xs
xsm
sm
md
lg

“สดศรี” แนะทุกฝ่ายรอศาลฯ วินิจฉัยแก้ รธน. รีบร้อนอาจเจอปัญหาซ้อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สดศรี สัตยธรรม (แฟ้มภาพ)
“สดศรี” เชื่อผู้ที่เป็นตุลาการยึดหลักกฎหมายในการวินิจฉัยคดี ส่วนมุมมองของผลคดีที่ต่างกันขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ของแต่ละฝ่ายที่ได้รับ ชี้ชะลอลงมติวาระ 3 ไม่กระทบจัดเลือกตั้ง ส.ส.ร. พร้อมแนะให้ทุกฝ่ายรอการพิจารณาของศาล รธน. หากรีบร้อนอาจเจอปัญหาซ้อนปัญหา

นางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการพรรคการเมือง กล่าวถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่ากำลังเกิดตุลาการภิวัฒน์อาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งในสังคมว่า บทบาทของตุลาการไม่ใช่เพิ่งจะมี แต่การทำหน้าที่ของตุลาการต้องยึดหลักกฎหมายเป็นสำคัญ ในฐานะที่เคยเป็นตุลาการมาก่อนเรายึดถือกฎหมายในการวินิจฉัยในการตัดสินใดๆ การเมืองไม่น่าเป็นอุปสรรคที่ทำให้บทบาทของตุลาการพลิกผัน ในการที่จะพิจารณาใดๆ ก็ตามอาจจะมีมุมมองว่ากฎหมายสามารถตีความได้หลายลักษณะ ซึ่งการตีความนี้ขึ้นอยู่กับมุมมองของฝ่ายที่ได้ประโยชน์ หรือฝ่ายที่เสียประโยชน์เป็นสำคัญ เพราะฉะนั้นตุลาการคงจะใช้บทบาทในฐานะเป็นตุลาการจริงๆ ไม่ใช่นักการเมือง

ส่วนที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งชะลอการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 เห็นว่าจริงๆ น่าจะคุยกันได้ในลักษณะที่ 2 องค์กรสำคัญของประเทศต้องมาจับเขาคุยกันว่าเรื่องที่ตุลาการวินิจฉัยนั้นท่านเข้าใจอย่างไร และควรเปิดเวทีปาฐกกันว่าตุลาการทำอะไรผิดพลาดหรือไม่ถูกต้องอะไร ต้องเปิดเวทีพูดและทางตุลาการต้องบอกความจริงว่าสิ่งที่ตุลาการทำไปเป็นอย่างไร ตรงตามตัวบทกฎหมายหรือไม่

ส่วนที่มีการมองว่าอำนาจตุลาการก้าวล่วงฝ่ายนิติบัญญัตินั้น เห็นว่าเป็นมุมมองของแต่ละฝ่าย ฝ่ายที่มองแล้วว่าไม่ถูกต้องก็คือเสียประโยชน์ อีกฝ่ายหนึ่งได้ประโยชน์ก็บอกว่าถูกต้อง ฉะนั้นจะทำอย่างไรให้ 2 ฝ่ายมาอยู่กึ่งกลางกันให้ได้ ประชาชนต้องมองบทบาทของทั้งด้านนิติบัญญัติ และตุลาการ ว่าท่านล้ำเส้นกันหรือเปล่า ควรจะพิจารณาในบทบาทของแต่ละฝ่ายอย่าให้เกิดเหตุการณ์ที่หมุนเวียนกลับไปกลับมากันอยู่ตลอดเวลาเหมือนในขณะนี้ เพราะเราเดินช้าไปกว่าประเทศเพื่อนบ้านแล้วหลายก้าว อยากให้เกิดความสมานฉันท์กัน แล้วอย่าใช้คำว่ากฎหมายเป็นการพลิกผันวิกฤตการเมือง

นางสดศรียังกล่าวด้วยว่า การที่สภาเลื่อนลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ไม่กระทบต่อการจัดการเลือกตั้ง ส.ส.ร. เป็นกระบวนการยุติธรรมที่ศาลขอเวลาในการไต่สวนเมื่อไต่สวนอย่างไรรัฐสภาก็ต้องดำเนินการต่อไป เชื่อว่าระยะเวลาที่ยืดออกไปอาจจะทำให้การเมืองไม่สับสนขึ้นมา ไม่มีการหักกันเหมือนการหักด้ามพร้าด้วยเข่า การยืดเวลาทำให้เกิดการโปร่งใสยิ่งขึ้น จึงควรให้เวลาตุลาการที่มีการกำหนดวันนัดไต่วนไว้แล้ว เพราะหากรีบร้อนทำอะไรไปผลที่อาจจะเกิดมีทั้งดีไม่ดี จึงไม่ควรทำให้เกิดปัญหาซ้อนปัญหากันขึ้นมา หรือเกิดปัญหาที่เราไม่ต้องการเช่นการปฏิวัติรัฐประหาร ทางที่ดีจึงควรรอการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญก่อน
กำลังโหลดความคิดเห็น