ASTVผู้จัดการรายวัน- พรรคเพื่อไทยเดินหน้ากดดันศาลฯ มติให้โหวตในการประชุมสภา คัดค้านไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลรธน."ก่อแก้ว" บี้"ค้อนปลอม" โหวตรธน.วาระ 3 ไปเลย ไม่ต้องกลัวอำนาจมืดข่มขู่ หากไม่ทำก็อย่าเป็นปธ.สภาฯอีกต่อไป ขณะที่ฝ่ายค้านประกาศไม่ร่วมสังฆกรรมลงมติเกี่ยวกับรธน. ไม่ว่ากรณีใดๆ "สุกำพล" ยันทหารกับรัฐบาลทำงานเข้าขากันดี อย่าหวังว่าจะปฏิวัติ เพื่อยกอำนาจให้ประชาธิปัตย์ ด้านปชป.ชี้คำพูด รมว.กลาโหม ระบุชัดทหารยุคนี้ ยอมเป็นเครื่องมือนักการเมือง
พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีที่หลายฝ่ายมีความเป็นห่วงว่าจะเกิดการรัฐประหารขึ้นอีกครั้งในประเทศไทยว่า ตนก็ได้ยืนยันเป็น 100 ครั้งแล้วว่าไม่มี แต่หากมีก็จะบอก ส่วนในอดีตแม้จะมีการยืนยันจากผู้บัญชาการเหล่าทัพว่าไม่มีปฏิวัติ แต่ ก็ยังมีเกิดขึ้นนั้น ก็เป็นเพียงประวัติศาสตร์เท่านั้น
ทั้งนี้ ตนเชื่อว่าปัจจุบันมีกลไกลที่ควบคุมดูแลอยู่ ซึ่งการรัฐประหารแต่ละครั้งทำเพื่อเปลี่ยนรัฐบาล ตอนนี้มีแค่สองขั้ว ก็ต้องถามว่า ทหารอยากให้อีกขั้วมาเป็นรัฐบาลหรือ กองทัพก็มีประสบการณ์อยู่แล้ว และการทำงานของรัฐบาลนี้กับกองทัพ ก็แน่นแฟ้นดี
ผู้สื่อข่าวถามถึงกระแสข่าวที่จะถูกปรับออกจากตำแหน่งรมว.กลาโหม พล.อ.อ.สุกำพล กล่าวว่า ต้องไปถามจากคนที่ให้ข่าว เพราะตนเพิ่งจะได้ยินจากสื่อ ไม่ทราบว่าข่าวมาอย่างไร ไปถามไทยรัฐแล้วกัน
ส่วนความเป็นไปได้ที่รมว.กลาโหม จะเป็น น.ส.ยิ่งลักษณ์ มานั่งควบนั้น คำว่า โอกาสมีหมด จะเป็นหนึ่งในล้าน หรือหนึ่งในร้อย หรือร้อยในร้อย ก็มีหมด ในคำว่า กองทัพ คงเป็นเรื่องของนายกรัฐมนตรีว่า จะพิจารณาอย่างไร เราเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา ก็ต้องน้อมรับ สั่งมาเลย ไม่มีปัญหาอะไร
เมื่อถามว่า การปรับครม.หนนี้ ท่านจะอยู่ในตำแหน่งใดก็ได้ ใช่หรือไม่ พล.อ.อ.สุกำพล กล่าวว่า เลือกไม่ได้ ตนไม่มีปัญหาอะไร จะอยู่ในตำแหน่ง หรือไม่อยู่ ก็ขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรีพิจารณา
อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้สื่อข่าวไปถามนายกฯเรื่องจะนั่งควบรมว.กลาโหมหรือไม่ แต่นายกฯไม่ตอบคำถามนี้
** ชี้ชัดยุคนี้ทหารรับใช้การเมือง
นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีพล.อ.อ.สุกำพล ระบุว่าทหารไม่ปฏิวัติ และไม่เอาพรรคประชาธิปัตย์ว่า รู้สึกแปลกใจกับท่าทีดังกล่าวเพราะออกจากปากของคนที่เป็น พลอากาศเอก รับราชการทหารมาตลอดชีวิต กลับพูดว่าทหารเลือกข้างทางการเมือง คำพูดเช่นนี้ หมายความว่า การปฏิวัติที่ผ่านมา เป็นการเลือกข้าง จึงอยากฝากถึง พล.อ.อ.สุกำพลว่า พรรคประชาธิปัตย์ ได้ร่วมงานกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยืนยันได้ว่าไม่เคยเป็นเครื่องมือของนักการเมือง แต่ดำรงความเป็นกลางทางการเมือง ในขณะที่รัฐบาลประชาธิปัตย์ ก็ไม่เคยแทรกแซงกองทัพ ไม่เคยสั่งให้กองทัพช่วยโกงเลือกตั้ง หรือให้ทหารทำร้ายประประชาชน
"สิ่งที่ พล.อ.อ.สุกำพลพูด สะท้อนความคิดว่า ทหารถูกแทรกแซงได้ ไม่ดำรงความเป็นกลาง และการปฏิวัติครั้งที่แล้ว เขาไม่ได้ปฏิวัติให้ประชาธิปัตย์ อีกทั้งพรรคก็ไม่เห็นด้วยกับการปฏิวัติ รัฐประหาร ไม่มีส่วนได้เสียกับเหตุการณ์ 19 กันยา 49 ไม่เชื่อให้ไปถาม พล.อ.สนธิ และให้ย้อนประวัติศาสตร์ว่าไม่เคยมีการปฏิวัติครั้งไหนทำเพื่อฝ่ายค้าน"
นายชวนนท์ กล่าวด้วยว่า หาก พล.อ.อสุกำพล กลัวการปฏิวัติ ต้องไปบอก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปิดสมัยประชุม อย่าสร้างเงื่อนไขที่จะสร้างความขัดแย้งจนนำไปสู่การรัฐประหาร และต้องไปบอกแกนนำเสื้อแดงที่ปลุกระดมโจมตีตุลาการ เพราะเหตุผลในการรัฐประหารที่ผ่านมา ข้อสองระบุเรื่องการแทรกแซงองค์กรอิสระ ดังนั้นต้องหยุดโจมตีศาล
นายชวนนท์ กล่าวด้วยว่า การรัฐประหารที่ผ่านมา ยังอ้างถึงการคอร์รัปชั่น ซึ่งในขณะนี้ก็มีข่าวเกี่ยวกับการทุจริตเงินเยียวยาน้ำท่วมจำนวนมาก รวมถึงการหักหัวคิวสูงถึง 40 % ซึ่งเป็นเรื่องที่ พล.อ.อ.สุกำพล ต้องไปดูแลคนในรัฐบาล ไม่ให้มีการทุจริต เพราะเป็นเงื่อนไขที่จะทำให้เกิดการปฏิวัติได้
เหตุผลสุดท้ายในการรัฐประหารปี 49 คือ เรื่องการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เรื่องนี้ พล.อ.อ.สุกำพล ในฐานะที่เป็นทหาร น่าจะทราบดีว่าคดีเหล่านี้มีจำนวนมาก และผู้ต้องหาส่วนใหญ่ก็เป็นผู้สนับสนุนรัฐบาลทั้งสิ้น ดังนั้นหากไม่อยากให้เกิดรัฐประหาร ต้องจัดการกับเรื่องเหล่านี้ ดำเนินการกับพวกที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ บิดเบือนความจริงให้เกิดความเข้าใจผิดต่อสถาบันฯ ถือเป็นหน้าที่ของทหารของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทหารเสือของพระราชินี ต้องดำเนินการ ไม่ต้องเสียเวลาโทรศัพท์หา ผบ.ทบ.เพื่อขอคำยืนยัน เพราะถ้าป้องกัน 4 เหตุผล ที่เคยถูกใช้ในการรัฐประหารได้ ก็ไม่มีใครมีความชอบธรรมล้มรัฐบาลได้
** "แก๊งแดง"บี้"สมศักดิ์"โหวตวาระ 3
นายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย แกนนำคนเสื้อแดง กล่าวว่า ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ตนมีข้อมูลว่า นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ถูกฝ่ายตรงกันข้ามข่มขู่ว่า ถ้ามีการโหวตรัฐธรรมนูญ ในวาระ 3 และหากศาลรัฐธรรมรัฐธรรมนูญตัดสินในภายหลังว่า คำร้องทั้ง 5 คำร้อง มีมูล ศาลรัฐธรรมนูญก็จะดำเนินคดีกับประธานรัฐสภา นายกรัฐมนตรี และ ครม.
" ผมขอกราบเรียนไปยัง นายสมศักดิ์ ว่าความกลัวทำให้เสื่อม และหากยอมทำตามที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งชะลอ จะถือว่าท่านได้สร้างประวัติศาสตร์ ทำให้ฝ่ายนิติบัญญัติ ต้องไปสยบแทบเท้าฝ่ายตุลาการ ทั้งๆ ที่รัฐสภามาจากเสียงของประชาชนทั้งประเทศ ขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญ มาจากเผด็จการทหาร และหากท่านประธานรัฐสภาไม่กล้าต่อสู้กับความถูกต้อง 4-5 ปีที่ผ่านมา ประชาชนล้มตายเพื่อที่จะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หากท่านไม่ยอมให้มีการโหวต ผมคนหนึ่ง ก็จะไม่ยอมรับท่านอีกต่อไป ใครจะมากระชากเก้าอี้ กระชากแขน ปาแฟ้มใส่ ดุด่า ผมก็จะไม่ปกป้องท่านอีกต่อไป และไม่สามารถต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับท่านต่อไปอีก เพราะถ้าสภาฯ ยอมในครั้งนี้ ก็จะมีครั้งต่อๆไป และถ้าท่านมีอำนาจแล้วไม่ทำ ก็อย่ามาเป็นประธานสภาฯ" นายก่อแก้ว กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ผู้ที่ข่มขู่ประธานรัฐสภา เป็นคนที่มีอำนาจเหนือกว่ารัฐบาล ใช่หรือไม่ นายก่อแก้ว กล่าวว่า ตนไม่มีข้อมูลขนาดนั้น แต่รู้จากอาการประธานรัฐสภา จากข้อมูลวงใน ว่ามีความกลัวในเรื่องนี้
เมื่อถามย้ำว่า ทำไมไม่รอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคำร้องก่อน แล้วค่อยมาลงมติ นายก่อแก้ว กล่าวว่า ตรงนี้ผิดหลัการที่ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาก้าวล่วงฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งผิดหลักการในระบอบประชาธิปไตย และที่ผ่านมาหลายครั้ง สภาเคยส่งเรื่องไปที่ศาล อาทิ เรื่องการขอประกันตัว ส.ส.เสื้อแดง เขาก็ไม่เคยฟังเราเช่นกัน
" ดังนั้นผมจึงเสนอให้โหวต วาระ3 ไปเลย วันนี้คนเสื้อแดงไม่ได้รัก พ.ต.ท.ทักษิณ แต่รักความถูกต้อง และถ้า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไม่เคยไปทะเลาะกับใคร ทำงานอย่างน่ารัก ถูกดำเนินคดีในเรื่องรัฐธรรมนูญ ผมขอท้าให้ทำเลย คนที่ทำก็จะพัง และคนที่อยู่เบื้องหลังก็จะพัง ผมจะได้เรียกพวกพ้องออกมา ซึ่งเชื่อว่าจะมากกว่าเดิม เพราะคนไทยรับไม่ได้กับความไม่ยุติธรรม ซึ่งจะเกิดความรุนแรงมากกว่าเดิม" นายก่อแก้ว กล่าว
นายก่อแก้ว กล่าวทิ้งท้ายว่า ในการประชุมร่วมรัฐสภาวันนี้ มุ่นใจว่า จะไม่มีการโหวต แก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 แน่นอน แต่ตนจะเสนอญัตติให้มีการโหวตว่า เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อนำมติเสียงส่วนใหญ่ มาเป็นฉันทานุมัติ ให้นายสมศักดิ์ ได้ตัดเสินใจ เปิดประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อลงมติโหวต วาระ 3 ต่อไป
** พท.เดินหน้าค้านคำสั่งศาลรธน.
นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงภายหลังการประชุมส.ส.พรรคว่า ที่ประชุมได้หารือเรื่องการประชุมร่วมรัฐสภา ในวันนี้ ( 12 มิ.ย.) เพื่อพิจารณาคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ในการชะลอการแก้รัฐธรรมนูญ วาระ 3 ออกไปก่อน ซึ่งที่ประชุมพรรคมีมติว่า ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้นถ้าหากประธานสภาฯ ขอให้ที่ประชุมลงมติ เราก็จะลงมติไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ เพราะถือว่าคำสั่งดังกล่าว เป็นการก้าวล่วงการทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ
ส่วนการลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 วาระ 3 ให้เป็นดุลยพินิจของประธานรัฐสภาว่า จะมีการเรียกประชุมเพื่อลงมติวันใด เรื่องนี้ไม่ใช่การโยนภาระให้ประธานรัฐสภา หากประธานรัฐสภาฯจะให้ลงมติวันใด เราก็เคารพในการตัดสินใจ
นายพร้อมพงศ์ ยอมรับว่า ที่ประชุมมีความเห็นเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งอยากให้ลงมติแก้รัฐธรรมนูญ วาระ 3 ไปเลย แต่อีกฝ่ายเห็นว่า ขอให้ชะลอการลงมติไปก่อน จึงให้เป็นหน้าที่ของประธานรัฐสภา ในการกำหนดวันลงมติแก้รัฐธรรมนูญ วาระ 3
ส่วนประเด็นที่ประธานวิปรัฐบาล เสนอให้ปิดประชุมรัฐสภา19 มิ.ย. ทำให้มีการมองว่า พรรคเพื่อไทย อาจจะลงมติแก้รัฐธรรมนูญ วาระ3 ก่อนปิดประชุมรัฐสภาฯ นั้น เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับประธานรัฐสภา และต้องหารือระหว่างประธานรัฐสภา ประธานวิปรัฐบาล และตัวแทนรัฐบาล
**วิปรัฐบาลยังลังเล
นายอุดมเดช รัตนเสถียร ส.ส.นนทบุรี ในฐานะประธานวิปรัฐบาล กล่าวถึงการประชุมร่วมรัฐสภาในวันนี้ ( 12 มิ.ย.) ที่เกรงกันว่าจะมีการโหวต ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 ว่า การลงมติในวาระ 3 นั้นกระทำได้ แต่ยังไม่ควรกระทำในตอนนี้ เพราะยังมีความเห็นขัดแย้งกันอยู่ เกี่ยวกับคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้นจึงยังไม่มีการบรรจุวาระนี้เข้าไป เพราะเกรงว่าจะเป็นการเปิดช่องให้ฝ่ายที่มีเจตนาทำให้การแก้ไข ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา นำไปเป็นประเด็นการเมือง แล้วยื่นเรื่องร้องเรียนต่อศาลรัฐธรรมนูญอีก
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะต้องรอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องนี้ให้เสร็จก่อนหรือไม่ นายอุดมเดช กล่าวว่า ไม่ได้หมายความเช่นนั้น แต่หากวันใดไม่มีการบรรจุวาระนี้เข้าสู่ที่ประชุมแบบชัดเจน ก็ไม่ควรกระทำ หากบรรจุวาระนี้อย่างชัดเจน ก็ควรเดินหน้าต่อไป
ส่วนการลงมติจะกระทำในสมัยประชุมนี้หรือไม่ ยังตอบไม่ได้ เพราะทางนั้นกั๊ก พวกเราก็กั๊กเช่นกัน แต่ไม่ใช่การเล่นเกม
อย่างไรก็ตาม ในการประชุมวันนี้ เป็นไปได้ว่า จะสอบถามความเห็นจากรัฐสภา ว่า จะมีมติว่า มีความเห็น เช่นใด กับคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ โดยอาจจะตั้งคำถามว่า คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญจะมีผลผูกพันกับฝ่ายนิติบัญญัติ หรือไม่
สำหรับการกำหนดวันการเสนอ พ.ร.ฎ.ปิดสมัยประชุมนั้น วิปรัฐบาลมีมติและเสนอ ครม.ไปแล้วให้นำเรื่องนี้พิจารณาในที่ประชุมครม. ในวันนี้ (12 มิ.ย.) โดยฝ่ายธุรการระบุว่า จะขอเวลาดำเนินการอย่างน้อย 7 วัน เกี่ยวกับขั้นตอนการกราบบังคมทูลฯ หมายความว่า หากมติครม.ผ่านออกมาแล้ว อาจจะเสนอปิดประชุมรัฐสภาในวันที่ 19 มิ.ย.
ส่วนร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ที่มีปัญหาถูกต่อต้านนั้น ยืนยันว่าจะไม่ดำเนินการในสมัยประชุมนี้เเน่นอน
**ปชป.ยันไม่ร่วมโหวตคำสั่งศาล
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า การประชุมร่วมรัฐสภาในวันนี้ (12มิ.ย.) เป็นเพียงวาระเพื่อทราบเท่านั้น ซึ่งเป็นการแจ้งคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ ที่สั่งชะลอเลื่อนการลงมติ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ 3 เป็นวาระรับทราบเท่านั้น ไม่สามารถลงมติใดๆได้ และหลังจากนั้น ก็เป็นระเบีบยวาระที่จะต้องพิจารณากฎหมายอื่นๆ อีก 18 ฉบับ
อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่ทำให้ฝ่ายรัฐบาลยังลังเลที่จะหักดิบ ลงมติในวาระที่ 3 ไม่ใช่เพราะรัฐบาลเคารพคำสั่งของศาล แต่เป็นเพราะเกรงว่าอาจจะมีความผิดที่ไม่ฟังคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจส่งผลต่อผู้ที่ลงมติ และอีกเหตุผลหนึ่งก็คือ เมื่อการลงมติ รับร่างรัฐธรรมนูญในวาระ 3 ผ่านสภาฯแล้ว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะต้องเป็นผู้นำขึ้นทูลเกล้าฯ จึง เป็นไปได้ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่กล้าที่จะนำรัฐธรรมนูญที่มีมลทิน ขึ้นทูลเกล้าฯ เสมือนว่าไม่อยากโยนเผือกร้อนไปให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพราะฉะนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่สามารถโยนความรับผิดชอบในเรื่องนี้ ไปให้กับทางสภาฯได้ เพราะตนเองต้องเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง
นายจุรินทร์ ยังกล่าวด้วยว่า การประชุมวันนี้ อาจมีการลงมติเพื่อที่จะใช้เสียงข้างมากในการที่จะรับคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ หรือไม่ แต่ทางฝ่ายค้านยืนยันว่าสภาฯไม่สามารถลงมติใดๆ ได้ นอกเหนือจากการทำตามคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น
แต่ถ้าฝ่ายรัฐบาลพยายามดึงดันที่จะลงมติ ว่ารับฟังคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ พรรคประชาธิปัตย์ ก็จะไม่ร่วมลงมติด้วย และขอฝากไปยังสมาชิกว่า การลงมติดังกล่าว อาจนำไปสู่การกระทำผิดกฎหมาย ในข้อหาปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วย
** "มาร์ค" จี้ปิดสภาลดความตึงเครียด
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยังยืนยันคำเรียกร้องเดิม ที่ขอให้นายกรัฐมนตรี ออกพ.ร.ฎ.ปิดสมัยประชุมสภา เพื่อลดความขัดแย้งลง ซึ่งเรื่องนี้จะโยนให้เป็นเรื่องของสภาไม่ได้ เพราะรัฐบาลเป็นผู้ขอขยายเวลาการเปิดสมัยประชุม
อย่างไรก็ตามในวันที่ 12-13 มิ.ย. การนัดประชุมสภา ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะพิจารณาเรื่องอะไรบ้าง เพราะในรัฐสภา ก็ยังค้างวาระที่รัฐสภารับทราบคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ แต่ยังมีความพยายามของสมาชิกรัฐสภา ที่จะให้มีการลงมติ ไม่ใช่แค่รับทราบเท่านั้น
ส่วนวันที่ 13-14 มิ.ย. ก็ยังมีข้อสงสัยว่า ระเบียบวาระที่ออกมา เป็นเรื่องที่ค้างมาทั้งหมด บวกกับเรื่องกฎหมายฟอกเงินที่เป็นเรื่องใหม่ แต่กลับไม่ปรากฏร่างกฎหมายปรองดอง 4 ฉบับ ที่เลื่อนขึ้นมา จึงไม่แน่ใจว่า เมื่อเปิดประชุม จะมีการผลักดันให้นำเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณาหรือไม่
แต่วาระที่ออกมา อาจทำให้คนที่ไม่เห็นด้วยเข้าใจว่า ไม่มีเรื่อง พ.ร.บ.ปรองดอง ซึ่งตนจะสอบถามประธานสภาว่า การบรรจุวาระเช่นนี้แปลว่าอะไร
ผู้สื่อข่าวถามว่า การไม่บรรจุวาระ จะเป็นการทำให้ฝ่ายคัดค้านตายใจ เพื่อไม่ให้ออกมาต่อต้านหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนตอบไม่ได้ และคงกล่าวหาไม่ได้ แต่จะสอบถามประธานสภาถึงแนวทางปฏิบัติ ในการบรรจุวาระเช่นนี้ว่า อาศัยเงื่อนไขอะไร และถ้ามีการโต้แย้งจนเกิดความวุ่นวายขึ้นมา จะทำอย่างไร ซึ่งตามข้อบังคับ การจะถอนวาระ ต้องขออนุมัติจากสภา แต่การออกระเบียบวาระเป็นกรณีพิเศษ ประธานสภาทำได้
อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นในสภาช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เชื่อว่าจะทำให้ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ระมัดระวังการทำหน้าที่มากขึ้น โดยสังเกตได้จากการทำหน้าที่ เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.ที่ผ่านมา ก็พยายามฟังเสียงส.ส. ซึ่งตนเห็นว่า ประธานสภาอยู่ในวิสัยที่จะดับชนวนความขัดแย้งได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังมีปัญหาเรื่อง ส.ส.ใช้เสียงข้างมาก ทำให้ ประธานสภา ก็อยู่ในฐานะลำบากในการทัดทาน ดังนั้นการดับชนวนในสภาคือ การปิดสมัยประชุมจะเป็นการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด
** "ปู"ลงพื้นที่ หนีปัญหาในสภา
ผู้สื่อข่าวถามว่า มองอย่างไรที่นายกรัฐมนตรีจัดตารางเวลาลงพื้นที่ในวันที่ 11-14 มิ.ย. ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่รัฐสภา จะต้องพิจารณาคำสั่งศาลรัฐธรรรมนูญ และ อาจมีปัญหาเรื่อง ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองด้วย นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เป็นไปตามแนวทางเดิมที่วางยุทธศาสตร์ไว้ ว่าให้นายกฯ ไม่ต้องมาเกี่ยวพันกับเรื่องเหล่านี้ ทั้งที่ความจริงเป็นคนมีอำนาจในการกำหนดหลายสิ่งหลายอย่าง และเรื่องนี้ก็เป็นผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับตนเอง และครอบครัวด้วย ซึ่งความจริง ส.ส.ควรจะได้ลงพื้นที่เพื่อสำรวจความเดือดร้อนของประชาชน มาแจ้งให้นายกรัฐมนตรีรับทราบ แต่ส.ส.กลับต้องมาประชุมสภา มีความขัดแย้งกันในเรื่องที่เป็นผลประโยชน์ครอบครัวของนายกรัฐมนตรี ส่วนตัวเองก็เดินสาย ทำให้เกิดความเข้าใจว่าสภามีปัญหา แต่นายกฯ มุ่งทำงาน
"ไม่มีที่ไหนในโลกที่ใช้ระบบรัฐสภาแล้วจะมาอ้างว่า นายกรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหาร ส่วนสภาให้ ส.ส.ดำเนินการ ปัญหาที่เกิดจากสภา ก็ไม่ใช่เรื่องที่เกิดจากพวกเรา แต่เกิดจากที่รัฐบาลใช้อำนาจขยายสมัยประชุมสภาออกไป" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
**ส.ว.วอนอย่านำรัฐสภาเข้าสู่ความขัดแย้ง
นายตวง อันทะไชย ส.ว.สรรหา กล่าวถึงคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ ที่สั่งให้รัฐสภา ชะลอการลงมติ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในวาระ 3 ว่า ในทัศนะของตน ถือว่าคำพูดของประธานศาลรัฐธรรมนูญ เป็นวาทะแห่งปี ที่พูดว่า “ ถ้าไม่เชื่อศาลจะอยู่อย่างไร” และเป็นประเด็นใหญ่ ซึ่งความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้ลุกลามกลายเป็นความเกลียดชังของผู้คนในสังคม โดยเริ่มต้นจากความขัดแย้งของตุลาการ อัยการ และกลับมาที่สภาฯ โดยที่สภา ก็แตกแยกกัน ถ้าเราไม่เชื่อศาล แปลว่า เราไม่เชื่อต่อกฎหมาย ถ้าไม่เชื่อกฎหมาย เราไม่เชื่อต่อรัฐ ไม่เชื่อต่อประเทศ แล้วประเทศก็จะกลายเป็นประเทศที่ล้มเหลว ที่ไม่สามารถควบคุมประเทศของตนเองได้ และนำไปสู่การยกพวกเข้าห้ำหั่นกัน นั่นคือ รัฐแห่งความล้มเหลว
ดังนั้นอยากขอฝากไปยังนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาฯ ด้วยว่า จะต้องเปลี่ยน และตัดสินใจให้ได้ว่า ถ้าวันนี้ประเทศไทยไม่เชื่อต่อคำสั่งศาล นานาประเทศจะไม่เชื่อมั่นต่อประเทศไทย ประชาคมอาเซียน และประชาคมโลกจะคบค้ากับประเทศไทยอย่างไร ในเมื่อประเทศไทยไม่เชื่อมั่นต่อศาล ต่อกฎหมาย สิ่งที่ตนพูดมาข้างตนนี้ขอให้ประธานวุฒิสภา ได้ไปหารือกับประธานสภาฯ ว่าควรจะต้องรอศาล เมื่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ตัดสินแล้ว ทุกคนต้องฟัง ถึงจะไม่เห็นด้วย ก็ต้องยอมรับ และอย่านำรัฐสภา ไปเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งของประเทศ
นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ตนเป็นห่วงว่า ถ้ามีการลงมติ ในการที่จะขัดคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งการที่จะร่วมลงมติคัดค้านคำสั่งศาลนั้น เป็นการละเมิดอำนาจศาล และสมาชิกวุฒิสภาควรจะพิจารณาถึงการเข้าร่วม ซึ่งการประชุมร่วมรัฐสภาในวันนี้ (12 มิ.ย.) เรื่องรับทราบคำสั่งศาล เป็นวาระที่ 1 และยังอยู่ซึ่งตนไม่แน่ใจว่า สมาชิกสภาฯคนใดจะหยิบยกเรื่องนี้ มาเป็นญัตติปากเปล่าเข้าสู่การพิจารณาเพื่อให้โหวตหรือไม่ ซึ่งถ้ามีการโหวตเรื่องนี้ ตนและเพื่อนสมาชิกวุฒิสภา ก็จะไม่สามารถเข้าร่วมได้ เพราะถือเป็นการลงมติที่ขัดกับคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ อีกทั้งถ้ายังเดินหน้าต่อไปโดยไม่ฟังคำสั่งศาล ซึ่งอาจจะใช้เวลาอีกไม่ถึง 3 สัปดาห์ ถ้ามีการลงมติไปแล้ว นายกรัฐมนตรี ก็จะต้องนำความขึ้นกราบบังคมทูล ตามมาตรา 150, 151 ภายใน 20 วัน เรื่องดังกล่าว จะเป็นเรื่องที่ทำให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท และจะเป็นการนำร่างรัฐธรรมนูญที่มีปัญหาอยู่ในศาล ไปกราบบังคมทูล จะส่งผลให้เกิดปัญหาวิกฤตทางบ้านเมือง
"ประธานสภาควรหยุดเรื่องนี้ไว้ก่อน รวมทั้งยังมีกระแสข่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง จะเข้าในการประชุมในวันที่ 13 มิ.ย และ 14 มิ.ย.นั้น ผมขอเสนอให้หยุดเรื่องดังกล่าวไว้ก่อน และประธานวุฒิสภาควรปรึกษาหารือกันว่า ควรจะปิดสมัยประชุม แล้วไปเปิดในวันที่ 1 ส.ค. ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างรัฐธรรมนูญเสร็จพอดี" นายสมชาย กล่าว