปที่ประเด็นโอนอำนาจให้ ส.ส.ร.แล้วไม่กลับมาที่สภาอีก ชี้ถึงตอนนั้นจะวิกฤตมาก

วันที่ 13 มิ.ย. นายคำนูณ สิทธิสมาน และนายตวง อันทะไชย ส.ว.สรรหา ได้ร่วมในรายการ “คนเคาะข่าว” ทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV

โดยนายคำนูณกล่าวว่า อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญอยู่ที่รัฐสภาจริงหรือไม่ สมัยรัชกาลที่ 5 เรียกว่า “อำนาจตั้งแผ่นดิน” มาจากภาษาฝรั่งเศสว่า “Pouvoir Constutuant” หรือ “Omnipotence” ซึ่งพยายามอธิบายว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รัฐสภาไม่ได้ใช้อำนาจนิติบัญญํติ แต่ว่ากำลังใช้อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่มีใครมายับยั้ง มาสั่งการได้

แล้วการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ถ้ารัฐสภาลงมติวาระ 3 ไปแล้วไปลับ โอนอำนาจบัญญัติรัฐธรรมนูญไปให้องค์กรอื่นภายนอกรัฐธรรมนูญ นั่นก็คือ ส.ส.ร. (สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ) แล้วไม่กลับมาที่สภาอีกเลย ต่างจาก ส.ส.ร.1 ที่มีการกลับมาที่รัฐสภาเพื่อลงมติว่ารับหรือไม่รับ ถ้าจะให้รัฐสภาถืออำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ อำนาจก็ควรยังอยู่ที่รัฐสภา แต่ครั้งนี้ไปแล้วไปลับ

รัฐสภาเกิดเพราะรัฐธรรมนูญ ฉะนั้นการใช้อำนาจควรอยู่ในกรอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญให้อำนาจแก้ไขได้ แต่จะยกเลิกทั้งฉบับแล้วไม่กลับมาที่รัฐสภา ถือเป็นการใช้อำนาจเกินไปหรือไม่

นายคำนูณกล่าวเพิ่มเติมว่า อำนาจบัญญัติรัฐธรรมนูญสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นของพระมหากษัตริย์ ส่วนหลักคิดที่ว่าการสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชนมาจากฝรั่งเศส เมื่อ ค.ศ. 1789

ทางด้านไทย เมื่อปี 2475 คณะราษฎรยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน คณะราษฎรเองซึ่งจบจากฝรั่งเศส ไม่ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญเอง แต่ขอพระราชทานจากรัชกาลที่ 7 รัฐธรรมนูญนี้ไม่มีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ หมายถึงพระมหากษัตริย์คือผู้ถืออำนาจในการบัญญัติรัฐธรรมนูญ แล้วเมื่อ 26 มิถุนายน 2475 ก็มีพระราชกำหนดนิรโทษกรรมให้แก่คณะราษฎร อันนี้ก็ไม่มีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ฉะนั้น คณะราษฎรไม่ได้ถือตัวเองเป็นองค์อธิปัตย์ ไม่เช่นนั้นก็คงไม่ต้องผิดไม่ต้องนิรโทษ ออกรัฐธรรมนูญเองเลย แต่ไม่ใช่ ยังเข้าไปขอพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และออกมาเป็นพระราชบัญญัติธรรมนูญชั่วคราว ประกาศใช้เมื่อ 27 มิถุนายน 2475 โดยมาตรา 1 ระบุว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้น เป็นของราษฎรทั้งหลาย” และเป็นที่มาของรัฐธรรมนูญฉบับถาวร 10 ธันวาคม 2475 ซึ่งได้เปลี่ยนเนื้อหามาตรา 1 ของ ฉบับชั่วคราวมาไว้ในมาตรา 2 ฉบับถาวรว่า “อำนาจอธิปไตย ย่อมมาจากปวงชนชาวสยาม พระมหากษัตริย์เป็นประมุข ทรงใช้อำนาจ โดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ”

เปรียบได้ว่า อำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญตั้งแต่ดั้งเดิมเป็นของกษัตริย์ ต่อจากนั้นมาก็เป็นของกษัตริย์ร่วมกับประชาชน ซึ่งตนเชื่อว่าอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญยังอยู่ที่พระมหากษัตริย์ร่วมกับปวงชนชาวไทย หลักคิดนี้ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยเสนอไว้เมื่อต้นปี 2515 โดยใช้คำว่า “ลัทธิราชประชาสมาสัย” ซึ่งตอนนั้นมีวิกฤตการเมือง คือเผด็จการที่สืบทอดมายาวนาน

แล้วมีก็นักวิชาการหลายคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ (อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา) ท่านก็เชื่อว่าเมื่อมีปัญหา คนที่รับทอดอำนาจอธิปไตยมาจากพระมหากษัตริย์ ไม่อยู่ในทำนองคลองธรรม ท่านได้เสนอแนวคิดมาเมื่อปี 2535 ว่าต้องถวายคืนพระราชอำนาจเพื่อขอพระราชทานผู้นำในการปฏิรูปประเทศ แล้วก็เสนอมาเรื่อย จนเกิดเป็นหลักคิดในปี 2538-2539 คือแก้ไขมาตรา 211 สุดท้ายออกมาเป็นรัฐธรรมนูญปี 40

นายคำนูณกล่าวอีกว่า น่าเอานักวิชาการแบบ ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ, ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์, ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ มาถกเถียงกันว่า “อำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญ” อยู่กับใคร อยู่ที่รัฐสภาจริงหรือ แล้วถ้ารัฐสภาไม่ปฏิบัติตามทำนองคลองธรรม อำนาจจะกลับไปสู่พระมหากษัตริย์กับประชาชนในลักษณะใด

การถวายคืนพระราชอำนาจอาจพูดได้หลายมุมมอง แต่ปี 2548 คำว่าพระราชอำนาจหมายถึงพระราชอำนาจในการบัญญัติรัฐธรรมนูญ และก่อตั้งองค์กรทางการเมือง ไม่ใช่ถวายคืนพระราชอำนาจทุกอย่าง เพื่อให้กลับไปเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ใครมีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ไม่มีเขียนในรัฐธรรมนูญ แต่รากฐานความเป็นมามันเป็นแบบนี้ การเลิกรัฐธรรมนูญเก่าแล้วยังทะลึ่งไปให้องค์กรอื่นโดยไม่กลับมาอีก มันทำได้หรือ

ด้าน นายตวงกล่าวว่า ดูรัฐธรรมนูญหมวด 15 (ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ) ถ้าบอกว่าอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของสภา มันต้องไม่หนีไปจากมาตรา 291 คือรักษาอำนาจให้สภา โดยบอกว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมสามารถยื่นได้โดย ส.ส., ส.ส.และ ส.ว. หรือจากประชาชน

ต่อมาในวรรค 2 ก็บอกว่า “ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีผลเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ จะเสนอมิได้”

ต่อมาเขียนว่า ญัตติแก้ไขเพิ่มเติม “ต้องเสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม” และให้รัฐสภาพิจารณาเป็น 3 วาระ ขอย้ำตรง “ต้องเสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม” นี่คือสิ่งที่รัฐธรรมนูญบอกไว้ แต่ที่กำลังทำกันอยู่เป็นการยกร่างใหม่ ไม่ใช่แก้ไขเพิ่มเติม แล้วนี่ยังไปให้คนนอก ไม่เข้าสู่สภาอีก ฉะนั้นไม่ใช่อำนาจสภาแล้ว

นายตวงกล่าวอีกว่า ถ้าศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าแก้รัฐธรรมนูญไม่ขัดมาตรา 68 แล้วผ่านวาระ 3 ก็จะดูว่ามีช่องทางใดในการตรวจสอบก่อนขึ้นทูลเกล้าฯ เพราะมาตรา 291 ระบุว่า ก่อนทูลเกล้าฯ ให้ใช้บทบัญญัติมาตรา 150 และมาตรา 151 มาใช้บังคับโดยอนุโลม เหมือนใช้ร่างพระราชบัญญัติ แม้เป็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่ถ้าไม่ใช่ร่างพระราชบัญญัติก็ต้องไปใช้มาตรา 7 ซึ่งเขียนไว้ว่า "เมื่อไม่มีบทบัญญัติบังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยไปตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" แต่ถ้าผ่านไปถึงขั้นตั้ง ส.ส.ร.แล้ว ตนยังมองไม่เห็นช่องทาง ว่าจะทัดทานอย่างไร

นายคำนูณกล่าวว่า แม้เกิด ส.ส.ร. พอร่างมาตราใดขัดรัฐธรรมนูญ ก็ยื่นฟ้องได้อีก แต่ก็จะยุ่งยากอย่างคาดไม่ถึง เพราะแค่รัฐสภายังไม่ยอมรับคำสั่งศาลเลย แล้ว ส.ส.ร.จะยอมรับหรือ ตนจึงไม่อยากให้เลยไปถึงขั้นนั้น ไม่ว่าคำวินิจฉัยศาลจะออกอย่างไรตนก็เคารพ แต่อยากให้ศาลมุ่งไปประเด็นที่ว่าการโอนอำนาจไปให้ผู้อื่น ทำได้หรือไม่ เพราะเวลาศาลแถลงตนมองว่าศาลไปเน้นให้ผู้ถูกร้องมาชี้แจง เพื่อเป็นสัญญาประชาคมว่าถ้าเกิดแบบนี้ขึ้นต้องทำอย่างไร แต่ตนมองว่าถ้าพ้นวาระ 3 ไป มันไม่มาอีกแล้ว มันไปอยู่กับนอมินีของเสียงข้างมาก

1 เดือนจากนี้ไป ผู้ร้อง 5 สำนวน ต้องทำให้ศาลเห็นว่าไม่ได้แปลว่าต้องเป็นรูปธรรมออกมาเป็นมาตราๆว่าเปลี่ยนแปลงการปกครองอย่างไร แต่ต้องให้เห็นว่าการโอนลอยแบบนี้มันจะเกิดอะไรขึ้น เพราะถ้าเกิดขึ้นรัฐสภาทำอะไรไม่ได้ ซึ่งเรื่องนี้ต่อสู้กันหนัก พวกตนอยากให้กลับมาที่สภา แต่เขาก็ไม่ยอม ตนอยากให้จบในชั้นนี้ เป็นห่วงผ่านวาระ 3 ไป แล้วไปยื่นฟ้องอีก ถ้าศาลรับ ก็จะเกิดเป็นประเด็นการเมืองขึ้นมาอีก หรือถ้าเกิด ส.ส.ร.คนไปฟ้องอีก ก็จะวิกฤตซับซ้อนยิ่งขึ้น

กำลังโหลดความคิดเห็น